[title]
กลับมาอีกครั้งกับซีรีส์ ‘We are Hong Kong’ ที่แนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับธุรกิจหรือองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยที่ก่อตั้งโดยชาวฮ่องกง ครั้งนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ‘VERSO International School’ โรงเรียนนานาชาติที่มาพร้อมวิสัยทัศน์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคน ‘พร้อมสู่อนาคต’
ความนิยมอย่างแพร่หลายของสมาร์ตโฟนที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากสามารถเข้าถึงทุกข้อมูลได้เพียงปลายนิ้ว รวมถึงการเกิดขึ้นของโปรแกรม AI ต่างๆ อย่างเช่น ChatGPT และ Midjourney สร้างความสั่นคลอนให้แก่ระบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ถึงอย่างนั้นโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษาต่างๆ กลับไม่ตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ และยังดำเนินการเรียนการสอนตามแบบแผนเดิมๆ อย่างที่เคยปฏิบัติมาในอดีต
VERSO International School เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปฏิรูประบบการศึกษาให้เป็นไปตามยุคสมัย และมุ่งมั่นที่จะเป็นโรงเรียนแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการทลายโครงสร้างการศึกษาแบบดั้งเดิมและเตรียมเด็กรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือกับโลกอนาคต ผ่านวิสัยทัศน์และแรงผลักดันของผู้ก่อตั้งชาวฮ่องกง ผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษากว่าสี่ทศวรรษ หนึ่งในนั้นคือ Fortune Hand Ventures องค์กรด้านการศึกษาจากฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติอเมริกันในฮ่องกงเมื่อปี พ.ศ. 2529 และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย
VERSO ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนแบบอเมริกัน ซึ่งได้รับการรับรองโดย Western Association of Schools and Colleges ที่นี่ยังเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกของโลกที่ร่วมงานกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านงานออกแบบและนวัตกรรมระดับโลกในซานฟรานซิสโกอย่าง IDEO เพื่อสร้างสรรค์ดีเอ็นเอและแผนภาพการดำเนินงานของโรงเรียนให้เป็นไปตามบริบทเฉพาะของประเทศไทย
“เราเตรียมผู้เรียนของเราให้ ‘พร้อมสำหรับอนาคต’ เพื่อที่จะได้เติบโตอย่างมั่นคงในโลกอนาคตที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาและเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้มากมาย ความพร้อมสำหรับอนาคตไม่ได้หมายถึงความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีกลยุทธ์เชิงรุกอย่างมีแบบแผนในการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ” Jarret Voytilla หัวหน้าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-6 (Upper Loop) อธิบาย
“ยกตัวอย่าง Midjourney และ ChatGPT เทคโนโลยีล่าสุดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ วงการทั่วโลกในตอนนี้ แทนที่จะหวาดวิตกและห้ามไม่ให้ผู้เรียนสำรวจและใช้งาน ทางโรงเรียนมองว่าควรเปิดรับและสนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้เพื่อเท่าทันเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเหล่านี้ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนโลกให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหรือสร้างผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นในอีกหนึ่งปีข้างหน้าหรือปีต่อๆ ไปก็ได้ เราต้องช่วยกันปลูกฝังและพัฒนาแนวคิดของเด็กๆ ให้พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา”
ด้วยทักษะที่พร้อมรับมือกับอนาคต ผู้เรียนจะได้ทำความรู้จักและยอมรับตัวตนและความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมกับโลกและชุมชนรอบๆ ตัวเอง พร้อมๆ กับเดินไปตามเส้นทางที่ตัวเองเลือกได้อย่างมั่นใจ และในที่สุดพวกเขาก็จะเติบโตไปเป็น ‘ประชากรโลกที่มีบุคลิกและความคิดเชิงออกแบบ’ (citizen designer) ผู้มีทักษะการทำงานพร้อมใช้และต่อยอดได้ในทุกสถานการณ์ รวมถึงทักษะในการบริหารจัดการและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
“มันไปไกลกว่าการเป็นพลเมืองโลก ประชากรโลกที่มีบุคลิกและความคิดเชิงออกแบบจะมาพร้อมจิตสำนึกในการลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อสร้างสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม ซึ่งหลังเรียนจบจาก VERSO แล้ว ผู้เรียนก็จะออกไปพร้อมทักษะและความมั่นใจในการทำสิ่งเหล่านั้น” Jarret อธิบายเสริม
‘Learning Lab’ คือระบบการเรียนการสอนหลักของโรงเรียนที่บูรณาการความรู้หลายๆ วิชาเข้าด้วยกันผ่านการมอบหมายโครงงานแก่ผู้เรียน เพื่อปลูกฝังความคิดและทักษะด้านต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งความเข้มข้นและลึกซึ้งจะแตกต่างกันและค่อยๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละช่วงอายุของผู้เรียน ตั้งแต่ระดับ Lower Loop (ผู้เรียนอายุ 2 ขวบจนถึงชั้นป.4) Middle Loop (ป.5 ถึง ม.2) สู่ Upper Loop (ม.3 ถึง ม.6) ยกตัวอย่างผู้เรียนในระดับ Upper Loop จะต้องใช้เวลาทั้งสิ้น 9 สัปดาห์กับอีก 108 ชั่วโมงกับหนึ่งโครงงานที่บูรณาการความรู้อย่างน้อย 2 วิชา เพื่อประยุกต์ใช้และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในชีวิตจริงให้ได้
โดยผู้เรียนจะได้ใช้เวลานอกห้องเรียนหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ผ่านกิจกรรม ‘Beyond the Walls’ เพื่อนำสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ในโครงงานของตัวเองไปเชื่อมโยงและปรับใช้ในสภาพแวดล้อมจริง พร้อมทำความรู้จักกับผู้ประกอบอาชีพและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อเรียนรู้สถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นจริงในแวดวงหรือชุมชนนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ทริปสำรวจชุมชนคลองเตยกับสถาปนิกและนักวางผังเมืองเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนอัจฉริยะให้เกิดขึ้นจริง การทัศนศึกษาที่ฟาร์มเกษตรแนวตั้งเพื่อเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำฟาร์มเกษตรในเมืองเพื่อต่อสู้กับวิกฤตอาหารโลก และการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทางหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเพื่อศึกษาวิธีการออกแบบหุ่นยนต์ให้สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้
นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านต่างๆ มาจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้เชิงลึกแก่ผู้เรียนในโรงเรียนด้วย เช่น เชิญประติมากรชื่อดังมาประจำในโรงเรียนตลอดหนึ่งภาคเรียนเพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนค้นพบพรสวรรค์ทางศิลปะของตัวเอง
“ถ้าคุณไม่เคยมีประสบการณ์กับสิ่งใดมาก่อน คุณก็ไม่มีทางได้ทำความรู้จักและเรียนรู้ประโยชน์จากมัน ดังนั้นจุดประสงค์หนึ่งของ Learning Lab ก็คือการทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์และแนวคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อน พวกเขาอาจไม่เคยนึกภาพตัวเองสร้างสรรค์งานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากหลักปรัชญาโดยใช้โปรแกรม AI มาก่อนเลย ทางโรงเรียนจึงให้ผู้เรียนได้ลองใช้เครื่องมือสุดล้ำเหล่านี้ในการทดลองสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานของตัวเองขึ้นมา โดยเป็นโปรเจกต์ที่เราทำกันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสุดท้ายก็ได้ไปจัดแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ถึง 2 สัปดาห์ และผู้เรียนเองก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และเบื้องหลังการทำงานผ่านโปรแกรม AI เหล่านี้กับผู้เข้าชมงานด้วย”
Learning Lab ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนที่อยู่ในยุคที่สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้ผ่านอินเทอร์เน็ตรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมกับห้องเรียนและวิชาที่เรียนด้วย
“โครงงานต่างๆ ที่มอบหมายให้ผู้เรียนใน Learning Lab ทำให้พวกเขามีโอกาสได้นำความรู้จากวิชาต่างๆ ไปประยุกต์กับสถานการณ์จริงที่พวกเขาไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน และพิจารณาว่าความรู้ที่มีสามารถปรับใช้ได้เหมาะสมกับเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไร หากไม่เหมาะสม ก็สามารถระบุได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อีกทั้งผู้เรียนยังสามารถออกแบบโครงงานของตัวเองได้อย่างเป็นอิสระ และโฟกัสเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นหมายความว่าผู้เรียนสามารถปรับเปลี่ยนบางรายวิชาเรียนของตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและความชื่นชอบของตัวเองได้”
ตามรายงานของสภาเศรษฐกิจโลกประจำปี 2566 การบริหารจัดการปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และข้อมูลขนาดใหญ่หรือ big data เช่นเดียวกับภาวะความเป็นผู้นำและการสร้างอิทธิพลทางสังคมคือสองกลุ่มทักษะจำเป็นในการทำงานที่หลายบริษัทให้ความสำคัญ นอกจากนี้ทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ก็ติดอันดับ 1 และ 2 ของทักษะที่สำคัญสำหรับการพัฒนาบุคลากรในองค์กรต่างๆ ด้วยเช่นกัน
“ทักษะต่างๆ เหล่านี้เองก็เป็นส่วนหนึ่งของทักษะในการเตรียมพร้อมสู่อนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ที่ทางโรงเรียนสอดแทรกไว้ในโครงงานที่บูรณาการความรู้หลากหลายวิชาของผู้เรียน ในระหว่างที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และโลกแห่งการทำงานพัฒนาไปตามยุคสมัย โรงเรียนของเราก็พร้อมที่จะพัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น และเชื่อมโยงการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริงให้มากที่สุด เพราะเป้าหมายหลักของเราคือการทำให้ผู้เรียนจบออกไปพร้อมทักษะที่สามารถใช้ต่อยอดได้กับทุกเส้นทางที่พวกเขาเลือกเดิน” Jarret ปิดท้าย