พงศาวดารเหนือ หรือ พระราชพงศาวดารเหนือ เป็นตำนานที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมือง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) เจ้ากรมราชบัณฑิตขวาเรียบเรียงไว้ในปลายสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปีเถาะนพศก จุลศักราช ๑๑๖๙ พ.ศ. 2350[1] โดยรัชกาลที่ 1 โปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (ต่อมาคือ รัชกาลที่ 2) เป็นแม่กองชำระรวบรวมเรียบเรียงหนังสือจดคำบอกเล่าครั้งกรุงเก่า ที่เห็นว่ามีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองเหนือ โดยจัดพิมพ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5[2] เมื่อปี พ.ศ. 2412

วิธีการเรียบเรียงพงศาวดารเหนือโดยเก็บความจากหนังสือเก่าเชื่อว่าเป็นเรื่องก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา และจดจากคำบอกเล่าของชาวเหนือแล้วนำเนื้อความมาเรียงลำดับกัน ตกแต่งหัวต่อด้วยเพื่อเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกันอย่างพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา[3] สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์อธิบายหนังสือพงศาวดารเหนือไว้ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑ ว่า:-

หนังสือพงศาวดารเหนือ ที่จริงเป็นหนังสือหลายเรื่องเรียบเรียงไขว้เขว บางเรื่องเดียวซ้ำ ๒ หนก็มี ศักราชที่ลงไว้ในพงศาวดารเหนือวิปลาสจนอาศัยสอบสวนไม่ได้ทีเดียวแต่เนื้อเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารเหนือมีมูลที่เป็นความจริงอยู่มาก ถ้าจะใช้สอบสวนต้องเลือกหั่นเอาไป อย่าเชื่อตามลำดับเรื่องที่พระวิเชียรปรีชาเรียงไว้จึงจะได้ความ[4]

เนื้อหาในพงศาวดารเหนือ เช่น เรื่องพระร่วงแห่งเมืองสุโขทัย ที่กล่าวถึงการส่งส่วยน้ำให้กษัตริย์ขอม ขอมดำดิน[5] ตำนานพระแก้วมรกต (อยู่ข้างท้าย) ตำนานพระปฐมเจดีย์[6] เรื่องพระยาแกรก พระยากง เรื่องพระเจ้าอู่ทอง เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช พระชินสีห์ มีลักษณะเป็นตำนานหรือบางเรื่องเป็นนิทานเล่าสืบต่อกันมา[7]

ปัจจุบันมีการค้นพบหลักฐานอื่น ๆ รวมทั้งศิลาจารึกปรากฏว่ามีอยู่ตรงกับพงศาวดารเหนือหลายประการ เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ หนังสือไทย การขุนค้นพบร่องรอยเมืองโบราณที่อยู่ด้านทิศตะวันออกนอกเกาะเมืองพบว่ามีชุมชนขนาดใหญ่มีภาชนะดินเผาเคลือบแบบจีนอายุราว พ.ศ.1800 เค้ามูลการสร้างวัดพนัญเชิงและพระพุทธไตรรัตนนายก เค้ามูลการสร้างวัดใหญ่ไชยมงคลว่าเป็นการพนันสร้างวัดแข่งกันระหว่างกษัตริย์ไทยและพม่าซึ่งมีความกล่าวตรงกับเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน วัดอโยธยา โองการแช่งน้ำ พระอัยการซึ่งเป็นกฏหมายเก่าสมัยก่อนมีกรุงศรีอยุธยา 3 ฉบับ เป็นต้น[8]

อ้างอิง

แก้
  1. คณะกรรมการอํานวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2542). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๙. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. หน้า 5. ISBN 978-974-4-17611-0
  2. จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระแก้วมรกต : ตำนานพระแก้วมรกต.
  3. ประสิทธิ์ กาพย์กลอน. (2532). วรรณกรรมประวัติศาสตร์ : Historical Literature TH432. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง. หน้า 128. ISBN 974-594-643-5
  4. หอพระสมุดวชิรญาณ. (2506). "พระนิพนธ์อธิบายเกี่ยวกับหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ," ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๑ (ประชุมพงศารดาร ภาค ๑ ตอนต้น). พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า ง.
  5. วุฒิชัย มูลศิลป์. "ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นครกับความก้าวหน้าการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัย". วารสารประวัติศาสตร์.
  6. ธนธร กิตติกานต์. มหาธาตุ.
  7. พงศาวดารเหนือ.[ลิงก์เสีย]
  8. กรมศิลปากร. (2521). การอนุรักษ์พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล พ.ศ. ๒๕๒๒ ของกรมศิลปากร. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. หน้า 4.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้