รังสรรค์ ต่อสุวรรณ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ (เกิด 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2482) เป็นสถาปนิกชาวไทย อดีตอาจารย์และอดีตหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวไทย เป็นที่รู้จักในฐานะสถาปนิกผู้นำสถาปัตยกรรมกรีกและโรมัน เข้ามาใช้งานออกแบบร่วมกับอาคารสมัยใหม่ ทั้งองค์ประกอบของโดม ช่องหน้าต่างโค้ง ซุ้มประตูโค้ง เขามีผลงานที่เป็นรู้จักกันดีโดยเฉพาะอาคารสเตท ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมเลอบัว มีจุดเด่นจากโดมสีทองขนาดใหญ่ อาคารสาธร ยูนีค ทาวเวอร์ อาคารที่ใช้แบบคล้ายคลึงกับสเตททาวเวอร์แต่สร้างไม่สำเร็จ ปัจจุบันกลายเป็นอาคารร้างที่สูงที่สุดในไทย สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ที่รังสรรค์เป็นผู้ออกแบบและวิจัยโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ เป็นต้น นอกจากนี้เขายังมีผลงานออกแบบที่อยู่อาศัยมากกว่าร้อยแห่ง และที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือผลงานออกแบบอาคารสาขาธนาคารกสิกรไทยมากกว่าร้อยแห่ง ที่มีจุดเด่นคือ เสาชะลูด และโค้งมนตอนยอด ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่สำคัญของธนาคารในปัจจุบัน
ผศ. รังสรรค์ ต่อสุวรรณ | |
---|---|
เกิด | 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 สยาม |
สัญชาติ | ไทย |
ศิษย์เก่า | |
การทำงาน | รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท จำกัด |
ผลงานสำคัญ |
|
รังสรรค์เริ่มงานออกแบบตั้งแต่เป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 โดยได้เข้าฝึกงานกับ ศ.กิตติคุณ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (สมัยที่ยังไม่เป็นบริษัทคาซ่าในปัจจุบัน) ภายหลังสำเร็จการศึกษา เขาได้เข้ารับราชการสังกัดกรมโยธาธิการ ก่อนจะไปฝึกงานด้านสถาปัตยกรรมที่เมืองดีทรอยต์ แล้วจึงเลือกศึกษาต่อยังสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ก่อนจะกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปิดสำนักงานออกแบบควบคู่กับเป็นการบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนาม รังสรรค์แอนด์พรรษิษฐ์สถาปัตย์ จำกัด (ปัจจุบันชื่อเปลี่ยนเป็น รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท จำกัด)
แม้ว่าผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาส่วนใหญ่จะเป็นแนวโพสต์โมเดิร์นอิงรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกยุคคลาสสิก แต่งานในช่วงแรกของเขามีรูปแบบโมเดิร์นอย่างแท้จริง ทั้งการใช้คอนกรีตเปลือย การลดทอนรายละเอียดของการตกแต่ง เช่น โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงงานมาสด้า อาคารบริษัทกมลสุโกศล โรงงานยาสูบ คลองเตย ศูนย์กีฬาในร่ม หัวหมาก บ้าน ดร.ยงค์ เอื้อวัฒนะสกุล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาคารสูงเช่น ตึกโชคชัย ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ที่นำกระจกสะท้อน เข้ามาใช้ในงานออกแบบครั้งแรก ๆ ในประเทศไทย
การศึกษา
แก้รังสรรค์ ต่อสุวรรณ มีพรสวรรค์ในด้านการวาดภาพมาตั้งแต่ครั้นยังเด็ก ๆ โดยเฉพาะด้านการวาดทัศนียภาพ (perspective) โดยตั้งแต่สมัยรังสรรค์เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้ส่งผลงานวาดภาพประกวดได้รางวัลหลายครั้ง จนเขาได้เลือกเข้าศึกษาต่อและจบการศึกษาจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2505 รุ่นเดียวกับ ผศ.ปราโมทย์ แตงเที่ยง รศ.ดร.เกียรติ จิวะกุล ผศ.อัศวิน พิชญโยธิน และศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อยังคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2507[1] โดยมีเอดูอาร์โด คาตาลาโน (Eduardo Catalano) สถาปนิกสายโมเดิร์นนิสต์ชาวอาร์เจนตินาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา[2]
การทำงาน
แก้ได้รับราชการสังกัดกรมโยธาธิการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2510 รังสรรค์เคยได้ทำงานในสำนักงานออกแบบของ ศ.กิตติคุณ กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ก่อนที่จะออกมาตั้งบริษัทของตัวเองในนาม บริษัท รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท หรือ บริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ จำกัด ในปัจจุบัน[3]
ผลงานการออกแบบ
แก้ลักษณะผลงานการออกแบบอันโดดเด่นของรังสรรค์ ต่อสุวรรณ คือ การออกแบบโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอาคารสูง โดยนำสถาปัตยกรรมกรีก โรมัน เข้ามาใช้ในงานออกแบบอาคาร หรือที่ รังสรรค์ เรียกว่าเป็นโพสต์โมเดิร์นแบบอิงรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกยุคคลาสสิก [1]
- อาคารโชคชัยอินเตอร์เนชันแนล ปี พ.ศ. 2512 (ปัจจุบันถูกทุบทิ้งเพื่อสร้างเป็นธนาคารยูโอบี สำนักสุขุมวิท)
- สำนักงานมาสด้า บริษัทกมลสุโกศล ปี พ.ศ. 2515
- โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2515
- อาคารการยาสูบแห่งประเทศไทย คลองเตย (ไม่ทราบปี)
- โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ปี พ.ศ. 2519
- ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ พหลโยธิน ปี พ.ศ. 2524
- ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า ปี พ.ศ. 2527
- ซีลเวอร์บีช คอนโดมิเนียม ปี พ.ศ. 2530
- สวนพลูการ์เด้น ปี พ.ศ. 2530
- โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ (ชื่อเดิม: โรงแรมสยามซิตี้) ถนนศรีอยุธยา
- โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ปี พ.ศ. 2531
- พาร์คบีช คอนโดมิเนียม ปี พ.ศ. 2531
- สกายบีช คอนโดมิเนียม ปี พ.ศ. 2532
- บางกอกริเวอร์พาร์ค ปี พ.ศ. 2537
- ราชมังคลากีฬาสถาน ปี พ.ศ. 2541
- สเตท ทาวเวอร์ ปี พ.ศ. 2545[4]
- สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ - ปัจจุบันเป็นอาคารร้างสูง 49 ชั้น เป็นอาคารร้างที่สูงที่สุดในไทย
- ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- วังปลา ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
ระเบียงภาพ
แก้-
บางกอกริเวอร์พาร์ค ริ่มฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เขตสัมพันธวงศ์
-
พาร์คบีช คอนโดมิเนียม พัทยา
-
ซีลเวอร์บีช คอนโดมิเนียม พัทยา
-
อาคารบริษัทกมลสุโกศล เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
-
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-
โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ ฯ
ชีวิตส่วนตัว
แก้สมรสกับยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และเป็นอธิบดีผู้พิพากษาหญิงคนแรก มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นชาย 2 คน และ หญิง 1 คน ชื่อ จันทร์กระพ้อ, พรรษิษฐ์ (เสียชีวิตสิงหาคม 2567) และตามโพธ ต่อสุวรรณ[5] รังสรรค์ยังมีความชื่นชอบในเรื่องพระเครื่องเป็นอย่างมาก
คดีลอบสังหารประธานศาลฎีกา
แก้เป็นกรณีที่ตำรวจกองปราบปราม นำโดย พล.ต.ต.ล้วน ปานรศทิพ ผบก.ป. (ยศในขณะนั้น) ได้ทำการจับกุมมือปืนที่วางแผนลอบสังหาร นายประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้น จนมีการขยายผลจับกุมผู้ต้องหาอีกหลายคน กระทั่งไปสู่จับกุมผู้จ้างวานได้ในที่สุด ซึ่งต่อมาวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาจำคุก 25 ปี จำเลยอันประกอบด้วยนายสมพร เดชานุภาพ, นายเณร มหาวิไล, นายอภิชิต อังศุธรางกูล และ รศ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ซึ่งตกเป็นจำเลยที่ 1–4 ตามลำดับ ซึ่งรังสรรค์ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยกล่าวว่าถูกใส่ร้าย จนในที่สุดศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ได้ยกฟ้อง นับเป็นการต่อสู้ทางคดียาวนานถึง 15 ปี[6][7]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "เปิดหัวใจทรนง "รังสรรค์ "สถาปนิกผู้ทรงอิทธิพล เบื้องหลังคดีอื้อฉาว ธุรกิจและความขัดแย้ง". ประชาชาติธุรกิจ. 24 กันยายน 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 ตุลาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2014.
- ↑ ปิยพงศ์ ภูมิจิตร (10 กุมภาพันธ์ 2017). "รังสรรค์ ต่อสุวรรณ: อาจารย์ สถาปนิก นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย (1)". The Momentum. สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2017.
- ↑ "บริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ จำกัด". ระบบค้นหา ข้อมูลบริษัทจดทะเบียน พ.ศ. 2561. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-03. สืบค้นเมื่อ 2021-10-03.
- ↑ "Thai Modern Architecture". ProProfs Flashcards. 16 กันยายน 2015.
- ↑ "รู้จัก 'ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ' คนที่ 'สุเทพ' พูดถึง". ไทยรัฐ. 6 กุมภาพันธ์ 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 ธันวาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2014.
- ↑ "ย้อนรอยปมลอบสังหาร "ประมาณ ชันซื่อ" ประธานศาลฎีกา คดีประวัติศาสตร์ยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี". มติชน. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2014.
- ↑ "อุทธรณ์ยกฟ้อง "รังสรรค์" ลอบสังหาร "ประมาณ ชันซื่อ"". ผู้จัดการ. 21 กันยายน 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กันยายน 2017. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2014.