ข้ามไปเนื้อหา

ไฟนอลแฟนตาซี X

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟนอลแฟนตาซี X
Final Fantasy X
ภาพปกเกมฉบับ NTSC
ผู้พัฒนาสแควร์
ผู้จัดจำหน่าย
กำกับโมะโตะมุ โทะริยะมะ
ทะคะโยะชิ นะคะสะโตะ
โทะชิโระ ทซึจิดะToshiro Tsuchida
อำนวยการผลิตโยะชิโนะริ คิทะเสะ
ศิลปินเท็ทซึยะ โนะมุระ
เขียนบทคะสุชิเงะ โนะจิมะ
แต่งเพลงโนะบุโอะ อุเอะมัทซึ
มะซะชิ ฮะมะอุสุ
จุนยะ นะคะโนะ
ชุดไฟนอลแฟนตาซี
เครื่องเล่นเพลย์สเตชัน 2
วางจำหน่าย
แนวRole-playing game
รูปแบบSingle-player

ไฟนอลแฟนตาซี X (ญี่ปุ่น: ファイナルファンタジーX; อังกฤษ: Final Fantasy X) เป็นเกมอาร์พีจี ในตระกูลไฟนอลแฟนตาซี ของสแควร์เอนิกซ์ เกมแรกบนเครื่องโซนี เพลย์สเตชัน 2 ไฟนอล แฟนตาซี X ออกวางจำหน่ายในปีค.ศ. 2001 นับว่าเป็นภาคที่ประสบความสำเร็จมากอีกภาคหนึ่ง โดยเป็นเกมที่ติดอันดับ 1 ใน 20 เกมที่ขายดีที่สุดตลอดและยังมียอดขายทั่วโลกจนถึงปัจจุบันสูงถึง 7.93 ล้านแผ่น โดยภาคนี้เริ่มต้นจากกลุ่มนักสู้ที่ออกเดินทางในโลกสฟีร่าเพื่อค้นหาวิธีกำจัดสัตว์ร้ายที่มีชื่อว่า ซิน

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในเกมไฟนอลแฟนตาซี X ก็คือ เป็นเกมไฟนอลแฟนตาซีภาคแรกที่นำกราฟิก 3 มิติเต็มรูปแบบด้วยความสามารถด้านการแสดงกราฟิกของเครื่อง เพลย์สเตชัน 2 ของโซนี่ ที่ใช้หน่วยประมวลผลแบบ 2’s 294 เมกะเฮิร์ทซ์ แทนที่กราฟิกแบบตัวละครแปะบนฉากอย่างแต่ก่อน ไฟนอลแฟนตาซี X ยังเป็นภาคแรกที่ทำให้ตัวละครในเกมสามารถออกเสียงพูดได้โดยนักพากย์และแสดงอารมณ์และความรู้สึกผ่านทางสีหน้าได้ จึงทำให้เกมเมอร์ทั้งหลายได้รู้สึกเหมือนกับนั่งชมภาพยนตร์ที่ตัวเองสามารถบังคับตัวละครได้เอง และยังเป็น ไฟนอลแฟนตาซี ภาคแรกที่มีการทำภาคต่อขึ้น นั่นคือ ไฟนอลแฟนตาซี X-2 นอกจากนี้ ยังเคยมีการวางแผนให้ ไฟนอลแฟนตาซี X สามารถเล่นแบบออนไลน์ได้ แต่ความคิดนี้ก็ได้ถูกยกเลิกไปก่อนที่เกมจะสร้างเสร็จ

ไฟนอลแฟนตาซี X ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่แตกต่างเหนือกว่าไฟนอลแฟนตาซี ภาคก่อน ๆ อย่างชัดเจนยกตัวอย่างเช่น จากความสำเร็จในการใช้เทคนิคพากย์เสียงตัวละคร ทำให้ในระหว่างที่การสนทนากำลังดำเนินไป ฉากในเกมสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองตามการสนทนาด้วย ในขณะที่เกมภาคก่อนการเปลี่ยนบทสนทนาในฉากจะใช้เทคนิคการเลื่อน (scrolling) และในไฟนอลแฟนตาซี X ยังมีการออกแบบโลกของเกมในแนวใหม่ซึ่งทำให้สมจริงมากขึ้น รวมทั้งยังเพิ่มเติมคุณสมบัติใหม่ ๆ เข้าไปในเกมอีกหลายอย่าง

ระบบการเล่น

ใน ไฟนอลแฟนตาซี X มุมมองของผู้เล่นยังเป็นลักษณะบุคคลที่สามเช่นเดียวกับภาคก่อนๆ ในซีรีส์ โดยผู้เล่นจะบังคับทีดัสซึ่งเป็นตัวละครหลักได้โดยตรง ให้เดินทางไปทั่วโลกและมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ หรือไอเทมต่างๆ สิ่งที่แตกต่างไปจากภาคก่อนๆ คือ แผนที่โลกและเมืองต่างๆ ถูกผนวกรวมกัน โดยพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองจะเป็นมุมมองในอัตราส่วนเดียวกับในเมือง เมื่อพบศัตรู สภาพแวดล้อมรอบตัวละครจะตัดไปเป็นฉากต่อสู้แบบ Turn-based ที่ตัวละครและศัตรูจะกระทำตาม Turn ของแต่ละตัว

ระบบการเล่นของ ไฟนอลแฟนตาซี X แตกต่างไปจากภาคก่อนๆ โดยไม่มีแผนที่โลกแบบมุมมองจากด้านบน ซึ่งภาคก่อนๆ ใช้แสดงพื้นที่ระหว่างเมืองกับสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลจากกัน ด้วยขนาดย่อส่วน โดยแสดงขณะเดินทางระหว่างสถานที่ต่างๆ เป็นระยะทางไกล ใน ไฟนอลแฟนตาซี X สถานที่แทบทุกแห่งจะมีมุมมองที่ต่อเนื่องกันตลอดและไม่ตัดไปยังฉากแผนที่โลก การเชื่อมโยงระหว่างสถานที่แทบจะเป็นเส้นตรง ทำให้มีเพียงเส้นทางเดียวที่ตัดผ่านสถานที่ต่างๆ แต่ในช่วงหลังของเกม จะสามารถใช้เรือเหาะซึ่งช่วยให้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ทันที และอีกสิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนกับภาคก่อนๆ คือ เกมย่อยจำนวนมาก โดยเฉพาะ "บลิซท์บอล" ที่เป็นกีฬาทางน้ำ[1]

ระบบการต่อสู้

ภาพการต่อสู้กับบอสตัวหนึ่ง ที่ใช้ Heads-up display เพื่อแสดงข้อมูลของการต่อสู้

ไฟนอลแฟนตาซี X ได้ใช้ระบบการต่อสู้แบบใหม่ที่เรียกว่า ระบบ Conditional Turn-Based Battle (CTB) เข้ามาแทนที่ระบบ Active Time Battle (ATB) ที่ใช้มาตั้งแต่ ไฟนอลแฟนตาซี IV ระบบใหม่นี้พัฒนาขึ้นโดยโทะชิโระ ทซึจิดะ ผู้กำกับฉากต่อสู้ ผู้ซึ่งนึกถึง ไฟนอลแฟนตาซี IV เมื่อพัฒนาระบบ CTB ความแตกต่างคือ หลักการของ ATB จะเป็นการดำเนินการต่อสู้ตามเวลาจริง แต่ระบบ CTB จะเป็นรูปแบบ Turn-based ที่จะหยุดการดำเนินการต่อสู้ในระหว่างที่ถึง Turn ของตัวละครแต่ละตัว ซึ่ง CTB จะทำให้ผู้เล่นสามารถเลือกคำสั่งได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเวลา ช่อง Timeline ที่มีรูปภาพที่อยู่ทางขวาบนของหน้าจอจะแสดงให้เห็นตัวละครที่จะได้ Turn ในลำดับถัดๆ ไป และผลกระทบของการใช้คำสั่งที่กำลังจะใช้ที่มีต่อการเรียงลำดับ Turn ในฉากต่อสู้ผู้เล่นสามารถควบคุมตัวละครได้มากที่สุดสามตัว และสามารถสับเปลี่ยนเอาตัวละครที่อยู่นอกกลุ่มขณะนั้นเข้ามาแทนที่ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มได้ตลอดการต่อสู้ นอกจากนี้ตัวละครแต่ละตัวยังมีท่าโจมตีพิเศษที่มีพลังโจมตีสูงที่ในภาคก่อนเรียกว่า "Limit Breaks" แต่ใน ไฟนอลแฟนตาซี X ใช้ชื่อว่า "Overdrives" ซึ่งท่าโจมตีเหล่านี้ส่วนใหญ่จะต้องกดปุ่มตามที่กำหนดไว้เพื่อเพิ่มพลังโจมตีให้สูงขึ้น[2]

ไฟนอลแฟนตาซี X ได้ใช้ระบบเรียกสัตว์อสูรแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากภาคก่อนเป็นอย่างมาก โดยในภาคก่อนนั้น สัตว์อสูรจะเข้ามายังฉากต่อสู้ โจมตีครั้งเดียว แล้วจากเดียว แต่สัตว์อสูรใน ไฟนอลแฟนตาซี X จะเข้ามาต่อสู้แทนตัวละครในกลุ่มทั้งหมดจนกว่าศัตรูทุกตัวในฉากจะถูกกำจัด หรือสัตว์อสูรถูกโจมตีจนพลังชีวิตหมด หรือผู้เล่นสั่งให้ออกจากฉากต่อสู้ สัตว์อสูรแต่ละตัวจะมีค่าสถานะ คำสั่งในฉากต่อสู้ ท่าโจมตีพิเศษ เวทมนตร์ และ Overdrive เป็นของตัวเอง ตามเนื้อเรื่องหลักในเกม ผู้เล่นจะได้รับสัตว์อสูรห้าตน และอีกสามตนจะได้รับจาก Side-quests[2]

ผังสเฟียร์

ในภาคนี้ผู้เล่นสามารถพัฒนาตัวละครโดยปราบศัตรูและเก็บไอเทมเช่นเดียวกับภาคก่อน แต่ระบบค่าประสบการณ์แบบเดิมถูกเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า "ผังสเฟียร์" (Sphere Grid) ซึ่งจากเดิมที่ตัวละครจะได้รับค่าสถานะต่างๆ เพิ่มขึ้นหลังจากเพิ่มค่าระดับของตัวละครให้สูงขึ้น ในภาคนี้ตัวละครแต่ละตัวจะได้รับค่า "ระดับสเฟียร์" (Sphere Level) หลังจากสะสมค่าความสามารถ (Ability Point) มากเพียงพอ ระดับสเฟียร์ใช้ในการเคลื่อนตำแหน่งของตัวละครบนผังสเฟียร์ ซึ่งบนผังจะเป็น Node ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ประกอบด้วยตำแหน่งของค่าสถานะและความสามารถต่างๆ Node เหล่านี้จะต้องใช้ไอเทมที่เรียกว่า "สเฟียร์" (Sphere) ในการเปิดใช้ค่าประจำ Node นั้นๆ ให้แก่ตัวละครที่เลือกไว้[3]

ระบบผังสเฟียร์ยังทำให้ผู้เล่นสามารถปรับแต่งตัวละครให้แตกต่างไปจากบทบาทที่มีมาแต่แรกได้ ตัวอย่างเช่น ปรับแต่งยูน่า ซึ่งเป็นนักเวทมนตร์ขาว ให้สามารถโจมตีด้วยอาวุธได้อย่างรุนแรง หรือปรับแต่งอารอน ที่เป็นนักดาบ ให้สามารถใช้เวทมนตร์ขาวได้ ในเกมฉบับ International และ PAL จะมีผังสเฟียร์แบบที่ซับซ้อนมากขึ้นให้ผู้เล่นเลือกใช้ได้ ซึ่งผังสเฟียร์แบบนี้ ตำแหน่งของตัวละครทุกตัวบนผังจะเริ่มต้นที่กึ่งกลางผัง และสามารถเลือกเคลื่อนที่ไปในเส้นทางใดก็ได้ แต่ก็มีจำนวน Node น้อยลง ทำให้ค่าสถานะที่สามารถเพิ่มระหว่างเกมนั้นลดลง[4]

โครงเรื่อง

โลกทัศน์

ไฟนอลแฟนตาซี X ดำเนินเรื่องราวในโลกที่มีชื่อว่า "สปีร่า" (Spira) ประกอบด้วยแผ่นดินผืนใหญ่ที่แบ่งออกเป็นสามอนุทวีป ล้อมรอบด้วยหมู่เกาะเขตร้อนขนาดเล็ก มีสภาพภูมิอากาศมีตั้งแต่แบบเขตร้อนที่เกาะบีไซด์และคิลิกา แบบอบอุ่นที่ภูมิภาคมีเฮน ไปจนถึงแบบหนาวเย็นที่มาคาลาเนียและภูเขากากาเซต ประชากรของสปีร่าประกอบด้วยหลายเผ่าพันธุ์ โดยเผ่าพันธุ์มนุษย์มีจำนวนมากที่สุด ในบรรดามนุษย์ที่ชนเผ่าที่มีชื่อว่า อัลเบด (Al Bhed) ซึ่งมีเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ถูกเพิกถอนสิทธิการเป็นพลเมือง มีลักษณะเด่นคือ ตาสีเขียว และมีภาษาเฉพาะชนเผ่า[5] เผ่าพันธุ์กวาโดมีลักษณะบางประการคล้ายมนุษย์ แต่มีหลายสิ่งแตกต่างออกไป เช่น นิ้วมือยาวกว่า และมีเผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่แตกต่างจากมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด เช่น เผ่ารอนโซที่มีลักษณะคล้ายสิงโต หรือเผ่าไฮเปลโลที่คล้ายกบ ในบรรดาเผ่าพันธุ์ทั้งหลายยังมีสิ่งที่เรียกว่า "Unsent" ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของผู้เสียชีวิตที่มีความปรารถนาอันแข็งกล้าจนสามารถคงอยู่ในรูปลักษณ์ทางกายภาพได้ มีคำอธิบายว่าผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้รับการสวดส่งวิญญาณไปยังดินแดนอันห่างไกลโดยผู้อัญเชิญ จะเกิดความริษยาต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และกลายเป็น "Fiends" สัตว์ประหลาดที่ผู้เล่นจะได้พบและต่อสู้ตลอดทั้งเกม[6] แต่หากผู้เสียชีวิตมีความผูกพันต่อชีวิตมาก จะสามารถคงรูปลักษณ์มนุษย์ไว้ได้แม้จะเป็น Unsent สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสปีร่า มีทั้งสัตว์ที่มีอยู่ในโลกจริงๆ เช่น แมว สุนัข นก ผีเสื้อ และสัตว์ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาสำหรับเกมโดยเฉพาะ เช่น ชูพัฟ (Shoopuf) สัตว์รูปร่างคล้ายสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดยักษ์ รวมถึงโจโคโบะ นกรูปร่างคล้ายนกอีมู ซึ่งปรากฏตัวในเกมส่วนใหญ่ในซีรีส์ ไฟนอลแฟนตาซี

สปีร่าแตกต่างไปจากระบบโลกแบบยุโรปในภาคก่อนๆ อย่างมาก โดยจำลองแบบสิ่งต่างๆ มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งพืชพันธุ์ ภูมิประเทศ สถาปัตยกรรม และการตั้งชื่อ เท็ทซึยะ โนะมุระ ผู้ออกแบบตัวละคร ได้เลือกออกแบบสภาพภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของสปีร่าโดยจำลองจากแปซิฟิกตอนใต้ ไทย และญี่ปุ่นเป็นหลัก บางส่วนจำลองมาจากสภาพภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะทางใต้ อย่างเช่นบีไซด์และคิลิกา โยะชิโนะริ คิทะเสะ ผู้อำนวยการสร้าง กล่าวว่า หากโลกทัศน์ของเกมยังคงกลับไปเป็นแบบแฟนตาซียุโรปยุคกลาง ก็จะไม่ช่วยให้กลุ่มผู้พัฒนาเกมได้พัฒนาตนเอง ซึ่งระหว่างที่คิทะเสะกำลังนึกถึงสภาพแวดล้อมของโลกที่แตกต่างออกไปนั้น คะสุชิเงะ โนะจิมะ ผู้เขียนบท ก็ได้แนะนำให้สร้างเป็นโลกแฟนตาซีแบบเอเชียขึ้นมา[7]

ตัวละคร

ไฟล์:Tidusteam.jpg
ทีดัส (ซ้ายสุด) พระเอกของเกมและวักก้า (กลาง) กับกลุ่มเพื่อนร่วมทีมบลิทซ์บอล

ไฟนอลแฟนตาซี X มีตัวละครหลักที่สามารถบังคับได้เจ็ดตัว ได้แก่

  • ทีดัส เด็กหนุ่มบุคลิกร่าเริง เป็นนักกีฬาบลิทซ์บอลชื่อดังแห่งทีมซานาร์กันด์เอบส์ (Zanarkand Abes) มีความรู้สึกโกรธเคืองพ่อของเขา ซึ่งเป็นนักกีฬาบลิทซ์บอลชื่อดังที่หายสาบสูญไปตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก
  • ยูน่า ลูกสาวของ High Summoner บราสกา ผู้ปราบซินลงได้และนำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งความสงบสุข เธอได้ออกเดินทางเพื่อรับเอาสัตว์อสูรตนสุดท้ายมาเพื่อปราบซิน
  • คิมาห์ริ รอนโซ นักรบหนุ่มแห่งเผ่ารอนโซ คอยดูแลยูน่าเมื่อครั้งเป็นเด็ก
  • วักก้า นักกีฬาบลิทซ์บอล มีศรัทธาในคำสอนของลัทธิเยวอนอย่างจริงใจ
  • ลูลู่ นักเวทมนตร์ดำบุคลิกเฉยชาและเยือกเย็น แต่คอยห่วงใยผู้อื่น
  • อารอน อดีต Warrior monk ผู้เงียบขรึม
  • ริคคุ เด็กสาวเผ่าอัลเบดผู้ร่าเริง เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักร

ตัวร้ายหลักของเกมคือ Maester ซีมัวร์ กวาโด และ maesters คนอื่นๆ แห่งลัทธิเยวอน โดยมีซิน สิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์รูปร่างคล้ายวาฬ เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทั้งหลาย

ฟุมิ นะคะชิมะ หัวหน้านักออกแบบตัวละครรอง ต้องการทำให้ตัวละครจากภูมิภาคและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสวมใส่เครื่องแต่งกายที่มีรูปแบบแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถระบุกลุ่มย่อยของตัวละครเหล่านั้นได้ง่าย ตัวอย่างเช่น เธอกล่าวว่าหน้ากากและแว่นตากันลมของเผ่าอัลเบดทำให้ภาพลักษณ์ดู "แปลกประหลาด" ขณะที่เครื่องแต่งกายของเผ่ารอนโซช่วยให้ต่อสู้ได้ง่าย[7]

เนื้อเรื่อง

ไฟนอลแฟนตาซี X เริ่มต้นจากช่วงหลังของเนื้อเรื่อง โดยทีดัส ตัวละครหลัก พร้อมกับพวกพ้อง อยู่ที่ด้านนอกซากเมืองซานาร์กันด์ ทีดัสเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งเป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของเกม[8] เริ่มต้นจากนครซานาร์กันด์อันมีเทคโนโลยีก้าวหน้าและยังไม่ถูกทำลาย ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของทีดัส เขาเป็นนักกีฬาใต้น้ำบลิซท์บอลที่มีชื่อเสียง[9] ในระหวางการแข่งขันบลิซท์บอล สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้น้ำชื่อว่า ซิน ได้โจมตีเมือง เมืองถูกทำลายลง ทีดัสและอารอนถูกซินพาไปยังโลกสปิรา[10]

หลังจากทีดัสมาถึงโลกสปิรา นักประดาน้ำชาวอัลเบดได้ช่วยเหลือเขาไว้ และถามถึงสถานที่ที่เขาจากมา ริคคุ หนึ่งในนักประดาน้ำ ได้บอกเขาว่าซานาร์กันด์ถูกทำลายไปเมื่อ 1,000 ปีก่อนหน้าแล้ว[11] ต่อมาซินได้เข้าโจมตีอีกครั้ง ทีดัสจึงพลัดจากเหล่านักประดาน้ำและถูกซัดไปยังเกาะบีไซด์ ที่นั่นเขาได้พบกับวักกา หัวหน้าทีมบลิซท์บอลประจำเกาะ วักกาแนะนำให้ทีดัสรู้จักกับยูน่า ผู้อัญเชิญที่กำลังจะออกเดินทางเพื่อปราบซิน โดยเชื่อกันว่าซินเป็นบทลงโทษต่อบาปของมวลมนุษยชาติ ยูน่าได้ออกเดินทางร่วมกับผู้พิทักษ์ของเธอ ได้แก่ ลูลู่ วักกา และคิมาห์ริ ส่วนทีดัสได้ร่วมเดินทางไปเพื่อช่วยเหลือวักกาในการแข่งขันบลิซท์บอลที่กำลังจะเริ่มขึ้นและเพื่อหาทางกลับบ้าน[12][13][14] ต่อมาอารอนได้เข้าร่วมเดินทางด้วย อารอนได้โน้มน้าวให้ทีดัสเป็นผู้พัทักษ์อีกคนของยูน่า[15] และได้เปิดเผยต่อทีดัสว่าบราสกา พ่อของยูน่า เจคท์ พ่อของทีดัส และตัวเขาเองได้เคยออกเดินทางเพื่อปราบซินเมื่อสิบปีก่อนหน้า[16] ทีดัสเคยคิดว่าพ่อของเขาเสียชีวิตในทะเลเมื่อสิบปีก่อน[17] หลังจากได้ปะทะกับซินอีกครั้ง ริคคุได้เข้าร่วมเดินทางด้วยอีกคน และเปิดเผยว่าเป็นญาติของยูน่า[18] ในระหว่างการเดินทาง ทีดัสและยูน่าได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นจากประสบการณ์ร่วมกันและความสนใจต่อกันและกัน

เมื่อกลุ่มตัวเอกเดินทางไปถึงกวาโดสลัม เมืองของเผ่ากวาโด ซีมัวร์ได้ขอยูน่าแต่งงาน และเธอได้บอกให้เหล่าผู้พิทักษ์ของเธอทราบว่าเธอตั้งใจจะแต่งงานกับซีมัวร์เพื่อความหวังของสปิรา[19] เมื่อไปถึงวัดมาคาลาเนีย เหล่าผู้พิทักษ์ได้เห็นข้อความจากพ่อผู้ล่วงลับของซีมัวร์ โดยกล่าวว่าเขาถูกสังหารโดยลูกชายของตนเอง และความชั่วร้ายของซีมัวร์จะทำลายสปิรา[20] กลุ่มตัวเอกได้เข้าต่อสู้กับซีมัวร์และสังหารเขา หลังจากนั้นไม่นาน ซินได้เข้าโจมตีและยูน่าพลัดหลงไปจากเหล่าผู้พิทักษ์[21] ระหว่างการตามหายูน่า ทีดัสได้รับรู้ว่าผู้อัญเชิญจะต้องสละชีวิตเพื่อ "การอัญเชิญครั้งสุดท้าย" ทำให้เขาต้องการหาทางที่จะปราบซินโดยไม่ทำให้ยูน่าต้องสละชีวิตตนเอง[22][23] เหล่าผู้พิทักษ์ได้ตามหายูน่าพบที่เมืองเบเวลล์ขณะที่เธอถูกบังคับให้แต่งงานกับซีมัวร์ที่กลายเป็นวิญญาณที่ไม่ถูกสวดส่ง[24] พวกเขาขัดขวางการแต่งงานและหนีไปกับยูน่า[25] ต่อมาถูกจับกุมและถูกพิจารณาคดี[26] แต่หลบหนีออกมาได้และมุ่งหน้าไปยังซานาร์กันด์ต่อไป[27]

หลังจากเดินทางต่อ ทีดัสได้รับรู้ว่า ตัวเขาเอง เจคท์ และซานาร์กันด์ที่ทั้งสองจากมา เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นคล้ายกับสัตว์อสูร โดยอาศัยลักษณะของซานาร์กันด์แต่เดิมและประชากรในเมืองเป็นต้นแบบ[28] เมื่อนานมาแล้ว นครซานาร์กันด์เดิมได้สู้รบกับเบเวลล์ ซึ่งซานาร์กันด์ได้พ่ายแพ้ ผู้รอดชีวิตในซานาร์กันด์ได้อุทิศตนเองให้กลายเป็น "Fayth" เพื่อใช้ความทรงจำเกี่ยวกับซานาร์กันด์สร้างเมืองใหม่ขึ้นในจินตนาการ โดยตัดขาดจากสงครามในสปิรา[29] หนึ่งพันปีต่อมา เหล่า Fayth เริ่มเหน็ดเหนื่อยจากการสร้างซานาร์กันด์ในจินตนาการ แต่ไม่สามารถหยุดได้จนกว่าซินจะถูกปราบลง[30]

เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปจนถึงจุดสิ้นสุดของการเดินทางของยูน่า ยูนาเลสกา ผู้อัญเชิญคนแรกที่ปราบซินได้และไม่ได้ถูกสวดส่งวิญญาณนับแต่นั้น[31] จะบอกกลุ่มตัวเอกว่าสัตว์อสูรตนสุดท้ายจะสร้างขึ้นจากจิตวิญญาณของผู้มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อัญเชิญ หลังจากปราบซินได้แล้ว สัตว์อสูรตนสุดท้ายจะกลายเป็นซินตนใหม่ ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งการถือกำเนิดใหม่[32] กลุ่มตัวเอกตัดสินใจไม่ให้สัตว์อสูรตนสุดท้ายเพื่อไม่ให้มีใครต้องสละชีวิตและเพื่อไม่ให้ซินตนใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาอีก[33] ยูนาเลสกาผิดหวังต่อวิธีการของทีดัสและพวกพ้อง จึงตั้งใจจะสังหาร แต่ก็ถูกปราบลงได้และสลายหายไป[34] หลังจากนั้นกลุ่มตัวเอกได้พยายามหาทางทำลายซินอย่างถาวรโดยไม่ต้องเสียสละชีวิตผู้ใด และได้รับรู้ว่าสิ่งที่ทำให้สัตว์อสูรตนสุดท้ายกลายเป็นซินคือ ยู เยวอน ซึ่งเป็นผู้อัญเชิญที่สูญเสียความเป็นมนุษย์และคงอยู่เพื่อสร้างซินเท่านั้น[35] กลุ่มตัวเอกได้บุกเข้าไปในร่างของซินและต่อสู้กับซีมัวร์ที่ถูกดูดเข้าไป และในที่สุดได้ต่อสู้กับจิตวิญญาณของเจคท์ที่ถูกกักขังอยู่ภายในร่างของซิน[36][37] เมื่อร่างอาศัยของซินถูกทำลาย กลุ่มตัวเอกได้เข้าต่อสู้กับยู เยวอน และเอาชนะได้[38] วัฏจักรการถือกำเนิดใหม่ของซินยุติลง จิตวิญญาณของเหล่า Fayth ถูกปลดปล่อยจากการถูกจองจำ ทำให้สัตว์อสูร ซานาร์กันด์ในความฝัน และทีดัสต้องสูญสลายไป[39] หลังจากนั้น ยูน่าได้กล่าวต่อประชากรสปิราให้ร่วมกันสร้างโลกที่ไม่มีซินขึ้นมาใหม่[40] เมื่อ credit ของเกมจบลงแล้ว มีฉากสั้นเป็นภาพของทีดัสอยู่ใต้น้ำและว่ายน้ำขึ้นสู่เบื้องบน ฉากนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ไฟนอลแฟนตาซี X-2 ซึ่งเป็นภาคต่อ มีเนื้อหาเกี่ยวกับยูน่าที่ออกตามหาร่องรอยของทีดัสที่อาจยังมีชีวิตอยู่เพื่อสานต่อความสัมพันธ์[41]

การพัฒนา

การพัฒนา ไฟนอลแฟนตาซี X เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2542 รวมเงินลงทุนทั้งหมดราว 4 พันล้านเยน[42] ใช้ทีมงานกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เคยร่วมงานในภาคก่อนๆ ในซีรีส์มาแล้ว ซะกะงุจิ ฮิโระโนะบุ ผู้อำนวยการสร้าง ได้กล่าวว่า แม้ว่าจะกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนฉากหลังจากแบบสองมิติเป็นสามมิติ การพากย์เสียง และการเปลี่ยนการเล่าเรื่องเป็นแบบตามเวลาจริง แต่ความสำเร็จของซีรีส์ ไฟนอลแฟนตาซี ก็อาจถือได้ว่ามาจากความท้าทายของทีมพัฒนาเกมในการทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ[7] การเขียนบทของภาคนี้ใช้เวลานานกว่าภาคก่อนๆ มากเนื่องจากมีนักพากย์เข้ามาร่วมงานด้วย[43] โนะจิมะ คะสุชิเงะ ผู้เขียนบท มีความกังวลเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นและตัวละครหลักมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงได้แต่งเรื่องราวที่ผู้เล่นจะได้มองเห็นการเดินทางไปรอบโลกและการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านความคิดและการบรรยายของทีดัส[44] แรกเริ่มนั้นมีแผนว่าเกมนี้จะเพิ่มส่วนประกอบออนไลน์เข้าไปด้วย โดยจะใช้งานได้ผ่านทางบริการ PlayOnline ของสแควร์ แต่ต่อมาถูกตัดออกไประหว่างการผลิต และระบบออนไลน์ได้ถูกนำมาใช้กับเกมในซีรีส์ ไฟนอลแฟนตาซี เป็นครั้งแรกใน ไฟนอลแฟนตาซี XI[45][46]

นะคะสะโตะ ทะคะโยะชิ ผู้กำกับด้านแผนที่ ต้องการใช้แนวคิดของแผนที่โลกที่ดูสมจริงมากกว่าแผนที่โลกในภาคก่อนๆ เพื่อให้ดูกลมกลืนกับฉากหลังแบบสามมิติของเกม ซึ่งตรงข้ามกับฉากหลังแบบ Pre-rendered[47] ทซึจิดะ โทะชิโระ ผู้กำกับระบบการต่อสู้ ซึ่งเคยได้เล่นเกมต่างๆ ในซีรีส์ ไฟนอลแฟนตาซี มาก่อนแล้ว ต้องการสร้างองค์ประกอบที่คิดว่าน่าสนใจและเพลิดเพลินขึ้นมาใหม่ ในที่สุดจึงได้ตัดระบบ Active Time Battle (ATB) ออกไป และเปลี่ยนไปใช้ระบบ Conditional Turn-Based Battle (CTB) ที่ต้องอาศัยการวางแผนการต่อสู้แทน[48] ตามแผนแรกเริ่มนั้น จะทำให้ศัตรูปรากฏตัวเดินไปมาอยู่บนแผนที่ และจะตัดเข้าสู่ฉากต่อสู้อย่างแนบเนียน ซึ่งผู้เล่นสามารถเคลื่อนที่ไปรอบฉากในระหว่างเผชิญหน้ากับศัตรูได้[49] ทะไค ชินทะโระ ผู้กำกับศิลป์ในฉากต่อสู้ ได้อธิบายว่า เขาตั้งใจจะทำให้ฉากต่อสู้ใน ไฟนอลแฟนตาซี X เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง และไม่ได้แยกออกไปเป็นองค์ประกอบต่างหาก[48] แต่ด้วยข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ความคิดเหล่านี้จึงไม่ได้ใช้ในภาคนี้ แต่นำไปใช้ใน ไฟนอลแฟนตาซี XI และ ไฟนอลแฟนตาซี XII ในภายหลัง กระนั้นการตัดเข้าสู่ฉากต่อสู้บางจุดในเกมก็ได้ใช้เทคนิคภาพพร่ามัวแบบเคลื่อนไหวเพื่อให้ดูแนบเนียนมากขึ้น[44] ซึ่งเทคนิคดังกล่าวก็ทำให้มีการออกแบบระบบเรียกสัตว์อสูรขึ้นใหม่ดังที่เห็นในเกม[48] คิทะเสะ โยะชิโนะริ ได้อธิบายว่า จุดประสงค์ของกระดานสเฟียร์คือเพื่อสร้างระบบเชิงตอบโต้ต่อการเพิ่มค่าสถานะของตัวละคร ซึ่งทำให้ผู้เล่นสามารถมองเห็นและวางแผนการเพิ่มค่าสถานะต่างๆ ได้โดยตรง[50]

ดนตรี

ไฟนอลแฟนตาซี X เป็นภาคหลักภาคแรกในซีรีส์ที่ โนะบุโอะ อุเอะมัทซึ ผู้ประพันธ์เพลงประจำซีรีส์ มีส่วนร่วมในการแต่งดนตรีประกอบในเกม ผู้ประพันธ์ร่วมอีกสองคนในภาคนี้คือ มะซะชิ ฮะมะอุสุ และจุนยะ นะคะโนะ ทั้งสองได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้เนื่องจากความสามารถในการสร้างสรรค์ดนตรีที่แตกต่างไปจากรูปแบบของอุเอะมัทซึโดยที่ยังคงสามารถทำงานร่วมกันได้[51] เว็บไซต์ Playonline.com ได้เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า เพลงประจำเกมได้เสร็จสมบูรณ์แล้วในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ในขณะที่สแควร์ยังไม่ได้เปิดเผยว่าใครจะเป็นผู้ขับร้อง เว็บไซต์ Gamesport ได้ถามอุเอะมัทซึเป็นการส่วนตัว และได้รับคำตอบติดตลกว่า "จะเป็นร็อด สจ๊วต"[52]

ภายในเกมมีเพลงที่มีเสียงร้องอยู่สามเพลง หนึ่งในนั้นคือเพลง "Suteki da ne" เพลงรักแนวเจป๊อป ซึ่งในฉบับภาษาอังกฤษถูกแปลเป็น "Isn't it Wonderful?" เนื้อร้องแต่งโดยคะสุชิเงะ โนะจิมะ และประพันธ์ทำนองโดยอุเอะมัทซึ ขับร้องโดยริกกิ นักร้องเพลงโฟล์คชาวญี่ปุ่น ผู้ซึ่งได้รับเลือกจากฝ่ายดนตรีของเกมเนื่องมาจากแนวดนตรีประจำตัวที่สะท้อนถึงบรรยากาศแบบโอะกินะวะ[53] "Suteki da ne" ถูกขับร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งในเกมฉบับภาษาญี่ปุ่นและฉบับภาษาอังกฤษ และเพลงนี้ในฉบับวงดนตรียังได้ถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบฉากจบ เช่นเดียวกับเพลง "Eyes on Me" จาก ไฟนอลแฟนตาซี VIII และเพลง "Melodies of Life" จาก ไฟนอลแฟนตาซี IX อีกสองเพลงที่มีเนื้อร้องได้แก่ เพลง "Otherworld" เพลงประกอบฉากเริ่มเกมแนวร็อคหนักแน่น ขับร้องเป็นภาษาอังกฤษโดย Bill Muir และเพลง "Hymn of the Fayth" เพลงแบบวนซ้ำไปมาที่ขับร้องโดยใช้ Japanese syllabary[54]

อัลบั้มรวมเพลงประกอบเกมประกอบด้วยแผ่นซีดีสี่เพลง มีเพลงทั้งหมด 91 เพลง วางจำหน่ายครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2544 โดยบริษัทดิจิคิวบ์ และวางจำหน่ายอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 โดยสแควร์เอนิกซ์[55] ใน พ.ศ. 2545 บริษัทโตเกียวป๊อปได้วางจำหน่าย Final Fantasy X Original Soundtrack ฉบับใหม่ในอเมริกาเหนือ โดยใช้ชื่อว่า Final Fantasy X Official Soundtrack ประกอบด้วยเพลง 17 เพลงจากอัลบั้มเดิม บรรจุลงในแผ่นซีดีแผ่นเดียว[56] นอกจากนี้ยังมีแผ่นซีดีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกม เช่น feel/Go dream: Yuna & Tidus วางจำหน่ายในญี่ปุ่นโดยดิจิคิวบ์ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2544 บรรจุเพลงประจำตัวของตัวละครทีดัสและยูน่า[57] รวมถึงซีดี Piano Collections Final Fantasy X ซึ่งเป็นแผ่นรวมดนตรีจากเกมในอีกฉบับหนึ่ง[58] และ Final Fantasy X Vocal Collection แผ่นรวมคำพูดและเพลงเฉพาะตัวละคร ทั้งสองแผ่นวางจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2545[59]

วงดนตรี The Black Mages นำโดยโนะบุโอะ อุเอะมัทซึ ซึ่งมีบทบาทในการปรับแต่งดนตรีจากซีรีส์เกม ไฟนอลแฟนตาซี ให้เป็นแนวร็อค ได้ปรับแต่งดนตรีของบทเพลงสามเพลงจาก ไฟนอลแฟนตาซี X ขึ้นมาใหม่เช่นกัน โดยเพลงเหล่านั้นได้แก่ เพลง "Fight with Seymour" จากอัลบั้มชื่อเดียวกับวงที่ออกใน พ.ศ. 2546[60] อีกสองเพลงคือ "Otherworld" และ "The Skies Above" ทั้งสองเพลงบรรจุในอัลบั้ม The Skies Above ที่ออกใน พ.ศ. 2547[61] อุเอะมัทซึยังได้นำบทเพลงเหล่านี้ไปแสดงในซีรีส์คอนเสิร์ต Dear Friends: Music from Final Fantasy[62] และบทเพลงจาก ไฟนอลแฟนตาซี X ยังได้ถูกรวมอยู่ในการแสดงสดหลายครั้ง เช่น คอนเสิร์ต 20020220 Music from Final Fantasy ซึ่งเป็นการแสดงบรรเลงดนตรีจากซีรีส์ไฟนอลแฟนตาซี รวมถึงหลายบทเพลงจาก ไฟนอลแฟนตาซี X[63] นอกจากนี้ ยังมีเพลง "Swing de Chocobo" ที่นำไปบรรเลงในคอนเสิร์ต Distant Worlds - Music from Final Fantasy โดยวงดนตรี Royal Stockholm Philharmonic Orchestra[64] และเพลง "Zanarkand" บรรเลงในคอนเสิร์ต Tour de Japon: Music from Final Fantasy โดยวงดนตรี New Japan Philharmonic Orchestra[65]

Versions และสินค้า

ไฟนอลแฟนตาซี X ฉบับภาษาญี่ปุ่นจะมีแผ่นซีดีชื่อ "The Other Side of Final Fantasy" แนบมาพร้อมกับแผ่นเกม ภายในแผ่นประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ Storyboards ตัวอย่างของเกม Blue Wing Blitz และ คิงดอมฮารตส์ ตัวอย่างภาพยนตร์ Final Fantasy: The Spirits Within และภาพยนตร์ตัวอย่างแรกของเกม ไฟนอลแฟนตาซี XI[66] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 เกมฉบับ International ได้วางจำหน่ายในญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ "Final Fantasy X International" และวางจำหน่ายใน PAL territories ภายใต้ชื่อเดิม ฉบับ International นี้ได้มีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาจากฉบับ NTSC เดิม ซึ่งรวมถึงการต่อสู้กับสัตว์อสูรภาคมืด และการต่อสู้กับบอสพิเศษ "Penance" บนเรือเหาะ[4] ฉบับ International ที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่นยังได้เพิ่มคลิปวิดีโอชื่อว่า "Eternal Calm" ความยาว 14 นาที ที่เชื่อมโยงเนื้อเรื่องของ ไฟนอลแฟนตาซี X ไปสู่ ไฟนอลแฟนตาซี X-2 ที่เป็นภาคต่อ[67] คลิปวิดีโอนี้ยังได้บันทึกลงในแผ่นดีวีดีที่แนบไปพร้อมกับแผ่นเกม Unlimited Saga ฉบับนักสะสม โดยใช้ชื่อว่า "Eternal Calm, Final Fantasy X-2: Prologue" ซึ่งวางจำหน่ายครั้งแรกในยุโรปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และบันทึกเสียงในคลิปเป็นภาษาอังกฤษ[68]

เกมฉบับ International และ PAL มีแผ่นดีวีดีพิเศษชื่อว่า "Beyond Final Fantasy" แนบมาด้วย ภายในแผ่นประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ผู้พัฒนาเกม และผู้ให้เสียงพากษ์ตัวละครเป็นภาษาอังกฤษสองคน ได้แก่ เจมส์ อาร์โนลด์ เทย์เลอร์ (ทีดัส) และเฮดี เบอร์เรสส์ (ยูน่า) และยังมีภาพยนตร์ตัวอย่างของ ไฟนอลแฟนตาซี X และ คิงดอมฮารตส์ ภาพร่างและภาพที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์เกม และมิวสิควิดีโอเพลง "Suteki da ne" ขับร้องโดยริกกิ[69] ใน พ.ศ. 2548 ได้มีการรวมเอา ไฟนอลแฟนตาซี X และ ไฟนอลแฟนตาซี X-2 มาวางจำหน่ายเป็นชุดเดียวกันในญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ Final Fantasy X/X-2 Ultimate Box[70]

นอกจากนี้ สแควร์ยังได้ผลิตสินค้าและหนังสือเกี่ยวกับเกมอีกมากมาย[71] ซึ่งรวมถึงหนังสือ The Art of Final Fantasy X และชุดหนังสือ อัลติมาเนีย ที่เกี่ยวกับแนวทางการเล่นเกมและรวมภาพงานศิลป์เกี่ยวกับเกม จัดพิมพ์โดยบริษัทดิจิคิวบ์ในญี่ปุ่น ภายในหนังสือในชุดมีอาร์ตเวิร์กดั้งเดิมของ ไฟนอลแฟนตาซี X บทสรุปการเล่นเกม เนื้อเรื่องของเกมในมุมมองต่างๆ และบทสัมภาษณ์ผู้ออกแบบเกม หนึ่งชุดประกอบด้วยหนังสือสามเล่ม ได้แก่ Final Fantasy X Scenario Ultimania, Final Fantasy X Battle Ultimania และ Final Fantasy X Ultimania Ω[72]

กระแสตอบรับ

 การตอบรับ
คะแนนรวม
ผู้รวมคะแนน
เกมแรงกิงส์91%[82]
เมทาคริติก92/100[83]
คะแนนปฏิทรรศน์
สิ่งพิมพ์เผยแพร่คะแนน
เอดจ์9/10[73]
ยูโรเกมเมอร์9/10[74]
แฟมิซือ39/40[75]
เกมอินฟอร์เมอร์9.75/10[78]
เกมโปร5/5 stars[76]
เกมเรโวลูชันA-[77]
เกมสปอต9.3/10[79]
เกมสปาย4/5 stars[80]
ไอจีเอ็น9.5/10[81]

ไฟนอลแฟนตาซี X ได้รับทั้งคำชมเชยจากสื่อต่างๆ และยอดจำหน่ายที่สูง หลังจากวางจำหน่ายในญี่ปุ่นได้สี่วันก็สามารถจำหน่ายจากการสั่งจองล่วงหน้าได้มากกว่า 1.4 ล้านแผ่น จัดเป็นเกม Console RPG ที่จำหน่ายได้รวดเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์[84][85] สถิตินี้นับว่าเร็วกว่า ไฟนอลแฟนตาซี VII และ ไฟนอลแฟนตาซี IX เมื่อเปรียบเทียบที่ยอดจำหน่ายสี่วันหลังวางจำหน่ายเหมือนกัน[86] และยังเป็นเกมสำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 เกมแรกที่สามารถจำหน่ายได้ถึงสี่ล้านแผ่น[87][88] และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ยังได้ถูกจัดอันดับเป็นเกมสำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 ที่ขายดีเป็นอันดับที่แปด[89] เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ก็มียอดจำหน่าย 6.6 ล้านแผ่น[90] นอกจากนี้ ไฟนอลแฟนตาซี X ยังได้รับรางวัลและการจัดอันดับอันดับจากสื่อต่างๆ ได้แก่

  • ได้รับรางวัลเกมยอดเยี่ยมประจำ พ.ศ. 2544-2545 จาก CESA GAME AWARDS[91]
  • ได้อันดับที่เจ็ดในหมวดหมู่ "10 วิดีโอเกมยอดเยี่ยมแห่งปี" จากการจัดอันดับ "Best and Worst Awards" ประจำ พ.ศ. 2544 โดยเว็บไซต์ GameSpot[92]
  • ได้อันดับที่ห้าในหมวดหมู่ "25 เกมเพลย์สเตชัน 2 ยอดเยี่ยมตลอดกาล" และอันดับที่หกในหมวดหมู่ "10 วิดีโอเกมยอดเยี่ยมแห่งปี" ใน พ.ศ. 2550 โดยเว็บไซต์ IGN[93][94]
  • ได้อันดับที่ 60 ในหมวดหมู่ Reader's Choice ประจำ พ.ศ. 2549 โดยเว็บไซต์ IGN.[95]
  • มีชื่อเป็นหนึ่งใน 20 เกม RPG ญี่ปุ่นที่ต้องได้เล่น โดยเว็บไซต์ Gamasutra[96]
  • ได้อันดับที่ 43 ในหมวดหมู่ "200 เกมยอดเยี่ยมตลอดกาล" โดยนิตยสาร Game Informer[97]
  • เมื่อสิ้น พ.ศ. 2550 Guinness World Records ได้บันทึกไว้ว่าเป็นเกม RPG ที่มียอดจำหน่ายสูงเป็นอันดับที่เก้าของโลก[85]

นักวิจารณ์เกมทั้งในญี่ปุ่นและภูมิภาคตะวันตกได้ให้คะแนนเกม ไฟนอลแฟนตาซี X ไว้ในระดับสูง นิตยสาร Famitsu และ Famitsu PS2 ในญี่ปุ่นได้ให้คะแนน 39/40[98] และผู้อ่านนิตยสาร Famitsu ยังได้ลงคะแนนเสียงให้เป็นเกมยอดเยี่ยมตลอดกาลเมื่อต้น พ.ศ. 2549[99] นิตยสาร The Play Station ซึ่งเป็นของญี่ปุ่นเช่นกัน ได้ให้คะแนน 29/30 นักวิจารณ์ของนิตยสารญี่ปุ่นทั้งสามฉบับได้ให้คะแนนจากความชื่นชมทั้งในด้านเนื้อเรื่อง กราฟิก และภาพยนตร์ประกอบ[98] ขณะที่ในเว็บไซต์ GameRankings ได้จัดระดับคะแนนให้อยู่ที่ 91% และในเว็บไซต์ Metacritic ได้ให้ระดับคะแนนความชื่นชอบที่ 92 จาก 100[82][83] ฮะชิโมะโตะ ชินจิ ผู้สร้างเกม ได้กล่าวว่า กระแสตอบรับของเกมโดยรวมแล้วถือว่า "ยอดเยี่ยม" จากที่ได้รับคำชมและรางวัลจากสื่อต่างๆ[43]

ในทางกลับกัน สื่อบางสำนักก็ได้วิจารณ์เกมนี้ไปในทางลบ นิตยสาร Edge จากสหราชอาณาจักรได้ให้คะแนน้อยกว่าสื่อข้างต้นไปมาก โดยวิจารณ์ว่าไม่ทำให้รู้สึกถึงประสบการณ์ของเกมรุ่นใหม่ ระบบการต่อสู้มีรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่าภาคก่อนๆ หน้า และบทสนทนาดู "น่าคลื่นไส้"[73] Andrew Reiner จากนิตยสาร Game Informer วิจารณ์ว่าเนื้อหาของเกมเป็นเส้นตรงและผู้เล่นไม่สามารถเดินทางด้วยโจโคโบะหรือควบคุมเรือเหาะได้อีกต่อไป[78] Tome Bramwell จากเว็บไซต์ยูโรเกมเมอร์ได้ให้ความเห็นว่า ปริศนาภายในเกมนั้นน่าผิดหวังและมีอยู่มากเกินไป ส่วนผังสเฟียร์นั้นแม้จะดูดี แต่ก็มีอิทธิพลต่อตัวเกมมากเกินไป[74]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. Zdyrko, Dave (2001-11-26). "Final Fantasy X Preview". IGN. สืบค้นเมื่อ 2008-12-14.
  2. 2.0 2.1 Tsai, Andy; Bomke, Christine. "Guides: Final Fantasy X - Game Systems". IGN. สืบค้นเมื่อ 2008-11-25.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  3. Tsai, Andy; Bomke, Christine. "Guides: Final Fantasy X - Sphere Grid". IGN. สืบค้นเมื่อ 2008-11-25.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 Clark, James Quentin (2008-10-06). "Final Fantasy X International". RPGFan. สืบค้นเมื่อ 2008-11-23.
  5. <include
  6. <include
  7. 7.0 7.1 7.2 <include อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "producer" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  8. <include
  9. <include
  10. <include
  11. <include
  12. <include
  13. <include
  14. <include
  15. <include
  16. <include
  17. <include
  18. <include
  19. <include
  20. <include
  21. <include
  22. <include
  23. <include
  24. <include
  25. <include
  26. <include
  27. <include
  28. <include
  29. <include
  30. <include
  31. <include
  32. <include
  33. <include
  34. <include
  35. <include
  36. <include
  37. <include
  38. <include
  39. <include
  40. <include
  41. <include
  42. Long, Andrew. "Financial Fantasy X". RPGamer. สืบค้นเมื่อ November 21, 2008.
  43. 43.0 43.1 Minkley, Johnny (April 15, 2002). "Interview: Square invades London". Computer and Video Games. สืบค้นเมื่อ August 28, 2009.
  44. 44.0 44.1 <include
  45. PSM Staff (February 2001). "Monitor: Final Fantasy X Goes Offline". PlayStation Magazine. Future Publishing (42): 18.
  46. Avistetto, Jimmy. "Final Fantasy X Not Online-Capable". RPGamer. สืบค้นเมื่อ November 23, 2008.
  47. <include
  48. 48.0 48.1 48.2 <include
  49. <include
  50. <include
  51. Huang, Michael. "Interview by RocketBaby.net". nobuouematsu.com. สืบค้นเมื่อ 2008-11-23.
  52. Yukiyoshi Ike Sato (November 29, 2000). "FFX Theme Song Complete". GameSpot. สืบค้นเมื่อ July 1, 2010.
  53. "Nobuo Uematsu - Sound Producer & Music". Square Enix. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  54. Gaan, Patrick; Schweitzer, Ben. "Final Fantasy X OST". RPGFan. สืบค้นเมื่อ 2008-11-26.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  55. Gaan, Patrick; Schweitzer, Ben. "Final Fantasy X OST". RPGFan. สืบค้นเมื่อ March 4, 2008.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  56. Rzeminski, Lucy. "Final Fantasy X Official Soundtrack". RPGFan. สืบค้นเมื่อ March 4, 2008.
  57. "feel/Go dream ~ Yuna & Tidus". RPGFan. สืบค้นเมื่อ March 4, 2008.
  58. Maas, Liz; Thomas, Damian. "Piano Collections Final Fantasy X". RPGFan. สืบค้นเมื่อ March 4, 2008.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  59. Rzeminski, Lucy. "Final Fantasy X Vocal Collection". RPGFan. สืบค้นเมื่อ March 4, 2008.
  60. (February 19, 2003). The Black Mages. DigiCube. SSCX-10080
  61. (December 22, 2004). The Black Mages II: The Skies Above. Universal Music. UPCH-1377
  62. Schnieder, Peer (May 11, 2005). "Dear Friends: Music from Final Fantasy". IGN. สืบค้นเมื่อ March 1, 2006.
  63. "20020220 - Music from FINAL FANTASY". RPGFan. สืบค้นเมื่อ April 1, 2007.
  64. "Distant Worlds - Music from Final Fantasy - Album Information". Square Enix Music Online. สืบค้นเมื่อ February 22, 2008.
  65. "Album Information - Tour de Japon: Music from Final Fantasy DVD". Square Enix Music Online. สืบค้นเมื่อ February 22, 2008.
  66. Chronologist (2001-07-19). "Final Fantasy X Ships, Includes FFXI Trailer". RPGFan. สืบค้นเมื่อ 2008-11-23.
  67. Dunham, Jeremy (2003-11-24). "Final Fantasy X-2 Developer Interview". IGN. สืบค้นเมื่อ 2008-11-24.
  68. Calvert, Justin (2003-09-10). "Final Fantasy X-2: Prologue for US and Europe". GameSpot. สืบค้นเมื่อ 2008-11-26.
  69. Witham, Joseph. "Final Fantasy X International Europe Bound". RPGamer. สืบค้นเมื่อ November 23, 2008.
  70. Gantayat, Anoop (July 1, 2005). "Square Enix Announces Ultimate Hits Collection". IGN. สืบค้นเมื่อ November 23, 2008.
  71. "Final Fantasy X". Square Enix. สืบค้นเมื่อ November 27, 2008.
  72. IGN Staff (August 20, 2001). "Final Fantasy X Ultimania Guide". IGN. สืบค้นเมื่อ November 26, 2008.
  73. 73.0 73.1 <include
  74. 74.0 74.1 Bramwell, Tom (June 16, 2002). "Final Fantasy X Review". Eurogamer. สืบค้นเมื่อ November 23, 2008.
  75. "Final Fantasy - famitsu Scores Archive". Famitsu Scores Archive. สืบค้นเมื่อ July 16, 2008.
  76. Weigand, Mike (December 14, 2001). "GamePro: Final Fantasy X". GamePro. สืบค้นเมื่อ July 13, 2010.
  77. Liu, Johnny (December 1, 2001). "GameRevolution: Final Fantasy X". Game Revolution. สืบค้นเมื่อ July 13, 2010.
  78. 78.0 78.1 Leeper, Justin. "Final Fantasy X". Game Informer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 22, 2005. สืบค้นเมื่อ November 23, 2008.
  79. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ GSpot
  80. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ GSpy
  81. Smith, Daniel (December 18, 2001). "IGN: Final Fantasy X Review". IGN. สืบค้นเมื่อ January 12, 2009.
  82. 82.0 82.1 "Final Fantasy X Reviews". Game Rankings. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  83. 83.0 83.1 "Final Fantasy X (ps2: 2001): Reviews". Metacritic. สืบค้นเมื่อ November 23, 2008.
  84. IGN Staff (July 19, 2001). "Final Fantasy X Sells Like Crazy; World Not Shocked". IGN. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  85. 85.0 85.1 <include
  86. IGN Staff (July 24, 2001). "Final Fantasy X Approaches 2 Million Copies Sold". IGN. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  87. IGN Staff (January 7, 2001). "FFX Tops Sales Charts". IGN. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  88. Varanini, Giancarlo (January 30, 2002). "Final Fantasy X sales meet expectations". GameSpot. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  89. Androvich, Mark (October 26, 2007). "PS2 celebrates 7th anniversary". Gamesindustry.biz. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  90. Calvert, Justin (January 20, 2004). "Final Fantasy X-2 sells a million". GameSpot. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  91. "最優秀賞は「FF10」!! 「第6回 CESA GAME AWARDS」授賞式". GPARA.COM. สืบค้นเมื่อ May 28, 2009.
  92. "The Best and Worst of 2001". GameSpot. สืบค้นเมื่อ July 6, 2010.
  93. IGN PlayStation Team (March 16, 2007). "The Top 25 PS2 Games of All Time". IGN. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  94. "The Top 10 Best Looking PS2 Games of All Time". IGN. May 7, 2010. สืบค้นเมื่อ June 29, 2010.
  95. "Readers' Picks Top 100 Games". IGN. June 20, 2006. สืบค้นเมื่อ June 29, 2010.
  96. Kalata, Kurt (March 19, 2008). "A Japanese RPG Primer – Final Fantasy X". Gamasutra. p. 15. สืบค้นเมื่อ November 25, 2009.
  97. Game Informer staff (December 2009). "The Top 200 Games of All Time". Game Informer (200): 44–79.
  98. 98.0 98.1 IGN Staff (July 13, 2001). "Final Fantasy X Gets Rated in Japan". IGN. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.
  99. Edge Staff (March 3, 2006). "Japan Votes on All Time Top 100". Edge. สืบค้นเมื่อ November 24, 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

แม่แบบ:Link FA