ข้ามไปเนื้อหา

กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศกัมพูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในกัมพูชา (พ.ศ. 2515)

กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชาคือชาวเขมร สำหรับชนกลุ่มน้อยที่มีมากที่สุดคือชาวเวียดนาม อีกจำนวนหนึ่งเป็นลูกหลานของพ่อค้าชาวจีน และกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองเช่นชาวม้ง พนองและไทรวมทั้งกลุ่มอื่นๆที่เรียกชาวเขมรบนหรือแขมร์เลอ.[1] กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยในที่ลุ่มร่วมกับชาวเขมรคือชาวจาม ชาวจีน และชาวเวียดนาม

ชาวเขมร

[แก้]

ชาวเขมรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาจมาจากชาวจามและชนชาติอื่นๆ คาดว่าเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากชาวมอญไม่นาน โดยเข้ามาแทนที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาในกลุ่มภาษามอญ-เขมรและตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนและสร้างจักรวรรดิเขมรขึ้นในอดีต ชาวเขมรยังแบ่งได้เป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่มตามประเทศและภาษาที่ใช้คือชาวเขมรในกัมพูชา พูดภาษาเขมร ชาวเขมรเหนือหรือเขมรสุรินทร์อยู่ในประเทศไทยและพูดภาษาเขมรที่เป็นสำเนียงของตนเองและพูดภาษาไทยด้วย ชาวขแมร์กรอมเป็นชาวเขมรที่อยู่ทางภาคใต้ของเวียดนาม พูดภาษาเขมรที่เป็นสำเนียงของตนเองและพูดภาษาเวียดนาม บางส่วนอพยพเข้าสู่กัมพูชาเพราะถูกบังคับหรือหนีระบอบคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม

ชาวจีน (เจ็น)

[แก้]

มีประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด[2] ส่วนใหญ่เข้ามาตั้งรกรากเมื่อพุทธศตวรรษที่ 23-24 เพื่อมาค้าขาย แบ่งตามภาษาพูดได้เป็น 5 กลุ่มคือ จีนแต้จิ๋ว (60%) จีนกวางตุ้ง (20%) จีนฮกเกี้ยน (7%) จีนฮากกาและจีนไหหลำอย่างละ 4% การแต่งงานระหว่างชาวเขมรและชาวจีนเป็นเรื่องปกติ มีการหลอมรวมเข้ากับสังคมเขมร และยังคงเหลือวัฒนธรรมจีนบางส่วนไว้ ชาวจีนจำนวนมากถูกฆ่าตายในสมัยพล พต แม้จะไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายโดยตรง แต่จะถูกฆ่าไปพร้อมกับชนชั้นสูงของกัมพูชา

ชาวเวียดนาม (ญวน)

[แก้]

ชาวเวียดนามเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีมากที่สุดในกัมพูชา มีผู้อพยพชาวเวียดนามประมาณ 2 ล้านคน ในพื้นที่ต่างๆ ชาวเวียดนามมีความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมกับชาวเขมรน้อยแม้จะพูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกเช่นกัน ชาวเขมรรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาจากอินเดีย ในขณะที่ชาวเวียดนามรับอิทธิพลมาจากจีน ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองชาติเกิดขึ้นเนื่องจากเวียดนามเคยพยายามเข้ายึดครองกัมพูชาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23-24 ซึ่งเป็นช่วงที่กัมพูชาอ่อนแอ ต้องพึ่งพาทั้งไทยและเวียดนาม แต่การดำเนินนโยบายของเวียดนามแข็งกร้าวกว่าเพราะต้องการจัดตั้งรัฐบาลที่ควบคุมโดยเวียดนามปกครองกัมพูชา ต้องการให้ชาวเขมรเปลี่ยนการแต่งกายและภาษาพูด ลูกหลานของชาวเวียดนามในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นผู้ที่บรรพบุรุษมาตั้งถิ่นฐานเมื่อพุทธศตวรรษที่ 25 ไม่ได้พูดภาษาเวียดนามเพียงภาษาเดียวแต่ได้สร้างวัฒนธรรมผสมขึ้น ส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงและยังคงเอกลักษณ์ของตนเองไว้

ชาวไท

[แก้]

มีทั้งชาวไทย ชาวลาว ชาวไทใหญ่และกุลา มีเป็นชนส่วนน้อยในกัมพูชา ชาวไทยส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญและชาวไทยเกาะกงในจังหวัดเกาะกง ชาวลาวมักอยู่กับขนกลุ่มน้อยทางภาคเหนือ ชาวไทใหญ่และกุลาอยู่ในไพลิน ซึ่งภาษาเขมรสำเนียงที่พูดในบริเวณนี้จะได้รับอิทธิพลด้านการออกเสียงและวรรณยุกต์จากภาษาพม่าหรือภาษาไทใหญ่ ชนทั้งสองกลุ่มนี้ มีบทบาทในการค้าพลอย

ชาวจาม

[แก้]
ภาพแกะสลักบนหินที่ปราสาทบายนแสดงกองทัพเรือของจามปาเมื่อสู้รบกับอาณาจักรเขมร

ชาวจามเป็นกลุ่มชนในอดีตที่เคยตั้งอาณาจักรจามปาที่อยู่ทางภาคใต้ของเวียดนาม เคยเป็นทั้งมิตรและศัตรูของอาณาจักรเขมรระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-20 เมื่อจามปาพ่ายแพ้แก่เวียดนามในพุทธศตวรรษที่ 20 ชาวจามส่วนหนึ่งยังอยู่ในเวียดนาม อีกส่วนหนึ่งอพยพมาอยู่กัมพูชา ชาวจามในกัมพูชามีประมาณ 1 ล้านคนและแยกอยู่ในหมู่บ้านต่างหากทางตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง ชาวจามในเวียดนามยังคงนับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ชาวจามในกัมพูชาส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

ชาวเขมรบน (แขมร์ลือ)

[แก้]

ชาวเขมรบนหรือขแมร์เลอเป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาในกลุ่มภาษามอญ-เขมรหรือภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน มักแยกอยู่อย่างโดดเดี่ยวบนที่สูง อยู่กันเป็นเผ่า ไม่ได้รับวัฒนธรรมจากอินเดีย ทำให้มีวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวเขมรโดยทั่วไป ในปัจจุบันพบมากที่จังหวัดมณฑลคีรี จังหวัดสตึงเตรงและจังหวัดรัตนคีรี แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ กลุ่มที่พูดภาษาในกลุ่มภาษามอญ-เขมร ได้แก่ชาวสัมเร ชาวพนอง ชาวสเตียง ชาวกุย ชาวกรุงและชาวตำปวน กับกลุ่มที่พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนได้แก่ชาวราเดและชาวจราย

กลุ่มที่มาอยู่ใหม่

[แก้]

มีชนกลุ่มน้อยบางส่วนในพนมเปญ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อพยพมาใหม่และมีไม่มากนัก เป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงานหรือสังเกตการณ์ เช่นชาวยุโรป ชาวสหรัฐ ชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี ชาวไทย ชาวลาว และชาวรัสเซีย

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-03. สืบค้นเมื่อ 2012-08-23.
  2. http://www.nationmaster.com/graph/peo_eth_gro-people-ethnic-groups

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • Center for Advanced Study (ed): Ethnic Groups in Cambodia. Phnom Penh: Center for Advanced Study, 2009. ISBN 978-99950-977-0-7.
  • Recent article on the status of some minority villages [1]