ข้ามไปเนื้อหา

ธรณีกาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาตราธรณีกาลแสดงตามสัดส่วนของบรมยุค/หินบรมยุคและมหายุค/หินมหายุค โดยซีโนสั้นมาจากซีโนโซอิก นอกจากนี้ยังแสดงเหตุการณ์สำคัญบางอย่างในประวัติศาสตร์โลกและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

มาตราธรณีกาล (อังกฤษ: geologic time scale หรือ geological time scale ย่อว่า GTS) เป็นการแสดงเวลาโดยอ้างอิงจากบันทึกทางธรณีวิทยาของโลก เป็นระบบการหาอายุตามลำดับเวลาที่ใช้การลำดับชั้นหินตามอายุกาล (กระบวนการหาความสัมพันธ์ระหว่างชั้นหินกับเวลา) และธรณีกาลวิทยา ซึ่งเป็นแขนงของธรณีวิทยาที่มีจุดมุ่งหมายในการกำหนดอายุหิน โดยมาตราธรณีกาลนี้ใช้เป็นหลักโดยนักวิทยาศาสตร์โลก (ได้แก่ นักธรณีวิทยา นักบรรพชีวินวิทยา นักธรณีฟิสิกส์ นักธรณีเคมี และนักภูมิอากาศบรรพกาลวิทยา) เพื่ออธิบายการวัดเวลาและความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ในทางธรณีประวัติ มาตราธรณีกาลได้ถูกพัฒนาผ่านการศึกษาชั้นหินและการสังเกตคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น ลักษณะทางวิทยาหิน สมบัติทางแม่เหล็กบรรพกาล และซากดึกดำบรรพ์ การกำหนดมาตรฐานของหน่วยธรณีกาลสากลอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการการลำดับชั้นหินสากล (ICS) ซึ่งเป็นองค์กรประกอบของสหพันธ์วิทยาศาสตร์ธรณีวิทยาสากล (IUGS) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก[1] เพื่อกำหนดหน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาลโลกในแผนภูมิลำดับชั้นหินตามอายุกาลสากล (ICC)[2] ซึ่งใช้ในการแบ่งช่วงเวลาทางธรณีกาล หน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาลนี้จะถูกใช้เพื่อกำหนดหน่วยทางธรณีกาลวิทยา[2]

แม้ว่าบางคำศัพท์ระดับภูมิภาคยังคงมีการใช้อยู่[3] แต่ตารางธรณีกาลในบทความนี้จะสอดคล้องกับการตั้งชื่อ อายุ และรหัสสีที่ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐานโดยคณะกรรมาธิการการลำดับชั้นหินสากล[1][4]

หลักการ

[แก้]

มาตราธรณีกาลเป็นวิธีหนึ่งในการแสดงห้วงเวลาทางธรณีวิทยาที่ลึกซึ้ง โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 4.54 ± 0.05 พันล้านปี[5] มาตราธรณีกาลจัดลำดับชั้นหินตามลำดับเวลา และลำดับเวลาตามการสังเกตการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในลำดับชั้นหินที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาหรือบรรพชีวินวิทยาที่สำคัญ เช่น เหตุการณ์การสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส–พาลีโอจีน ที่กำหนดเป็นขอบล่างของหินยุค/ยุคพาลีโอจีน จึงถือเป็นขอบเขตระหว่างหินยุค/ยุคครีเทเชียสและพาลีโอจีน สำหรับการแบ่งก่อนยุคไครโอเจเนียน จะใช้ขอบเขตที่เป็นตัวเลขโดยไม่มีเกณฑ์ (การกำหนดอายุลำดับชั้นหินมาตรฐานโลก; GSSAs) อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอให้ปรับใช้การแบ่งโดยอ้างอิงกับหินมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักฐานทางหินมากยิ่งขึ้น[6][3]

ในอดีต มีการใช้มาตราธรณีกาลระดับภูมิภาค[3] เนื่องจากความแตกต่างทางลำดับชั้นหินตามลักษณะหินและลำดับชั้นหินทางชีวภาพในหินเทียบเท่าต่าง ๆ ทั่วโลก คณะกรรมาธิการการลำดับชั้นหินสากล (ICS) ได้ทำงานอย่างยาวนานเพื่อประนีประนอมความขัดแย้งทางศัพท์วิทยา โดยการสร้างมาตรฐานที่มีนัยสำคัญทั่วโลก และกำหนดแนวชั้นของลำดับชั้นหินที่สามารถใช้เป็นขอบล่างของหน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาล การกำหนดหน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาลในลักษณะนี้ช่วยให้สามารถใช้ระบบการตั้งชื่อที่เป็นมาตรฐานสากลได้ โดย ICC เป็นตัวแทนของความพยายามนี้

ความสัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์ของหินในการกำหนดตำแหน่งลำดับชั้นหินตามอายุกาล ใช้หลักการสำคัญดังนี้[7][8][9][10]

  • การซ้อนทับ คือ ชั้นหินที่ใหม่กว่าจะอยู่เหนือชั้นหินที่เก่ากว่า ยกเว้นในกรณีที่ลำดับการซ้อนทับถูกพลิกกลับ
  • แนวชั้น คือ ชั้นหินทุกชั้นถูกสะสมตัวในแนวนอนดั้งเดิม[note 1]
  • ความต่อเนื่องในแนวราบ คือ ชั้นหินที่สะสมตัวในแนวราบดั้งเดิมจะขยายตัวออกไปในทุกทิศทาง จนกระทั่งบางลงหรือถูกขัดขวางโดยชั้นหินอื่น
  • การสืบเนื่องทางชีวภาพ (ถ้าสามารถนำมาใช้ได้) คือ แต่ละชั้นหินในลำดับจะมีซากดึกดำบรรพ์ที่โดดเด่น ซึ่งช่วยให้สามารถสืบเนื่องความสัมพันธ์ระหว่างชั้นหินได้ แม้ว่าแนวชั้นระหว่างชั้นหินทั้งสองจะไม่ต่อเนื่องกันก็ตาม
  • ความสัมพันธ์แบบตัดข้าง คือ ลักษณะของหินที่ตัดผ่านหินอื่นจะมีอายุน้อยกว่าหินที่ถูกตัดผ่าน
  • การรวม คือ ชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของหินชนิดหนึ่งที่ฝังอยู่ในหินชนิดที่สองต้องเกิดขึ้นก่อน และถูกฝังในขณะที่หินชนิดที่สองก่อตัวขึ้น
  • ความสัมพันธ์ของรอยชั้นไม่ต่อเนื่อง คือ ลักษณะทางธรณีวิทยาที่แสดงถึงช่วงของการกร่อนหรือการไม่ทับถม แสดงถึงช่วงเวลาที่ไม่มีการสะสมตัวอย่างต่อเนื่อง

ศัพทวิทยา

[แก้]

มาตราธรณีกาลแบ่งออกเป็นหน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาลและหน่วยธรณีกาลวิทยาที่สอดคล้องกัน ซึ่งปรากฏในแผนภูมิลำดับชั้นหินตามอายุกาลสากลที่เผยแพร่โดยคณะกรรมาธิการการลำดับชั้นหินสากล อย่างไรก็ตาม ยังมีการใช้ศัพท์ทางภูมิภาคในบางพื้นที่อยู่

การลำดับชั้นหินตามอายุกาล เป็นองค์ประกอบของการลำดับชั้นหินที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างหินและการวัดสัมพัทธ์ทางธรณีกาล[11] ซึ่งเป็นกระบวนการที่กำหนดชั้นที่แตกต่างระหว่างแนวชั้นที่ระบุไว้ เพื่อแสดงถึงช่วงเวลาสัมพัทธ์ของธรณีกาล

หน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาล เป็นตัวหินทั้งแบบเป็นชั้นหรือไม่เป็นชั้น ซึ่งถูกกำหนดไว้ระหว่างแนวชั้นที่ระบุไว้ ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาในธรณีกาล โดยรวมถึงหินทั้งหมดที่เป็นตัวแทนของช่วงเวลาทางธรณีกาลที่กำหนดไว้เท่านั้น[11] โดยมีหินบรมบุค (eonothem) หินมหายุค (erathem) หินยุค (system) หินสมัย (series) หินกึ่งสมัย (subseries) หินช่วงอายุ (stage) และ หินกึ่งช่วงอายุ (substage) เป็นหน่วยตามลำดับของหน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาล[11] ธรณีกาลวิทยา เป็นสาขาหนึ่งของธรณีวิทยาที่มุ่งเน้นในการกำหนดอายุของหิน ซากดึกดำบรรพ์ และตะกอน ไม่ว่าจะโดยวิธีสัมบูรณ์ (เช่น การหาอายุสัมบูรณ์) หรือวิธีสัมพัทธ์ (เช่น ตำแหน่งทางการลำดับชั้นหิน ภาวะแม่เหล็กบรรพกาล สัดส่วนไอโซโทปเสถียร)[12]

หน่วยธรณีกาลวิทยา เป็นการแบ่งย่อยของธรณีกาล ซึ่งเป็นการแสดงตัวเลขของสมบัติที่เป็นนามธรรม (เวลา)[12] โดยมี บรมยุค (eon) มหายุค (era) ยุค (period) สมัย (epoch) กึ่งสมัย (subepoch) ช่วงอายุ (age) และ กึ่งช่วงอายุ (subage) เป็นหน่วยตามลำดับทางธรณีกาลวิทยา[11] การลำดับเวลาธรณี เป็นสาขาหนึ่งของธรณีกาลวิทยาที่คำนวณเวลาทางธรณีกาลออกมาเป็นตัวเลข[12]

จุดและส่วนชั้นหินแบบฉบับขอบเขตทั่วโลก (GSSP) เป็นจุดอ้างอิงที่ตกลงกันไว้ในระดับสากลในส่วนการลำดับชั้นหิน ซึ่งกำหนดขอบล่างของหินช่วงอายุในมาตราธรณีกาล[13] (และล่าสุดใช้เพื่อกำหนดฐานของหินยุคด้วย)[14]

การกำหนดอายุลำดับชั้นหินมาตรฐานโลก (GSSA)[15] เป็นจุดอ้างอิงตามลำดับเวลาที่เป็นตัวเลขเท่านั้น ใช้ในการกำหนดฐานของหน่วยธรณีกาลวิทยาในช่วงก่อนยุคไครโอเจเนียน จุดเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นอย่างไม่มีเกณฑ์ตายตัว[11] ใช้ในกรณียังไม่มีการกำหนด GSSP ซึ่งการวิจัยกำลังดำเนินอยู่เพื่อระบุ GSSP สำหรับทุกหน่วยที่ยังใช้ GSSA เป็นฐานในปัจจุบัน

การแสดงตัวเลข (การวัดเวลาธรณี) ของหน่วยธรณีกาลวิทยาสามารถเปลี่ยนแปลงได้บ่อยครั้งเมื่อธรณีกาลวิทยาปรับแต่งการวัดเวลาธรณี ขณะที่หน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาลที่เทียบเท่ายังคงเดิมและมีการแก้ไขน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น ในต้นปี พ.ศ. 2565 ขอบเขตระหว่างยุคอีดีแอคารันและยุคแคมเบรียน (หน่วยธรณีกาลวิทยา) ถูกแก้ไขจาก 541 ล้านปีก่อนเป็น 538.8 ล้านปีก่อน แต่หินจำกัดความของขอบเขต (GSSP) ที่ฐานของหินยุคแคมเบรียน และขอบเขตระหว่างหินยุคอีดีแอคารันและหินยุคแคมเบรียน (หน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาล) ยังคงเดิม มีเพียงการวัดเวลาธรณีที่ได้รับการปรับแก้

ค่าตัวเลขบนแผนภูมิ ICC ถูกแสดงในหน่วยล้านปีก่อน (megaannum หรือย่อว่า Ma) เช่น ขอบล่างของยุคจูแรสซิก อยู่ที่ 201.3 ± 0.2 ล้านปีก่อน หมายความว่า ยุคจูแรสซิกมีขอบล่างอยู่ที่ 201,400,000 ปี และมีค่าความไม่แน่นอนอยู่ที่ 200,000 ปี หน่วยเอสไออื่น ๆ ที่ใช้กันทั่วไปโดยนักธรณีวิทยา ได้แก่ พันล้านปี (gigaannum หรือย่อว่า Ga) และ พันปีก่อน (kiloannum หรือย่อว่า ka) ซึ่งมักแสดงเป็นหน่วยที่ปรับเทียบแล้ว (ก่อนปัจจุบัน)

การแบ่งย่อยของธรณีกาล

[แก้]

ตอนต้น (Early) และ ตอนปลาย (Late) ใช้ในธรณีกาลวิทยา เทียบเท่ากับล่าง (Lower) และบน (Upper) ในการลำดับชั้นหินตามอายุกาล เช่น ยุคไทรแอสซิกตอนต้น (Early Triassic Period) ซึ่งเป็นหน่วยธรณีกาลจะเทียบเท่ากับหินยุคไทรแอสซิกล่าง (Lower Triassic Series) ซึ่งเป็นหน่วยการลำดับชั้นหินตามอายุกาล

กล่าวได้ว่า หินที่เป็นตัวแทนของหน่วยการลำดับชั้นหินตามอายุกาลที่เฉพาะเจาะจง คือหน่วยการลำดับชั้นหินนั้น ๆ และเวลาที่หินนั้นก่อตัวขึ้นอยู่ในหน่วยธรณีกาล เช่น หินที่เป็นตัวแทนของหินยุคไซลูเรียน คือ หินยุคไซลูเรียนที่ได้เกิดการทับถมตัวขึ้นในระหว่างยุคไซลูเรียน

ลำดับของหน่วยทางการของมาตราธรณีกาล (ใหญ่ไปเล็ก)
หน่วยลำดับชั้นหินตามอายุกาล (ชั้นหิน) หน่วยธรณีกาลวิทยา (เวลา) ช่วงเวลา[note 2]
หินบรมยุค (Eonothem) บรมยุค (Eon) หลายร้อยล้านปี
หินมหายุค (Erathem) มหายุค (Era) สิบถึงร้อยล้านปี
หินยุค (System) ยุค (Period) ล้านถึงสิบล้านปี
หินสมัย (Series) สมัย (Epoch) แสนถึงสิบล้านปี
หินกึ่งสมัย (Subseries) กึ่งสมัย (Subepoch) พันถึงล้านปี
หินช่วงอายุ (Stage) ช่วงอายุ (Age) พันถึงล้านปี

การตั้งชื่อธรณีกาล

[แก้]

ชื่อของหน่วยธรณีกาลได้รับการกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับหน่วยลำดับชั้นหินที่มีหน่วยอายุทางธรณีวิทยาที่มีชื่อเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนคำนำหน้า (เช่น หินบรมยุคฟาเนอโรโซอิก เป็น บรมยุคฟาเนอโรโซอิก) ชื่อของหินมหายุคในฟาเนอโรโซอิกถูกเลือกเพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ได้แก่ พาลีโอโซอิก (สิ่งมีชีวิตเก่า), มีโซโซอิก (สิ่งมีชีวิตกลาง), และ ซีโนโซอิก (สิ่งมีชีวิตใหม่) ชื่อของหินยุคมีที่มาหลายรูปแบบ บางส่วนระบุถึงตำแหน่งในลำดับเวลา (เช่น พาลีโอจีน) ขณะที่บางชื่อถูกตั้งตามลักษณะของวิทยาหิน (เช่น ครีเทเชียส), ภูมิศาสตร์ (เช่น เพอร์เมียน), หรือเป็นการตั้งชื่อตามชื่อชนเผ่า (เช่น ออร์โดวิเชียน) หินสมัยและหินกึ่งสมัยส่วนใหญ่ที่รู้จักในปัจจุบันจะถูกตั้งชื่อตามตำแหน่งในหินยุค/หินสมัย (ตอนต้น/กลาง/ปลาย) อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการลำดับชั้นหินสากล (ICS) สนับสนุนให้หินสมัยและหินกึ่งสมัยใหม่ทั้งหมดได้รับการตั้งชื่อตามลักษณะภูมิศาสตร์ในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งแบบฉบับหรือชั้นหินประเภทที่ใช้เป็นมาตรฐาน นอกจากนี้ ชื่อของหินช่วงอายุต้องมีที่มาจากลักษณะภูมิศาสตร์ในบริเวณที่ตั้งแบบฉบับของชั้นหินนั้นด้วยเช่นกัน[11]

เวลาก่อนแคมเบรียนมักเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า พรีแคมเบรียน (Precambrian) ซึ่งจัดเป็นอภิมหาบรมยุค (Supereon)[6][note 3]

ช่วงเวลาและศัพทมูลวิทยาของชื่อหินบรมยุค/บรมยุค
ชื่อ ช่วงเวลา ระยะเวลา (ล้านปี) นิรุกติศาสตร์ของชื่อ
ฟาเนอโรโซอิก 541 ถึง 0 ล้านปีก่อน 541 มาจากคำในภาษากรีกว่า φανερός (phanerós, ฟาเนโรส) หมายถึง 'ชัดเจน' หรือ 'มากมาย' และ ζωή (zoḯ, โซอี) หมายถึง 'สิ่งมีชีวิต'
โพรเทอโรโซอิก 2,500 ถึง 541 ล้านปีก่อน 1959 มาจากคำในภาษากรีกว่า πρότερος (próteros, โปรเตโรส) หมายถึง 'อดีต' หรือ 'ก่อนหน้า' และ ζωή (zoḯ, โซอี) หมายถึง 'สิ่งมีชีวิต'
อาร์เคียน 4,000 ถึง 2,500 ล้านปีก่อน 1500 มาจากคำในภาษากรีกว่า αρχή (arche, อาร์คี) หมายถึง 'จุดเริ่มต้น, ต้นกำเนิด'
เฮเดียน ~4,600 ถึง 4,000 ล้านปีก่อน 600 มาจากเฮดีส เทพในปรำปรากรีก
ช่วงเวลาและศัพทมูลวิทยาของชื่อหินมหายุค/มหายุค
ชื่อ ช่วงเวลา ระยะเวลา (ล้านปี) นิรุกติศาสตร์ของชื่อ
ซีโนโซอิก 66 ถึง 0 ล้านปีก่อน 66 มาจากคำในภาษากรีกว่า καινός (kainós, เคโนส) หมายถึง 'ใหม่' และ ζωή (zoḯ, โซอี) หมายถึง 'สิ่งมีชีวิต'
มีโซโซอิก 251.9 ถึง 66 ล้านปีก่อน 185.902 มาจากคำในภาษากรีกว่า μέσο (méso, เมโซ) หมายถึง 'กลาง' และ ζωή (zoḯ, โซอี) หมายถึง 'สิ่งมีชีวิต'
พาลีโอโซอิก 541 ถึง 251.9 ล้านปีก่อน 289.098 มาจากคำในภาษากรีกว่า παλιός (palaiós, ปัลโลส) หมายถึง 'เก่า' และ ζωή (zoḯ, โซอี) หมายถึง 'สิ่งมีชีวิต'
นีโอโพรเทอโรโซอิก 1,000 ถึง 541 ล้านปีก่อน 459 มาจากคำในภาษากรีกว่า νέος (néos, เนโอส) หมายถึง 'ใหม่' หรือ 'เยาว์', πρότερος (próteros, โปรเตโรส) หมายถึง 'อดีต' หรือ 'ก่อนหน้า' และ ζωή (zoḯ, โซอี) หมายถึง 'สิ่งมีชีวิต'
มีโซโพรเทอโรโซอิก 1,600 ถึง 1,000 ล้านปีก่อน 600 มาจากคำในภาษากรีกว่า μέσο (méso, เมโซ) หมายถึง 'กลาง', πρότερος (próteros, โปรเตโรส) หมายถึง 'อดีต' หรือ 'ก่อนหน้า' และ ζωή (zoḯ, โซอี) หมายถึง 'สิ่งมีชีวิต'
แพลีโอโพรเทอโรโซอิก 2,500 ถึง 1,600 ล้านปีก่อน 900 มาจากคำในภาษากรีกว่า παλιός (palaiós, ปัลโลส) หมายถึง 'เก่า', πρότερος (próteros, โปรเตโรส) หมายถึง 'อดีต' หรือ 'ก่อนหน้า' และ ζωή (zoḯ, โซอี) หมายถึง 'สิ่งมีชีวิต'
นีโออาร์เคียน 2,800 ถึง 2,500 ล้านปีก่อน 300 มาจากคำในภาษากรีกว่า νέος (néos, เนโอส) หมายถึง 'ใหม่' หรือ 'เยาว์' และ ἀρχαῖος (arkhaîos, อาร์เคโอส) หมายถึง 'โบราณ'
มีโซอาร์เคียน 3,200 ถึง 2,800 ล้านปีก่อน 400 มาจากคำในภาษากรีกว่า μέσο (méso, เมโซ) หมายถึง 'กลาง' และ ἀρχαῖος (arkhaîos, อาร์เคโอส) หมายถึง 'โบราณ'
พาลีโออาร์เคียน 3,600 ถึง 3,200 ล้านปีก่อน 400 มาจากคำในภาษากรีกว่า παλιός (palaiós, ปัลโลส) หมายถึง 'เก่า' และ ἀρχαῖος (arkhaîos, อาร์เคโอส) หมายถึง 'โบราณ'
อีโออาร์เคียน 4,000 ถึง 3,600 ล้านปีก่อน 400 มาจากคำในภาษากรีกว่า Ηώς (Iós, อีโอส) หมายถึง 'รุ่งอรุณ' และ ἀρχαῖος (arkhaîos, อาร์เคโอส) หมายถึง 'โบราณ'
ช่วงเวลาและศัพทมูลวิทยาของชื่อหินยุค/ยุค
ชื่อ ช่วงเวลา ระยะเวลา (ล้านปี) นิรุกติศาสตร์ของชื่อ
ควอเทอร์นารี 2.6 ถึง 0 ล้านปีก่อน 2.58 เสนอครั้งแรกโดยจูล เดนวยเยในปี พ.ศ. 2372 สำหรับตะกอนในแอ่งแซนของประเทศฝรั่งเศสที่ปรากฏใหม่กว่าหินเทอร์เทียรี[note 4][18]
นีโอจีน 23 ถึง 2.6 ล้านปีก่อน 20.45 มาจากคำในภาษากรีกว่า νέος (néos, เนโอส) หมายถึง 'ใหม่' หรือ 'เยาว์' และ γενεά (geneá, เยเนอา) หมายถึง 'การกำเนิด' หรือ 'การเกิด'
พาลีโอจีน 66 ถึง 23 ล้านปีก่อน 42.97 มาจากคำในภาษากรีกว่า παλιός (palaiós, ปัลโลส) หมายถึง 'เก่า' และ γενεά (geneá, เยเนอา) หมายถึง 'การกำเนิด' หรือ 'การเกิด'
ครีเทเชียส 145 ถึง 66 ล้านปีก่อน ~79 มาจาก Terrain Crétacé (เทอร็อง เครตาเซ) ถูกใช้เมื่อปี ค.ศ. 1822 โดยฌอง แบ็บทิสต์ ฌูเลียง โดมาลียูส ดาลัวในการอ้างอิงถึงชั้นกว้างของชอล์กภายในแอ่งปารีส[19] โดยมีรากมาจากภาษาละติน crēta (เครตา) หมายถึง "ชอล์ก"
จูแรสซิก 201.3 ถึง 145 ล้านปีก่อน ~56.3 ตั้งชื่อตามภูเขาจูลา ใช้เป็นครั้งแรกโดยอเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมบ็อลท์ในวลีว่า 'Jura Kalkstein' (หินปูนจูลา) ในปี ค.ศ. 1799[20] ส่วนอเล็กซองเดรอะ บงนีอาต์เป็นบุคคลแรกที่ตีพิมพ์คำว่า Jurassic ในปี ค.ศ. 1829[21][22]
ไทรแอสซิก 251.9 ถึง 201.3 ล้านปีก่อน 50.602 จากคำว่า Trias (ทรีอัส) ของฟรีดริช เอากุสต์ ฟ็อน อัลแบร์ทีในการอ้างอิงถึงการก่อตัวสามชุดในตอนใต้ของประเทศเยอรมนี
เพอร์เมียน 298.9 ถึง 251.9 ล้านปีก่อน 46.998 ตั้งตามภูมิภาคในประวัติศาสตร์ นั่นคือ เขตปกครองเปียร์ม จักรวรรดิรัสเซีย[23]
คาร์บอนิเฟอรัส 358.9 ถึง 298.9 ล้านปีก่อน 60 หมายถึง 'การแบกถ่านหิน' มาจากภาษาละตินว่า carbō (คาร์โบ) หมายถึง ถ่าน และ ferō (เฟโร) หมายถึง การแบก, การอุ้ม[24]
ดีโวเนียน 419.2 ถึง 358.9 ล้านปีก่อน 60.3 ตั้งตามมณฑลเดวอน ประเทศอังกฤษ[25]
ไซลูเรียน 443.8 ถึง 419.2 ล้านปีก่อน 24.6 ตั้งตามเผ่าไซลูริสของชาวเคลต์[26]
ออร์โดวิเชียน 485.4 ถึง 443.8 ล้านปีก่อน 41.6 ตั้งตามเผ่าออร์โดวิซของชาวเคลต์[27][28]
แคมเบรียน 541 ถึง 485.4 ล้านปีก่อน 55.6 ตั้งตามแคมเบรีย ชื่อละตินของ Cymru หรือประเทศเวลส์[29]
อีดีแอคารัน 635 ถึง 541 ล้านปีก่อน ~94 ตั้งตามเขาอีดีแอคารา โดยคำว่าอีดีแอคาราอาจเพี้ยนมาจากคำว่า 'ยาตา ตาการ์รา' ในภาษาคูยานี หมายถึง พื้นแข็งหรือเป็นหิน[30][31]
ไครโอเจเนียน 720 ถึง 635 ล้านปีก่อน ~85 มาจากคำในภาษากรีกว่า κρύος (krýos, ครีโอส) หมายถึง 'หนาว' และ γενεά (geneá, เยเนอา) หมายถึง 'การกำเนิด' หรือ 'การเกิด'[3]
โทเนียน 1,000 ถึง 720 ล้านปีก่อน ~280 มาจากคำในภาษากรีกว่า τόνος (tónos, โตโนส) หมายถึง 'ยืด'[3]
สเทเนียน 1,200 ถึง 1,000 ล้านปีก่อน 200 มาจากคำในภาษากรีกว่า στενός (stenós, สเตโนส) หมายถึง 'แคบ'[3]
เอกเทเซียน 1,400 ถึง 1,200 ล้านปีก่อน 200 มาจากคำในภาษากรีกว่า ἔκτᾰσῐς (éktasis, เอ็กตาซิส) หมายถึง 'การขยาย'[3]
คาลิมเมียน 1,600 ถึง 1,400 ล้านปีก่อน 200 มาจากคำในภาษากรีกว่า κάλυμμᾰ (kálumma, กาลิมมา) หมายถึง 'บดบัง'[3]
สตาทีเรียน 1,800 ถึง 1,600 ล้านปีก่อน 200 มาจากคำในภาษากรีกว่า σταθερός (statherós, สตาเทโรส) หมายถึง 'มั่นคง'[3]
ออโรซีเรียน 2,050 ถึง 1,800 ล้านปีก่อน 250 มาจากคำในภาษากรีกว่า ὀροσειρά (oroseirá, โอโรเซรา) หมายถึง 'เทือกเขา'[3]
ไรเอเซียน 2,300 ถึง 2,050 ล้านปีก่อน 250 มาจากคำในภาษากรีกว่า ῥύαξ (rhýax, รีอากซ์) หมายถึง 'ธารลาวา'[3]
ไซดีเรียน 2,500 ถึง 2,300 ล้านปีก่อน 200 มาจากคำในภาษากรีกว่า σίδηρος (sídiros, ซีดีโรส) หมายถึง 'เหล็ก'[3]
ช่วงเวลาและศัพทมูลวิทยาของชื่อหินสมัย/สมัยของ ICS
ชื่อ ช่วงเวลา ระยะเวลา (ล้านปี) นิรุกติศาสตร์ของชื่อ
โฮโลซีน 0.012 ถึง 0 ล้านปีก่อน 0.0117 มาจากคำในภาษากรีกว่า ὅλος (hólos, โอโรส) หมายถึง 'ทั้งหมด' และ καινός (kainós, เคนอส) หมายถึง 'ใหม่'
ไพลสโตซีน 2.58 ถึง 0.012 ล้านปีก่อน 2.5683 มาจากคำในภาษากรีกว่า πλεῖστος (pleîstos, พลีสโตส) หมายถึง 'ที่สุด' และ καινός (kainós, เคนอส) หมายถึง 'ใหม่'
ไพลโอซีน 5.33 ถึง 2.58 ล้านปีก่อน 2.753 มาจากคำในภาษากรีกว่า πλείων (pleíōn, พลีออน) หมายถึง 'มากกว่า' และ καινός (kainós, เคนอส) หมายถึง 'ใหม่'
ไมโอซีน 23.03 ถึง 5.33 ล้านปีก่อน 17.697 มาจากคำในภาษากรีกว่า μείων (meíōn, มีออน) หมายถึง 'น้อย' และ καινός (kainós, เคนอส) หมายถึง 'ใหม่'
โอลิโกซีน 33.9 ถึง 23.03 ล้านปีก่อน 10.87 มาจากคำในภาษากรีกว่า ὀλίγος (olígos, โอลีโกส) หมายถึง 'เล็กน้อย' และ καινός (kainós, เคนอส) หมายถึง 'ใหม่'
อีโอซีน 56 ถึง 33.9 ล้านปีก่อน 22.1 มาจากคำในภาษากรีกว่า ἠώς (ēōs, อีโอส) หมายถึง 'รุ่งอรุณ' และ καινός (kainós, เคนอส) หมายถึง 'ใหม่' ซึ่งหมายถึงการเริ่มต้นของชีวิตสมัยใหม่ในยุคนี้
พาลีโอซีน 66 ถึง 56 ล้านปีก่อน 10 คิดค้นโดยวิลเฮล์ม ฟิลิปป์ สคีมเปอร์ในปี 2417 โดยเป็นคำผสมระหว่าง พาลีโอ- + อีโอซีน แต่โดยผิวเผินแล้วมาจากคำในภาษากรีกว่า παλαιός (palaios, ปาเลโอส) หมายถึง 'เก่า' และ καινός (kainós, เคนอส) หมายถึง 'ใหม่'
ครีเทเชียสตอนปลาย 100.5 ถึง 66 ล้านปีก่อน 34.5 ดูยุคครีเทเชียส
ครีเทเชียสตอนต้น 145 ถึง 100.5 ล้านปีก่อน 44.5
จูแรสซิกตอนปลาย
163.5 ถึง 145 ล้านปีก่อน 18.5 ดูยุคจูแรสซิก
จูแรสซิกตอนกลาง 174.1 ถึง 163.5 ล้านปีก่อน 10.6
จูแรสซิกตอนต้น
201.3 ถึง 174.1 ล้านปีก่อน 27.2
ไทรแอสซิกตอนปลาย 237 ถึง 201.3 ล้านปีก่อน 35.7 ดูยุคไทรแอสซิก
ไทรแอสซิกตอนกลาง
247.2 ถึง 237 ล้านปีก่อน 10.2
ไทรแอสซิกตอนต้น 251.9 ถึง 247.2 ล้านปีก่อน 4.702
โลพินเจียน 259.1 ถึง 251.9 ล้านปีก่อน 7.198 ตั้งชื่อตามเมืองเล่อผิง ประเทศจีน (มีการแปลงเป็นอังกฤษเป็นโลผิง) มีความหมายว่า 'ดนตรีอันสงบสุข'
กัวเดลูเปียน 272.95 ถึง 259.1 ล้านปีก่อน 13.85 ตั้งชื่อตามเทือกเขากัวตาลูเปในอเมริกาตะวันตกเฉียงใต้ รากมาจากภาษาอาหรับ وَادِي ٱل (wādī al, วาดีอัล) หมายถึง 'หุบเขาแห่ง' และภาษาลาติน lupus (ลูปุส) หมายถึง 'หมาป่า' ซึ่งผ่านมาทางภาษาสเปน
ซิซูราเลียน 298.9 ถึง 272.95 ล้านปีก่อน 25.95 มาจากภาษาลาติน cis- (ชีส) หมายถึง ก่อน + ภาษารัสเซีย Урал (Ural, อูราล) ซึ่งหมายถึงที่ลาดชันฝั่งตะวันตกของเทือกเขายูรัล
เพนซิลเวเนียนตอนบน 307 ถึง 298.9 ล้านปีก่อน 8.1 ตั้งชื่อตามรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐ มาจากชื่อของวิลเลียม เพน + ภาษาละติน silvanus (ซีลวานุส) หมายถึง ป่า + -ia
เพนซิลเวเนียนตอนกลาง 315.2 ถึง 307 ล้านปีก่อน 8.2
เพนซิลเวเนียนตอนล่าง 323.2 ถึง 315.2 ล้านปีก่อน 8
มิสซิสซิปเปียนตอนบน 330.9 ถึง 323.2 ล้านปีก่อน 7.7 ตั้งชื่อตามแม่น้ำมิสซิสซิปปี มาจากภาษาโอจิบวี ᒥᐦᓯᓰᐱ (misi-ziibi) 'แม่น้ำใหญ่'
มิสซิสซิปเปียนตอนกลาง 346.7 ถึง 330.9 ล้านปีก่อน 15.8
มิสซิสซิปเปียนตอนล่าง 358.9 ถึง 346.7 ล้านปีก่อน 12.2
ดีโวเนียนตอนปลาย 382.7 ถึง 358.9 ล้านปีก่อน 23.8 ดูยุคดีโวเนียน
ดีโวเนียนตอนกลาง 393.3 ถึง 382.7 ล้านปีก่อน 10.6
ดีโวเนียนตอนล่าง 419.2 ถึง 393.3 ล้านปีก่อน 25.9
พริโดลี 423 ถึง 419.2 ล้านปีก่อน 3.8 ตั้งชื่อตามเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ โฮโมลกา อะ พรีโดลี (Homolka a Přídolí) ใกล้ปราก เช็กเกีย
ลัดโลว 427.4 ถึง 423 ล้านปีก่อน 4.4 ตั้งชื่อตามลัดโลว อังกฤษ
เวนล็อก 433.4 ถึง 427.4 ล้านปีก่อน 6 ตั้งชื่อตามสันเวนล็อกในชรอปเชียร์ อังกฤษ
ลานโดเวอรี 443.8 ถึง 433.4 ล้านปีก่อน 10.4 ตั้งชื่อตามลานโดเวอรี เวลส์
ออร์โดวิเชียนตอนบน 458.4 ถึง 443.8 ล้านปีก่อน 14.6 ดูยุคออร์โดวิเชียน
ออร์โดวิเชียนตอนกลาง 470 ถึง 458.4 ล้านปีก่อน 11.6
ออร์โดวิเชียนตอนล่าง 485.4 ถึง 470 ล้านปีก่อน 15.4
ฝูหรงเจียน 497 ถึง 485.4 ล้านปีก่อน 11.6 มาจากภาษาจีนกลาง 芙蓉 (fúróng, ฝูหรง) 'ดอกบัว' มาจากสัญลักษณ์ของมณฑลหูหนาน
เมียวลิงเจียน 509 ถึง 497 ล้านปีก่อน 12 ตั้งชื่อตามภูเขาเมี่ยวหลิง [zh] ภูเขาในมณฑลกุ้ยโจว ในภาษาจีนกลางหมายถึง ยอดอ่อนที่แทงออกมา
หินสมัยแคมเบรียน 2 (ไม่เป็นทางการ) 521 ถึง 509 ล้านปีก่อน 12 ดูยุคแคมเบรียน
สมัยแตร์นูเวียน 541 ถึง 521 ล้านปีก่อน 20 ตั้งชื่อตามเตร์-เนิร์ฟคำยืมของภาษาภาษาฝรั่งเศสของเกาะนิวฟันด์แลนด์

ประวัติของมาตราธรณีกาล

[แก้]
วังวนธรณีกาล แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์อันยาวนาน 4.6 พันล้านปีของโลกตั้งแต่อภิมหาบรมยุคพรีแคมเบรียนจนถึงปัจจุบัน

ประวัติช่วงต้น

[แก้]

ในขณะที่มาตราธรณีกาลสมัยใหม่ยังไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นจนกระทั่งปี 2454[32] โดยอาร์เธอร์ โฮล์มส์ แนวคิดที่ว่าหินและเวลาเกี่ยวข้องกันสามารถย้อนไปได้ถึงปรัชญาของกรีกโบราณ เซนอฟะนีสแห่งโคลอฟอน (ประมาณ 570–487 ปีก่อนคริสตกาล) ได้สังเกตชั้นหินที่มีซากดึกดำบรรพ์ของเปลือกหอยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล เขามองว่าสิ่งเหล่านี้เคยเป็นสิ่งมีชีวิตและใช้ข้อสังเกตนี้เพื่ออธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่แน่นอนระหว่างทะเลและแผ่นดินซึ่งทะเลได้เคลื่อนตัวรุกล้ำเข้ามาและถอนตัวกลับในบางช่วงเวลา[33] แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับจากนักปรัชญาร่วมสมัยของเซนอฟะนีสและผู้ที่ตามมารวมถึงอาริสโตเติล (384–322 ปีก่อนคริสตกาล) ผู้ซึ่งได้เหตุผลเพิ่มเติมว่าตำแหน่งของแผ่นดินและทะเลได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาที่ยาวนาน แนวคิดของ "ห้วงเวลาลึก" ยังได้รับการยอมรับจากนักธรรมชาติวิทยาชาวจีน เซิน กัว[34] (ค.ศ. 1031–1095) และนักปราชญ์ชาวอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มภราดรภาพแห่งความบริสุทธิ์ที่เขียนถึงกระบวนการการเกิดชั้นหินตามกาลเวลาในตำราเรียนของพวกเขา[33] งานของพวกเขาน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักปราชญ์ชาวเปอร์เซียในศตวรรษที่ 11 อิบน์ ซีนา (ค.ศ. 980–1037) ผู้ซึ่งเขียนใน The Book of Healing (ค.ศ. 1027) เกี่ยวกับแนวคิดของการเกิดชั้นหินและการวางซ้อน ซึ่งเป็นการเขียนล่วงหน้านิโคลัส สเตโน กว่าหกร้อยปี[33] อิบน์ ซีนายังรับรู้ว่าซากดึกดำบรรพ์เป็น "การกลายเป็นหินของร่างกายของพืชและสัตว์"[35] โดยในศตวรรษที่ 13 อัลแบร์ตุส มาญุส บาทหลวงคณะดอมินิกัน (ประมาณ ค.ศ. 1200–1280) ได้ขยายความคิดนี้เป็นทฤษฎีของเหลวที่ทำให้เกิดการกลายเป็นหิน[36][ต้องการตรวจสอบความถูกต้อง] งานเหล่านี้ดูเหมือนจะมีอิทธิพลน้อยต่อนักวิชาการในยุโรปยุคกลางที่หันไปหาคัมภีร์ไบเบิลเพื่ออธิบายกำเนิดของซากดึกดำบรรพ์และการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ซึ่งมักอ้างถึง 'น้ำท่วมใหญ่' รวมถึง ริสโตโร ดาเรซโซ ในปี ค.ศ. 1282[33] จนกระทั่งสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลีเมื่อเลโอนาร์โด ดา วินชี (ค.ศ. 1452–1519) ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดชั้นหิน การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล และเวลา โดยปฏิเสธการอ้างซากดึกดำบรรพ์กับ 'น้ำท่วมใหญ่'[37][33]:

ถึงความโง่เขลาและความไม่รู้ของผู้ที่คิดว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถูกพัดพามายังสถานที่ที่ห่างไกลจากทะเลโดยน้ำท่วม...ทำไมเราถึงพบเศษชิ้นและเปลือกหอยเต็มในระหว่างชั้นหินต่าง ๆ เว้นแต่พวกมันเคยอยู่ที่ชายฝั่งและถูกปกคลุมโดยดินที่เพิ่งถูกนำขึ้นมาจากทะเลซึ่งต่อมากลายเป็นหิน? และหากน้ำท่วมใหญ่ดังกล่าวได้พัดพาพวกมันมายังที่เหล่านี้จากทะเล คุณจะพบเปลือกหอยที่ขอบชั้นหินเพียงชั้นเดียว ไม่ใช่ที่ขอบของหลายชั้นที่สามารถนับฤดูหนาวของปีที่ทะเลเพิ่มชั้นทรายและโคลนที่ถูกแม่น้ำใกล้เคียงนำมาปกคลุมชายฝั่ง และหากคุณต้องการบอกว่าต้องมีน้ำท่วมหลายครั้งเพื่อผลิตชั้นเหล่านี้และเปลือกหอยในนั้น ก็จำเป็นที่คุณจะต้องยืนยันว่าน้ำท่วมดังกล่าวเกิดขึ้นทุกปี

มุมมองเหล่านี้ของดา วินชีไม่ได้รับการตีพิมพ์ และจึงไม่มีอิทธิพลในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม คำถามเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์และความสำคัญของพวกมันยังคงถูกค้นหา และในขณะที่มุมมองที่ขัดกับพระธรรมปฐมกาลไม่เป็นที่ยอมรับง่ายนักและการแสดงความเห็นต่างจากหลักศาสนาบางทีก็ไม่ปลอดภัย นักวิชาการ เช่น จิโรลาโม ฟราคาสโตโรเห็นด้วยกับดา วินชี และพบว่าการอ้างซากดึกดำบรรพ์กับ 'น้ำท่วมใหญ่' นั้นไร้เหตุผล[33]

การจัดตั้งหลักการเบื้องต้น

[แก้]

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 นีลส์ สตีโน หรือที่รู้จักกันในชื่อ นิโคลัส สตีโน (ค.ศ. 1638–1686) ได้กล่าวถึงหลักการพื้นฐานของวิชาลำดับชั้นหิน[33] สตีโนกล่าวถึงหลักการสี่ข้อในผลงานของเขา De solido intra solidum naturaliter contento dissertationis prodromus ดังนี้[7][38]:

  • เมื่อชั้นหินใด ๆ กำลังถูกสร้างขึ้น วัตถุทั้งหมดที่อยู่บนชั้นหินนั้นเป็นของเหลว ดังนั้นเมื่อชั้นหินที่ต่ำที่สุดกำลังถูกสร้างขึ้น ชั้นหินที่อยู่ด้านบนยังไม่มีอยู่
  • ...ชั้นหินที่ตั้งฉากกับแนวราบหรือเอียงไปทางแนวราบนั้น ในอดีตเคยขนานกับแนวราบ
  • เมื่อชั้นหินใด ๆ กำลังถูกสร้างขึ้น ขอบของมันจะถูกล้อมรอบด้วยวัตถุแข็งอื่น หรือมันครอบคลุมทั้งโลก ดังนั้น หากเห็นขอบของชั้นหินที่เปิดเผย จะต้องมีการต่อเนื่องของชั้นหินเดียวกันหรือพบวัตถุแข็งอื่นที่กั้นไม่ให้วัสดุของชั้นหินกระจายออกไป
  • หากมีวัตถุหรือความไม่ต่อเนื่องที่ตัดผ่านชั้นหิน ชั้นหินนั้นต้องเกิดขึ้นก่อนวัตถุหรือความไม่ต่อเนื่องนั้น

หลักการเหล่านี้คือ หลักการของการวางซ้อน (Principle of Superposition), ความเป็นแนวราบดั้งเดิม (Principle of Original Horizontality), การต่อเนื่องด้านข้าง (Principle of Lateral Continuity), และความสัมพันธ์ของการตัดขวาง (Principle of Cross-Cutting Relationships) จากหลักการเหล่านี้ สตีโนได้สรุปว่าชั้นหินถูกวางเรียงต่อ ๆ กันเป็นลำดับ และสามารถอนุมานเวลาได้ (ในความเชื่อของสตีโนคือเวลาเริ่มต้นจากการสร้างโลก) แม้ว่าหลักการของสตีโนจะได้รับความสนใจอย่างมาก แต่การประยุกต์ใช้ยังคงเป็นเรื่องท้าทาย[33] หลักการพื้นฐานเหล่านี้ แม้ว่าจะได้รับการปรับปรุงและมีการตีความที่ละเอียดมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นหลักการสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ของชั้นหินตามช่วงเวลาทางธรณีวิทยา

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักธรณีวิทยาตระหนักว่า:

  • ลำดับของชั้นหินมักจะถูกกร่อน ถูกบิดให้ผิดรูป ถูกทำให้เอียง หรือแม้แต่เกิดการกลับด้านหลังจากการถูกทับถมแล้ว
  • ชั้นหินที่วางตัวในเวลาเดียวกันแต่ต่างพื้นที่กัน อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง
  • ชั้นหินของพื้นที่หนึ่ง ๆ เป็นเพียงส่วนเดียวของประวัติอันยาวนานของโลกเท่านั้น

การกำหนดมาตราธรณีกาลสมัยใหม่

[แก้]

การแบ่งแยกอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนครั้งแรกของบันทึกทางธรณีวิทยาในเชิงเวลา ถูกนำเสนอโดยโทมัส เบอร์เน็ต ซึ่งได้ใช้คำศัพท์แบ่งออกเป็นสองประเภทสำหรับภูเขา โดยระบุว่า "montes primarii" สำหรับหินที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่ง 'น้ำท่วมใหญ่' และ "monticulos secundarios" ซึ่งเป็นภูเขาที่เกิดขึ้นจากเศษหินของ "primarii" ภายหลัง[39][33] การอ้างถึง 'น้ำท่วมใหญ่' นี้ แม้จะถูกตั้งคำถามโดยบุคคล เช่น เลโอนาร์โด ดา วินชี ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็เป็นพื้นฐานของทฤษฎีเนปจูนนิยมของอับราฮัม ก็อทท์ลบ เวร์เนร์ (ค.ศ. 1749–1817) ที่กล่าวว่าหินทั้งหมดตกตะกอนจากมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียว[40] ทฤษฎีคู่แข่งคือ ทฤษฎีพลูโตนิยม ซึ่งพัฒนาโดยอันตอน โมโร (ค.ศ. 1687–1784) และใช้การแบ่งแยกแบบหลักและรองสำหรับหน่วยหินเช่นกัน[41][33] ในทฤษฎีพลูโตนิยมแบบแรกนี้ ภายในของโลกถูกมองว่าร้อน และความร้อนนี้เป็นตัวขับเคลื่อนการสร้างหินอัคนีและหินแปรแบบหลัก และหินรองเกิดจากตะกอนที่บิดเบี้ยวและมีซากดึกดำบรรพ์ การแบ่งแยกแบบหลักและรองนี้ได้ถูกขยายเพิ่มเติมโดยโจวันนี ตาร์โจนี โตเซตติ (ค.ศ. 1712–1783) และโจวันนี อาร์ดูอิโน (ค.ศ. 1713–1795) เพื่อรวมถึงการแบ่งแยกระดับตติยภูมิและจตุรภูมิ[33] การแบ่งแยกเหล่านี้ถูกใช้เพื่ออธิบายทั้งเวลาที่หินถูกวางตัว และการสะสมของหินเอง (เช่น การกล่าวว่าหินตติยภูมิ (เทอร์เทียรี) และยุคตติยภูมิ (เทอร์เทียรี) ถูกต้อง) ปัจจุบันมีเพียงการแบ่งแยกจตุรภูมิ (ควอเทอนารี) เท่านั้นที่ยังคงอยู่ในมาตราธรณีกาลสมัยใหม่ ในขณะที่การแบ่งแยกตติยภูมิยังคงใช้อยู่จนถึงต้นศตวรรษที่ 21 ทฤษฎีเนปจูนนิยมและพลูโตนิยม มีการถกเถียงกันไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 โดยงานของเจมส์ ฮัตตัน (ค.ศ. 1726–1797) โดยเฉพาะทฤษฎี Theory of the Earth ที่นำเสนอครั้งแรกต่อราชสมาคมแห่งเอดินบะระในปี ค.ศ. 1785[42][8][43] เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขข้อถกเถียงนี้ ทฤษฎีของฮัตตันต่อมากลายเป็นที่รู้จักในนาม ทฤษฎีภาวะเอกรูป (uniformitarianism) ซึ่งถูกเผยแพร่โดยจอห์น เพลย์แฟร์[44] (ค.ศ. 1748–1819) และต่อมาโดยชาร์ลส์ ไลเอล (ค.ศ. 1797–1875) ในหนังสือ Principles of Geology[9][45][46] ทฤษฎีเหล่านี้ได้โต้แย้งอายุ 6,000 ปีของโลกที่ถูกเสนอโดยเจมส์ อัชเชอร์ผ่านการลำดับเวลาด้วยคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นที่ยอมรับในขณะนั้น โดยใช้หลักฐานทางธรณีวิทยา พวกเขาโต้แย้งว่าโลกมีอายุเก่าแก่กว่านั้นมาก สร้างแนวคิดเรื่องเวลาดึกดำบรรพ์

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 วิลเลียม สมิธ, ฌ็อฌ กูวีเย, ฌ็อง โดมาลียูส ดาลัว และอเล็กซองเดรอะ บงนีอาต์ ได้บุกเบิกการแบ่งแยกหินอย่างเป็นระบบตามชั้นหินและกลุ่มซากดึกดำบรรพ์ นักธรณีวิทยาเหล่านี้เริ่มใช้ชื่อตามท้องถิ่นที่กำหนดให้กับหน่วยหินในความหมายที่กว้างขึ้น โดยเชื่อมโยงชั้นหินข้ามพรมแดนระดับชาติและทวีปตามความคล้ายคลึงกัน หลายชื่อที่อยู่ต่ำกว่าระดับหินมหายุค/มหายุคในมาตราธรณีกาลสมัยใหม่ ถูกกำหนดในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 19

การมาถึงของธรณีกาลมาตรวิทยา

[แก้]

ในช่วงศตวรรษที่ 19 การถกเถียงเกี่ยวกับอายุของโลกกลับมาอีกครั้ง โดยนักธรณีวิทยาประเมินอายุจากอัตราการเกลี่ยผิวแผ่นดินและความหนาของชั้นตะกอนหรือเคมีของมหาสมุทร ส่วนฟิสิกส์กำหนดอายุสำหรับการเย็นตัวของโลกหรือดวงอาทิตย์โดยใช้อุณหพลศาสตร์พื้นฐานหรือฟิสิกส์วงโคจร[5] การประมาณการเหล่านี้แตกต่างกันตั้งแต่ 15,000 ล้านปีถึง 0.075 ล้านปี ขึ้นอยู่กับวิธีการและผู้เขียน แต่การประมาณการของลอร์ดเคลวินและคลาเรนซ์ คิงถือว่าได้รับการยอมรับอย่างสูงในเวลานั้นเนื่องจากความเชี่ยวชาญของพวกเขาในสาขาฟิสิกส์และธรณีวิทยา นับธรณีกาลมาตรวิทยา (geochronometry) ในยุคแรกๆ เหล่านี้ต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าผิดทั้งหมด

การค้นพบการสลายตัวกัมมันตรังสีโดยอ็องตวน อ็องรี แบ็กแรล มารี กูว์รี และปีแยร์ กูว์รี ได้วางรากฐานสำหรับการหาอายุด้วยรังสี แต่ความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการกำหนดอายุด้วยรังสีที่แม่นยำจะยังไม่มีให้ใช้งานได้จนถึงช่วงกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1950[5] ความพยายามในยุคแรก ๆ ในการกำหนดอายุของแร่ยูเรเนียมและหินโดยเออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด เบอร์ทรัม โบลต์วูด โรเบิร์ต สตรัตต์ และอาเธอร์ โฮล์มส์ จะนำไปสู่สิ่งที่ถือเป็นมาตราธรณีกาลระหว่างประเทศครั้งแรกโดยโฮล์มส์ในปี 1911 และ 1913[32][47][48] การค้นพบไอโซโทปในปี 1913[49] โดยเฟรเดอริก ซอดดี และการพัฒนาในเครื่องแมสสเปกโตรเมทรีที่บุกเบิกโดยฟรานซิส วิลเลียม แอสตัน อาเธอร์ เจฟฟรีย์ เดมป์สเตอร์ และอัลเฟรด โอ. ซี. เนียร์ ในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 จะทำให้สามารถกำหนดอายุด้วยรังสีได้อย่างแม่นยำ โดยโฮล์มส์ได้ตีพิมพ์การแก้ไขหลายครั้งในมาตราธรณีกาลของเขา โดยมีฉบับสุดท้ายในปี 1960[5][48][50][51]

มาตราธรณีกาลสากลสมัยใหม่

[แก้]

การจัดตั้ง IUGS ในปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961)[52] และการยอมรับของคณะกรรมการการลำดับชั้นหิน (Commission on Stratigraphy) (มีผลบังคับในปี พ.ศ. 2508 หรือ ค.ศ. 1965)[53] เพื่อเป็นคณะกรรมการสมาชิกของ IUGS นำไปสู่การก่อตั้ง ICS หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของ ICS คือ "การจัดตั้ง, การเผยแพร่ และการปรับปรุงแผนภูมิการลำดับชั้นหินตามอายุกาลสากลของ ICS (International Chronostratigraphic Chart; ICC) ซึ่งเป็นมาตรฐานอ้างอิงที่ทั่วโลกใช้กันสำหรับธรณีกาลเพื่อรวมการตัดสินใจที่ผ่านการรับรองของคณะกรรมการ"[1]

ต่อจากการทำงานของโฮล์มส์ มีการตีพิมพ์หนังสือมาตราธรณีกาล (Geological Time Scale; GTS) ในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982)[54], พ.ศ. 2532 (1989)[55], พ.ศ. 2547 (2004)[56], พ.ศ. 2551 (2008)[57], พ.ศ. 2555 (2012)[58], พ.ศ. 2559 (2016)[59], และ พ.ศ. 2563 (2020)[60] อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 (2013) เป็นต้นมา ICS ได้เข้ามารับผิดชอบในการผลิตและจัดจำหน่ายแผนภูมิ ICC เนื่องจากธรรมชาติทางการค้า, การสร้างสรรค์อิสระ, และขาดการกำกับดูแลจาก ICS ของเวอร์ชัน GTS ที่ตีพิมพ์ก่อนปี พ.ศ. 2556 (2013) (แม้ว่าเวอร์ชันเหล่านี้จะตีพิมพ์ในความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ICS)[2] หนังสือมาตราธรณีกาลหลังจากปี พ.ศ. 2556 (2013) (2559[59] และ 2563[60]) เป็นสิ่งพิมพ์เชิงพาณิชย์ที่ไม่มีการกำกับดูแลจาก ICS และไม่สอดคล้องกับแผนภูมิที่ผลิตโดย ICS โดยสมบูรณ์ แผนภูมิ GTS ที่ผลิตโดย ICS จะมีการกำหนดเวอร์ชัน (ปี/เดือน) โดยเริ่มที่ v2013/01 และมีการตีพิมพ์อย่างน้อยหนึ่งเวอร์ชันใหม่ในแต่ละปีซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านการรับรองจาก ICS ตั้งแต่เวอร์ชันก่อนหน้า

ข้อเสนอแก้ไขสำคัญต่อแผนภูมิการลำดับชั้นหินตามอายุกาลสากล

[แก้]

การเสนอเพิ่มหินสมัย/สมัยแอนโทรโปซีน

[แก้]

ได้รับการเสนอครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000)[61] แอนโทรโปซีนเป็นหินสมัย/สมัยที่เสนอขึ้นสำหรับช่วงเวลาล่าสุดในประวัติศาสตร์ของโลก แม้ว่ายังคงเป็นคำที่ไม่เป็นทางการ แต่ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่อบ่งบอกถึงช่วงเวลาทางธรณีวิทยาปัจจุบัน ซึ่งสภาพและกระบวนการต่าง ๆ บนโลกถูกเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งโดยผลกระทบจากมนุษย์[62] ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) แอนโทรโปซีนยังไม่ได้รับการให้สัตยาบันโดย ICS; อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) กลุ่มทำงานแอนโทรโปซีนได้ลงมติเห็นชอบในการยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการต่อ ICS เพื่อจัดตั้งหินสมัย/สมัยแอนโทรโปซีน[63] อย่างไรก็ตาม การนิยามแอนโทรโปซีนเป็นช่วงเวลาทางธรณีวิทยาแทนที่จะเป็นเหตุการณ์ทางธรณีวิทยายังคงเป็นที่ถกเถียงและยากลำบาก[64][65][66][67]

ข้อเสนอในการแก้ไขเส้นเวลาก่อนยุคไครโอเจเนียน

[แก้]

ชิลด์และคณะ 2564

[แก้]

กลุ่มทำงานนานาชาติของคณะกรรมการการลำดับชั้นหินเกี่ยวกับการแบ่งย่อยลำดับชั้นหินตามอายุกาลช่วงก่อนยุคไครโอเจเนียน ได้วางแบบแผนเพื่อปรับปรุงมาตราธรณีกาลก่อนยุคไครโอเจเนียนให้สอดคล้องกับมาตราธรณีกาลหลังยุคโทเนียน[6] ผลงานนี้ได้ประเมินประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของบรมยุคและมหายุคที่กำหนดไว้ในปัจจุบันของอภิมหาบรมยุคพรีแคมเบรียน[note 3] และข้อเสนอในหนังสือ "Geological Time Scale" ปี 2004[68], 2012[3], และ 2020[69] การแนะนำการปรับปรุง[6] ของพวกเขาในมาตราธรณีกาลก่อนยุคไครโอเจเนียนเป็นดังนี้ (การเปลี่ยนแปลงจากมาตราปัจจุบัน [v2023/09] เน้นด้วยตัวเอียง):

  • การแบ่งบรมยุคอาร์เคียนเป็นสามส่วนแทนที่จะเป็นสี่ส่วนโดยการลบมหายุคอีโออาร์เคียนออก และการแก้ไขคำจำกัดความของธรณีกาลมาตรวิทยา พร้อมกับการจัดตำแหน่งยุคไซดีเรียนใหม่ ไปยังส่วนสุดท้ายของมหายุคนีโออาร์เคียน และการแบ่งยุคกราเชียเพิ่มหากเป็นไปได้ในมหายุคนีโออาร์เคียน
    • บรมยุคอาร์เคียน (4000–2450 ล้านปี)
      • มหายุคพาลีโออาร์เคียน (4000–3500 ล้านปี)
      • มหายุคมีโซอาร์เคียน (3500–3000 ล้านปี)
      • มหายุคนีโออาร์เคียน (3000–2450 ล้านปี)
        • ยุคกราเชีย (Kratian) (ไม่มีเวลาที่แน่นอน แต่อยู่ก่อนยุคไซดีเรียน) – ชื่อมาจากภาษากรีก κράτος (krátos, กราโตส) หมายถึง 'ความแข็งแกร่ง'
        • ยุคไซดีเรียน (?–2450 ล้านปี) – ย้ายจากบรมยุคโพรเทอโรโซอิกไปยังส่วนสุดท้ายของบรมยุคอาร์เคียน ไม่มีเวลาที่แน่นอน แต่ฐานของมหายุคแพลีโอโพรเทอโรโซอิกจะเป็นจุดสิ้นสุดของยุคไซดีเรียน
  • การปรับปรุงธรณีกาลมาตรวิทยาของบรมยุคโพรเทอโรโซอิก แพลีโอโพรเทอโรโซอิก การจัดตำแหน่งใหม่ของยุคสตาทีเรียนไปยังมหายุคมีโซโพรเทอโรโซอิก ตั้งยุค/หินยุคสกูเรียนใหม่ขึ้นในมหายุคแพลีโอโพรเทอโรโซอิก ยุค/หินยุคคลีเซียน หรือ ซินเดียนในมหายุคนีโอโพรเทอโรโซอิก
    • มหายุคแพลีโอโพรเทอโรโซอิก (2450–1800 ล้านปี)
      • ยุคสกูเรียน (Skourian) (2450–2300 ล้านปี) – ชื่อมาจากภาษากรีก σκουριά (skouriá, สกูรียา) หมายถึง 'สนิม'
      • ยุคไรเอเซียน (2300–2050 ล้านปี)
      • ยุคออโรซีเรียน (2050–1800 ล้านปี)
    • มหายุคมีโซโพรเทอโรโซอิก (1800–1000 ล้านปี)
      • ยุคสตาทีเรียน (1800–1600 ล้านปี)
      • ยุคคาลิมเมียน (1600–1400 ล้านปี)
      • ยุคเอกเทเซียน (1400-1200 ล้านปี)
      • ยุคสเทเนียน (1200–1000 ล้านปี)
    • มหายุคนีโอโพรเทอโรโซอิก (1000–538.8 ล้านปี)[note 5]
      • ยุคคลีเซียน (Kleisian) หรือ ยุคซินเดียน (Syndian) (1000–800 ล้านปี) – ชื่อมาจากภาษากรีก κλείσιμο (kleísimo, คลีซีโม) หมายถึง 'การปิด' และ σύνδεση (sýndesi, ซินเดซี) หมายถึง 'การเชื่อมต่อ' ตามลำดับ
      • ยุคโทเนียน (800–720 ล้านปี)
      • ยุคไครโอเจเนียน (720–635 ล้านปี)
      • ยุคอีดีแอคารัน (635–538.8 ล้านปี)

ฟาน กราเนนดอนก์และคณะ 2555 (GTS2012)

[แก้]

หนังสือ Geologic Time Scale 2012 เป็นการตีพิมพ์เชิงพาณิชย์ครั้งสุดท้ายของแผนภูมิการลำดับชั้นหินตามอายุกาลสากลที่เกี่ยวข้องกับ ICS อย่างใกล้ชิด[2] มันได้รวมข้อเสนอในการแก้ไขลำดับเวลาก่อนยุคไครโอเจเนียนอย่างมากเพื่อสะท้อนถึงเหตุการณ์สำคัญ เช่น การก่อตัวของระบบสุริยะและเหตุการณ์การออกซิเดชันครั้งใหญ่ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาศัพท์ธรณีกาลที่ใช้มาก่อนหน้านี้สำหรับช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง[70] ณ เดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่ได้รับการยอมรับจาก ICS การเปลี่ยนแปลงที่เสนอ (การเปลี่ยนแปลงจากมาตราปัจจุบัน [v2023/09]) แสดงเป็นตัวเอียง:

  • บรมยุคเฮเดียน (4567–4030 ล้านปี)
  • บรมยุค/หินบรมยุคอาร์เคียน (4030–2420 ล้านปี)
    • มหายุค/หินมหายุคพาลีโออาร์เคียน (4030–3490 ล้านปี)
    • มหายุค/หินมหายุคมีโซอาร์เคียน (3490–2780 ล้านปี)
      • ยุค/หินยุควาลบารัน (Vaalbaran) (3490–3020 ล้านปี) – ตั้งชื่อตามชื่อของหินฐานธรณีคาปวาล (ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา) และ หินฐานธรณีพีลบารา (รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย)[58]
      • ยุค/หินยุคปอนโกลัน (Pongolan) (3020–2780 ล้านปี) – ตั้งชื่อตามซูเปอร์กรุ๊ปปอนโกลา อ้างอิงถึงหลักฐานที่เก็บรักษาไว้อย่างดีของชุมชนจุลชีพบนบกในหินเหล่านั้น[58]
    • มหายุค/หินมหายุคนีโออาร์เคียน (2780–2420 ล้านปี)
  • บรมยุค/หินบรมยุคโพรเทอโรโซอิก (2420–538.8 ล้านปี)[note 5]
    • มหายุค/หินมหายุคแพลีโอโพรเทอโรโซอิก (2420–1780 ล้านปี)
      • ยุค/หินยุคออกซีเจเนียน (Oxygenian) (2420–2250 ล้านปี) – ตั้งชื่อตามการแสดงหลักฐานชิ้นแรกสำหรับการออกซิไดซ์ชั้นบรรยากาศทั่วโลก[58]
      • ยุค/หินยุคจาตูเลียน (Jatulian) หรือ ยูแคเรียน (Eukaryian) (2250–2060 ล้านปี) – ตั้งชื่อตามเหตุการณ์การแพร่กระจายของไอโซโทป Lomagundi–Jatuli δ13C ในช่วงยุค และการพบซากดึกดำบรรพ์แรกของยูแคริโอต (เสนอ)[73][74] การปรากฏครั้งแรกของซากดึกดำบรรพแรกยูแคริโอต[58]
      • ยุค/หินยุคโคลัมเบียน (Columbian) (2060–1780 ล้านปี) – ตั้งชื่อตามมหาทวีปโคลัมเบีย[58]
    • มหายุค/หินมหายุคมีโซโพรเทอโรโซอิก (1780–850 ล้านปี)
      • ยุค/หินยุคโรดีเนียน (Rodinian) (1780–850 ล้านปี) – ตั้งชื่อตามมหาทวีปโรดีเนีย ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เสถียร[58]

ตารางธรณีกาล

[แก้]

ตารางต่อไปนี้เป็นการสรุปเหตุการณ์สำคัญและลักษณะของการแบ่งช่วงเวลาที่ประกอบเป็นมาตราธรณีกาลของโลก ตารางนี้จัดเรียงช่วงเวลาทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นล่าสุดไว้ด้านบนและช่วงเวลาที่เก่าแก่ที่สุดไว้ด้านล่าง ความสูงของแต่ละรายการในตารางนี้ไม่สอดคล้องกับระยะเวลาของการแบ่งช่วงเวลาแต่ละช่วง ดังนั้นตารางนี้จึงไม่สามารถแสดงสัดส่วนระยะเวลาของแต่ละหน่วยธรณีวิทยาได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าบรมยุคฟาเนอโรโซอิกจะดูเหมือนยาวนานกว่ายุคอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วครอบคลุมเพียงประมาณ 539 ล้านปี (ประมาณ 12% ของประวัติศาสตร์โลก) ในขณะที่สามยุคก่อนหน้านี้[note 3] รวมกันครอบคลุมประมาณ 3,461 ล้านปี (ประมาณ 76% ของประวัติศาสตร์โลก) ความไม่สมดุลนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสามยุคแรกเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน (บรมยุคฟาเนอโรโซอิก)[6][75] การใช้กึ่งสมัย/กึ่งหินสมัยได้รับการรับรองโดยคณะกรรมาธิการการลำดับชั้นหินสากล (ICS)[17]

เนื้อหาของตารางนี้อ้างอิงกับ ICC อย่างเป็นทางการที่จัดทำและดูแลโดยคณะกรรมาธิการการลำดับชั้นหินสากล (ICS) ซึ่งยังมีเวอร์ชันออนไลน์ที่เป็นแบบโต้ตอบได้ของตารางนี้อีกด้วย โดยเวอร์ชันโต้ตอบนี้อ้างอิงจากบริการที่ให้ทรัพยากรในรูปแบบอ่านได้โดยเครื่อง (machine-readable) ด้วยมาตรฐาน Resource Description Framework/Web Ontology Language ในการแสดงมาตราธรณีกาล ซึ่งพร้อมใช้งานผ่านโปรเจกต์ GeoSciML ของคณะกรรมาธิการการจัดการและประยุกต์ใช้ข้อมูลธรณีวิทยา (Commission for the Management and Application of Geoscience Information)[76] และสามารถเข้าถึงได้ที่เอนด์พอยท์ SPARQL[77][78]

มาตราธรณีกาลบนเทห์วัตถุสุริยะอื่น

[แก้]

ดาวเคราะห์และดาวบริวารบางดวงในระบบสุริยะมีโครงสร้างที่แข็งแกร่งพอที่จะบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดวงจันทร์ของโลก ในขณะที่ดาวเคราะห์ที่มีองค์ประกอบเป็นของเหลวเป็นหลัก เช่น ดาวเคราะห์ยักษ์ ไม่สามารถรักษาบันทึกประวัติศาสตร์ในลักษณะเดียวกันได้ นอกเหนือจากเหตุการณ์การระดมชนหนักครั้งหลัง เหตุการณ์บนดาวเคราะห์อื่น ๆ น่าจะมีอิทธิพลโดยตรงต่อโลกน้อยมาก และเหตุการณ์บนโลกก็มีผลกระทบต่อดาวเคราะห์เหล่านั้นน้อยเช่นกัน การสร้างมาตราเวลาที่เชื่อมโยงดาวเคราะห์จึงมีความสำคัญจำกัดต่อมาตราเวลาของโลก ยกเว้นในบริบทของระบบสุริยะ การดำรงอยู่ การกำหนดเวลา และผลกระทบต่อโลกของเหตุการณ์การระดมชนหนักครั้งหลังยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[note 12]

ธรณีกาลของดวงจันทร์ (จันทรากาลวิทยา)

[แก้]

ประวัติทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ของโลกได้ถูกแบ่งออกเป็นมาตราเวลาโดยอิงตามเครื่องหมายทางธรณีสัณฐานวิทยา ได้แก่ การกระแทกจากอุกกาบาต ภูเขาไฟ และการกร่อน กระบวนการแบ่งประวัติศาสตร์ของดวงจันทร์ในลักษณะนี้หมายความว่าขอบเขตของมาตราเวลาไม่ได้บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในกระบวนการทางธรณีวิทยา ซึ่งแตกต่างจากมาตราธรณีกาลของโลก บนดวงจันทร์ระบบธรณีวิทยาแบ่งออกเป็นห้าหินยุค/ยุค ได้แก่ ยุคพรีเนคทาเรียน (Pre-Nectarian), ยุคเนคทาเรียน (Nectarian), ยุคอิมเบรียน (Imbrian), ยุคอีราโตสเทเนียน (Eratosthenian) และยุคโคเปอร์นิคัน (Copernican)) โดยที่ยุคอิมเบรียนถูกแบ่งออกเป็นสองหินสมัย/สมัย (ตอนต้นและ ตอนปลาย) ดวงจันทร์มีความพิเศษในระบบสุริยะเนื่องจากเป็นวัตถุอื่นเพียงชิ้นเดียวที่มนุษย์มีตัวอย่างหินที่มีบริบททางธรณีวิทยาที่ทราบ

ธรณีกาลของดาวอังคาร

[แก้]

ธรณีประวัติของดาวอังคารได้ถูกแบ่งออกเป็นสองช่วงเวลาต่างกัน ช่วงเวลาแรกพัฒนาขึ้นโดยการศึกษาความหนาแน่นของปล่องภูเขาไฟบนพื้นผิวของดาวอังคาร โดยวิธีนี้ได้กำหนดยุคขึ้นสี่ยุคคือ ยุคพรีโนอาเคียน (Pre-Noachian) (~4,500–4,100 ล้านปีก่อน), ยุคโนอาเคียน (Noachian) (~4,100–3,700 ล้านปีก่อน), ยุคเฮสเปอเรียน (Hesperian) (~3,700–3,000 ล้านปีก่อน), ยุคช่วงอเมโซเนียน (Amazonian) (~3,000 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน)[93][94]

มาตราเวลาช่วงที่สองอ้างอิงจากการเปลี่ยนแปลงของแร่ที่สังเกตได้จากสเปกโทรมิเตอร์ OMEGA บนยานมาร์สเอ็กเพรส โดยวิธีนี้ได้กำหนดยุคขึ้นสามยุคคือ ยุคฟิลโลเชียน (Phyllocian) (~4,500–4,000 ล้านปีก่อน), ยุคทีอิเชียน (Theiikian) (~4,000–3,500 ล้านปีก่อน), และยุคซิเดริเคียน (Siderikian) (~3,500 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบัน)[95]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. เป็นที่ทราบกันดีว่าไม่ใช่หินชั้นทุกชั้นที่จะมีการวางตัวในแนวนอนอย่างสมบูรณ์ แต่กระนั้น หลักการนี้ยังคงถือว่าเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์อยู่
  2. ช่วงเวลาของหน่วยธรณีกาลมีความแตกต่างกันอย่างมากและไม่มีข้อจำกัดด้านตัวเลขเกี่ยวกับระยะเวลาที่สามารถแสดงได้ โดยการกำหนดช่วงเวลาจะถูกจำกัดตามช่วงเวลาของหน่วยที่มีอันดับสูงกว่าซึ่งหน่วยดังกล่าวอยู่ภายใต้ และขอบเขตของการลำดับชั้นหินตามอายุที่กำหนดไว้
  3. 3.0 3.1 3.2 พรีแคมเบรียน เป็นศัพท์ทางธรณีวิทยาที่ไม่เป็นทางการสำหรับช่วงเวลาก่อนแคมเบรียน
  4. 4.0 4.1 เทอร์เทียรีเป็นชื่อหินยุค/ยุคทางธรณีวิทยาที่ล้าสมัย กินเวลาตั้งแต่ 66 ล้านปีก่อนถึง 2.6 ล้านปีก่อน ไม่สามารถเทียบได้กับแผนภูมิ ICC ปัจจุบัน แต่อาจเทียบเคียงได้กับหินยุค/ยุคพาลีโอจีนและนีโอจีน
  5. 5.0 5.1 วันทางธรณีกาลมาตรวิทยาสำหรับยุคอีดีแอคารันถูกปรับปรุงให้ล้อกับ ICC v2023/09 เนื่องจากนิยามทางการของฐานของยุคแคมเบรียนยังไม่ถูดเปลี่ยน
  6. อายุและความคลาดเคลื่อนเป็นไปตามแผนภูมิการลำดับชั้นหินตามอายุกาลสากลของคณะกรรมาธิการการลำดับชั้นหินสากล โดย * หมายถึง ขอบเขตซึ่งจุดและส่วนชั้นหินแบบฉบับขอบเขตทั่วโลกเป็นที่ยอมรับโดยทั่วแล้ว
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนนี้ ดูที่ บรรยากาศของโลก#การวิวัฒนาการของบรรยากาศโลก, คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศโลก และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนแผนภูมิเฉพาะสำหรับคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง ~550, 65, และ 5 ล้านปีที่ผ่านมาสามารถดูได้ที่ File:Phanerozoic Carbon Dioxide.png, File:65 Myr Climate Change.png, File:Five Myr Climate Change.png ตามลำดับ
  8. ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุคคาร์บอนิเฟอรัสถูกแบ่งออกเป็นยุคมิสซิสซิปเปียนและยุคเพนซิลเวเนียน
  9. 9.0 9.1 กึ่งยุคนี้แบ่งออกได้เป็นหินสมัย/สมัยตอนล่าง/ตอนต้น ตอนกลาง และตอนบน/ตอนปลาย
  10. 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 10.11 10.12 กำหนดโดยอายุสัมบูรณ์ (การกำหนดอายุลำดับชั้นหินมาตรฐานโลก)
  11. หินฐานธรณีหรือเปลือกโลกภาคพื้นทวีปที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่วัดได้มีอายุประมาณ 3,600–3,800 ล้านปี
  12. ยังไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่จะสามารถคาดเดาได้อย่างมีคุณค่า

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Statutes". stratigraphy.org. International Commission on Stratigraphy. สืบค้นเมื่อ 2022-04-05.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Cohen, K.M.; Finney, S.C.; Gibbard, P.L.; Fan, J.-X. (2013-09-01). "The ICS International Chronostratigraphic Chart". Episodes (ภาษาอังกฤษ) (updated ed.). 36 (3): 199–204. doi:10.18814/epiiugs/2013/v36i3/002. ISSN 0705-3797.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 Van Kranendonk, Martin J.; Altermann, Wladyslaw; Beard, Brian L.; Hoffman, Paul F.; Johnson, Clark M.; Kasting, James F.; Melezhik, Victor A.; Nutman, Allen P. (2012), "A Chronostratigraphic Division of the Precambrian", The Geologic Time Scale (ภาษาอังกฤษ), Elsevier, pp. 299–392, doi:10.1016/b978-0-444-59425-9.00016-0, ISBN 978-0-444-59425-9, สืบค้นเมื่อ 2022-04-05
  4. "International Commission on Stratigraphy". International Geological Time Scale. สืบค้นเมื่อ 5 June 2022.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Dalrymple, G. Brent (2001). "The age of the Earth in the twentieth century: a problem (mostly) solved". Special Publications, Geological Society of London. 190 (1): 205–221. Bibcode:2001GSLSP.190..205D. doi:10.1144/GSL.SP.2001.190.01.14. S2CID 130092094.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Shields, Graham A.; Strachan, Robin A.; Porter, Susannah M.; Halverson, Galen P.; Macdonald, Francis A.; Plumb, Kenneth A.; de Alvarenga, Carlos J.; Banerjee, Dhiraj M.; Bekker, Andrey; Bleeker, Wouter; Brasier, Alexander (2022). "A template for an improved rock-based subdivision of the pre-Cryogenian timescale". Journal of the Geological Society (ภาษาอังกฤษ). 179 (1): jgs2020–222. doi:10.1144/jgs2020-222. ISSN 0016-7649. S2CID 236285974.
  7. 7.0 7.1 Steno, Nicolaus (1669). Nicolai Stenonis de solido intra solidvm natvraliter contento dissertationis prodromvs ad serenissimvm Ferdinandvm II ... (ภาษาละติน). W. Junk.
  8. 8.0 8.1 Hutton, James (1795). Theory of the Earth. Vol. 1. Edinburgh.
  9. 9.0 9.1 Lyell, Sir Charles (1832). Principles of Geology: Being an Attempt to Explain the Former Changes of the Earth's Surface, by Reference to Causes Now in Operation (ภาษาอังกฤษ). Vol. 1. London: John Murray.
  10. "International Commission on Stratigraphy - Stratigraphic Guide - Chapter 9. Chronostratigraphic Units". stratigraphy.org. สืบค้นเมื่อ 2024-04-16.
  11. 11.00 11.01 11.02 11.03 11.04 11.05 11.06 11.07 11.08 11.09 11.10 11.11 "Chapter 9. Chronostratigraphic Units". stratigraphy.org. International Commission on Stratigraphy. สืบค้นเมื่อ 2022-04-02.
  12. 12.0 12.1 12.2 "Chapter 3. Definitions and Procedures". stratigraphy.org. International Commission on Stratigraphy. สืบค้นเมื่อ 2022-04-02.
  13. "Global Boundary Stratotype Section and Points". stratigraphy.org. International Commission on Stratigraphy. สืบค้นเมื่อ 2022-04-02.
  14. Knoll, Andrew; Walter, Malcolm; Narbonne, Guy; Christie-Blick, Nicholas (2006). "The Ediacaran Period: a new addition to the geologic time scale". Lethaia (ภาษาอังกฤษ). 39 (1): 13–30. doi:10.1080/00241160500409223.
  15. Remane, Jürgen; Bassett, Michael G; Cowie, John W; Gohrbandt, Klaus H; Lane, H Richard; Michelsen, Olaf; Naiwen, Wang; the cooperation of members of ICS (1996-09-01). "Revised guidelines for the establishment of global chronostratigraphic standards by the International Commission on Stratigraphy (ICS)". Episodes (ภาษาอังกฤษ). 19 (3): 77–81. doi:10.18814/epiiugs/1996/v19i3/007. ISSN 0705-3797.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Michael Allaby (2020). A dictionary of geology and earth sciences (Fifth ed.). Oxford. ISBN 978-0-19-187490-1. OCLC 1137380460.
  17. 17.0 17.1 Aubry, Marie-Pierre; Piller, Werner E.; Gibbard, Philip L.; Harper, David A. T.; Finney, Stanley C. (2022-03-01). "Ratification of subseries/subepochs as formal rank/units in international chronostratigraphy". Episodes (ภาษาอังกฤษ). 45 (1): 97–99. doi:10.18814/epiiugs/2021/021016. ISSN 0705-3797. S2CID 240772165.
  18. Desnoyers, J. (1829). "Observations sur un ensemble de dépôts marins plus récents que les terrains tertiaires du bassin de la Seine, et constituant une formation géologique distincte; précédées d'un aperçu de la nonsimultanéité des bassins tertiares" [Observations on a set of marine deposits [that are] more recent than the tertiary terrains of the Seine basin and [that] constitute a distinct geological formation; preceded by an outline of the non-simultaneity of tertiary basins]. Annales des Sciences Naturelles (ภาษาฝรั่งเศส). 16: 171–214, 402–491. From p. 193: "Ce que je désirerais ... dont il faut également les distinguer." (What I would desire to prove above all is that the series of tertiary deposits continued – and even began in the more recent basins – for a long time, perhaps after that of the Seine had been completely filled, and that these later formations – Quaternary (1), so to say – should not retain the name of alluvial deposits any more than the true and ancient tertiary deposits, from which they must also be distinguished.) However, on the very same page, Desnoyers abandoned the use of the term "Quaternary" because the distinction between Quaternary and Tertiary deposits wasn't clear. From p. 193: "La crainte de voir mal comprise ... que ceux du bassin de la Seine." (The fear of seeing my opinion in this regard be misunderstood or exaggerated, has made me abandon the word "quaternary", which at first I had wanted to apply to all deposits more recent than those of the Seine basin.)
  19. d'Halloy, d'O., J.-J. (1822). "Observations sur un essai de carte géologique de la France, des Pays-Bas, et des contrées voisines" [Observations on a trial geological map of France, the Low Countries, and neighboring countries]. Annales des Mines. 7: 353–376.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) From page 373: "La troisième, qui correspond à ce qu'on a déja appelé formation de la craie, sera désigné par le nom de terrain crétacé." (The third, which corresponds to what was already called the "chalk formation", will be designated by the name "chalky terrain".)
  20. Humboldt, Alexander von (1799). Ueber die unterirdischen Gasarten und die Mittel ihren Nachtheil zu vermindern: ein Beytrag zur Physik der praktischen Bergbaukunde (ภาษาเยอรมัน). Vieweg.
  21. Brongniart, Alexandre (1770-1847) Auteur du texte (1829). Tableau des terrains qui composent l'écorce du globe ou Essai sur la structure de la partie connue de la terre . Par Alexandre Brongniart,... (ภาษาฝรั่งเศส).
  22. Ogg, J.G.; Hinnov, L.A.; Huang, C. (2012), "Jurassic", The Geologic Time Scale (ภาษาอังกฤษ), Elsevier, pp. 731–791, doi:10.1016/b978-0-444-59425-9.00026-3, ISBN 978-0-444-59425-9, สืบค้นเมื่อ 2022-05-01
  23. Murchison; Murchison, Sir Roderick Impey; Verneuil; Keyserling, Graf Alexander (1842). On the Geological Structure of the Central and Southern Regions of Russia in Europe, and of the Ural Mountains (ภาษาอังกฤษ). Print. by R. and J.E. Taylor.
  24. Phillips, John (1835). Illustrations of the Geology of Yorkshire: Or, A Description of the Strata and Organic Remains: Accompanied by a Geological Map, Sections and Plates of the Fossil Plants and Animals ... (ภาษาอังกฤษ). J. Murray.
  25. Sedgwick, A.; Murchison, R. I. (1840-01-01). "XLIII.--On the Physical Structure of Devonshire, and on the Subdivisions and Geological Relations of its older stratified Deposits, &c". Transactions of the Geological Society of London (ภาษาอังกฤษ). s2-5 (3): 633–703. doi:10.1144/transgslb.5.3.633. ISSN 2042-5295. S2CID 128475487.
  26. Murchison, Roderick Impey (1835). "VII. On the silurian system of rocks". The London, Edinburgh, and Dublin Philosophical Magazine and Journal of Science (ภาษาอังกฤษ). 7 (37): 46–52. doi:10.1080/14786443508648654. ISSN 1941-5966.
  27. Lapworth, Charles (1879). "I.—On the Tripartite Classification of the Lower Palæozoic Rocks". Geological Magazine (ภาษาอังกฤษ). 6 (1): 1–15. doi:10.1017/S0016756800156560. ISSN 0016-7568. S2CID 129165105.
  28. Bassett, Michael G. (1979-06-01). "100 Years of Ordovician Geology". Episodes (ภาษาอังกฤษ). 2 (2): 18–21. doi:10.18814/epiiugs/1979/v2i2/003. ISSN 0705-3797.
  29.  Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Cambria" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
  30. Butcher, Andy (26 May 2004). "Re: Ediacaran". LISTSERV 16.0 - AUSTRALIAN-LINGUISTICS-L Archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2007. สืบค้นเมื่อ 19 July 2011.
  31. "Place Details: Ediacara Fossil Site – Nilpena, Parachilna, SA, Australia". Department of Sustainability, Environment, Water, Population and Communities. Australian Heritage Database. Commonwealth of Australia. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2011.
  32. 32.0 32.1 Holmes, Arthur (1911-06-09). "The association of lead with uranium in rock-minerals, and its application to the measurement of geological time". Proceedings of the Royal Society of London. Series A, Containing Papers of a Mathematical and Physical Character. 85 (578): 248–256. Bibcode:1911RSPSA..85..248H. doi:10.1098/rspa.1911.0036. ISSN 0950-1207.
  33. 33.00 33.01 33.02 33.03 33.04 33.05 33.06 33.07 33.08 33.09 33.10 Fischer, Alfred G.; Garrison, Robert E. (2009). "The role of the Mediterranean region in the development of sedimentary geology: a historical overview". Sedimentology (ภาษาอังกฤษ). 56 (1): 3–41. Bibcode:2009Sedim..56....3F. doi:10.1111/j.1365-3091.2008.01009.x. S2CID 128604255.
  34. Sivin, Nathan (1995). Science in ancient China : researches and reflections. Variorum. ISBN 0-86078-492-4. OCLC 956775994.
  35. Adams, Frank D. (1938). The Birth and Development of the Geological Sciences. Williams & Wilkins. ISBN 0-486-26372-X. OCLC 165626104.
  36. Rudwick, M. J. S. (1985). The meaning of fossils : episodes in the history of palaeontology. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 0-226-73103-0. OCLC 11574066.
  37. McCurdy, Edward (1938). The notebooks of Leonardo da Vinci (ภาษาEnglish). New York: Reynal & Hitchcock. OCLC 2233803.{{cite book}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  38. Kardel, Troels; Maquet, Paul (2018), "2.27 the Prodromus to a Dissertation on a Solid Naturally Contained within a Solid", Nicolaus Steno (ภาษาอังกฤษ), Berlin, Heidelberg: Springer Berlin Heidelberg, pp. 763–825, doi:10.1007/978-3-662-55047-2_38, ISBN 978-3-662-55046-5, สืบค้นเมื่อ 2022-04-20
  39. Burnet, Thomas (1681). Telluris Theoria Sacra: orbis nostri originen et mutationes generales, quasi am subiit aut olim subiturus est, complectens. Libri duo priores de Diluvio & Paradiso (ภาษาละติน). London: G. Kettiby.
  40. Werner, Abraham Gottlob (1787). Kurze Klassifikation und Beschreibung der verschiedenen Gebirgsarten (ภาษาเยอรมัน). Dresden: Walther.
  41. Moro, Anton Lazzaro (1740). De'crostacei e degli altri marini corpi che si truovano su'monti (ภาษาอิตาลี). Appresso Stefano Monti.
  42. Hutton, James (1788). "X. Theory of the Earth; or an Investigation of the Laws observable in the Composition, Dissolution, and Restoration of Land upon the Globe ". Transactions of the Royal Society of Edinburgh (ภาษาอังกฤษ). 1 (2): 209–304. doi:10.1017/S0080456800029227. ISSN 0080-4568. S2CID 251578886.
  43. Hutton, James (1795). Theory of the Earth. Vol. 2. Edinburgh.
  44. Playfair, John (1802). Illustrations of the Huttonian theory of the earth. Digitised by London Natural History Museum Library. Edinburgh: Neill & Co.
  45. Lyell, Sir Charles (1832). Principles of Geology: Being an Attempt to Explain the Former Changes of the Earth's Surface, by Reference to Causes Now in Operation (ภาษาอังกฤษ). Vol. 2. London: John Murray.
  46. Lyell, Sir Charles (1834). Principles of Geology: Being an Inquiry how for the Former Changes of the Earth's Surface are Referrable to Causes Now in Operation (ภาษาอังกฤษ). Vol. 3. London: John Murray.
  47. Holmes, Arthur (1913). The age of the earth. Gerstein - University of Toronto. London, Harper.
  48. 48.0 48.1 Lewis, Cherry L. E. (2001). "Arthur Holmes' vision of a geological timescale". Geological Society, London, Special Publications (ภาษาอังกฤษ). 190 (1): 121–138. Bibcode:2001GSLSP.190..121L. doi:10.1144/GSL.SP.2001.190.01.10. ISSN 0305-8719. S2CID 128686640.
  49. Soddy, Frederick (1913-12-04). "Intra-atomic Charge". Nature (ภาษาอังกฤษ). 92 (2301): 399–400. Bibcode:1913Natur..92..399S. doi:10.1038/092399c0. ISSN 0028-0836. S2CID 3965303.
  50. Holmes, A. (1959-01-01). "A revised geological time-scale". Transactions of the Edinburgh Geological Society (ภาษาอังกฤษ). 17 (3): 183–216. doi:10.1144/transed.17.3.183. ISSN 0371-6260. S2CID 129166282.
  51. "A Revised Geological Time-Scale". Nature (ภาษาอังกฤษ). 187 (4731): 27–28. 1960. Bibcode:1960Natur.187T..27.. doi:10.1038/187027d0. ISSN 0028-0836. S2CID 4179334.
  52. Harrison, James M. (1978-03-01). "The Roots of IUGS". Episodes. 1 (1): 20–23. doi:10.18814/epiiugs/1978/v1i1/005. ISSN 0705-3797.
  53. International Union of Geological Sciences. Commission on Stratigraphy (1986). Guidelines and statutes of the International Commission on Stratigraphy (ICS). J. W. Cowie. Frankfurt a.M.: Herausgegeben von der Senckenbergischen Naturforschenden Gesellschaft. ISBN 3-924500-19-3. OCLC 14352783.
  54. W. B. Harland (1982). A geologic time scale. Cambridge [England]: Cambridge University Press. ISBN 0-521-24728-4. OCLC 8387993.
  55. W. B. Harland (1990). A geologic time scale 1989. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-38361-7. OCLC 20930970.
  56. F. M. Gradstein; James G. Ogg; A. Gilbert Smith (2004). A geologic time scale 2004. Cambridge, UK: Cambridge University Press. ISBN 0-511-08201-0. OCLC 60770922.
  57. Gradstein, Felix M.; Ogg, James G.; van Kranendonk, Martin (2008-07-23). "On the Geologic Time Scale 2008". Newsletters on Stratigraphy (ภาษาอังกฤษ). 43 (1): 5–13. doi:10.1127/0078-0421/2008/0043-0005. ISSN 0078-0421.
  58. 58.00 58.01 58.02 58.03 58.04 58.05 58.06 58.07 58.08 58.09 58.10 58.11 58.12 F. M. Gradstein (2012). The geologic time scale 2012. Volume 2 (1st ed.). Amsterdam: Elsevier. ISBN 978-0-444-59448-8. OCLC 808340848.
  59. 59.0 59.1 Ogg, James G. (2016). A concise geologic time scale 2016. Gabi Ogg, F. M. Gradstein. Amsterdam, Netherlands: Elsevier. ISBN 978-0-444-59468-6. OCLC 949988705.
  60. 60.0 60.1 F. M. Gradstein; James G. Ogg; Mark D. Schmitz; Gabi Ogg (2020). Geologic time scale 2020. Amsterdam, Netherlands. ISBN 978-0-12-824361-9. OCLC 1224105111.
  61. Crutzen, Paul J.; Stoermer, Eugene F. (2021), Benner, Susanne; Lax, Gregor; Crutzen, Paul J.; Pöschl, Ulrich (บ.ก.), "The 'Anthropocene' (2000)", Paul J. Crutzen and the Anthropocene: A New Epoch in Earth's History, The Anthropocene: Politik—Economics—Society—Science (ภาษาอังกฤษ), Cham: Springer International Publishing, vol. 1, pp. 19–21, doi:10.1007/978-3-030-82202-6_2, ISBN 978-3-030-82201-9, S2CID 245639062, สืบค้นเมื่อ 2022-04-15
  62. "Working Group on the 'Anthropocene' | Subcommission on Quaternary Stratigraphy" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-07. สืบค้นเมื่อ 2022-04-17.
  63. Subramanian, Meera (2019-05-21). "Anthropocene now: influential panel votes to recognise Earth's new epoch". Nature (ภาษาอังกฤษ): d41586–019–01641–5. doi:10.1038/d41586-019-01641-5. ISSN 0028-0836. PMID 32433629. S2CID 182238145.
  64. Gibbard, Philip L.; Bauer, Andrew M.; Edgeworth, Matthew; Ruddiman, William F.; Gill, Jacquelyn L.; Merritts, Dorothy J.; Finney, Stanley C.; Edwards, Lucy E.; Walker, Michael J. C.; Maslin, Mark; Ellis, Erle C. (2021-11-15). "A practical solution: the Anthropocene is a geological event, not a formal epoch". Episodes (ภาษาอังกฤษ). 45 (4): 349–357. doi:10.18814/epiiugs/2021/021029. ISSN 0705-3797. S2CID 244165877.
  65. Head, Martin J.; Steffen, Will; Fagerlind, David; Waters, Colin N.; Poirier, Clement; Syvitski, Jaia; Zalasiewicz, Jan A.; Barnosky, Anthony D.; Cearreta, Alejandro; Jeandel, Catherine; Leinfelder, Reinhold (2021-11-15). "The Great Acceleration is real and provides a quantitative basis for the proposed Anthropocene Series/Epoch". Episodes (ภาษาอังกฤษ). 45 (4): 359–376. doi:10.18814/epiiugs/2021/021031. ISSN 0705-3797. S2CID 244145710.
  66. Zalasiewicz, Jan; Waters, Colin N.; Ellis, Erle C.; Head, Martin J.; Vidas, Davor; Steffen, Will; Thomas, Julia Adeney; Horn, Eva; Summerhayes, Colin P.; Leinfelder, Reinhold; McNeill, J. R. (2021). "The Anthropocene: Comparing Its Meaning in Geology (Chronostratigraphy) with Conceptual Approaches Arising in Other Disciplines". Earth's Future (ภาษาอังกฤษ). 9 (3). Bibcode:2021EaFut...901896Z. doi:10.1029/2020EF001896. ISSN 2328-4277. S2CID 233816527.
  67. Bauer, Andrew M.; Edgeworth, Matthew; Edwards, Lucy E.; Ellis, Erle C.; Gibbard, Philip; Merritts, Dorothy J. (2021-09-16). "Anthropocene: event or epoch?". Nature (ภาษาอังกฤษ). 597 (7876): 332. Bibcode:2021Natur.597..332B. doi:10.1038/d41586-021-02448-z. ISSN 0028-0836. PMID 34522014. S2CID 237515330.
  68. Bleeker, W. (2005-03-17), Gradstein, Felix M.; Ogg, James G.; Smith, Alan G. (บ.ก.), "Toward a "natural" Precambrian time scale", A Geologic Time Scale 2004 (1 ed.), Cambridge University Press, pp. 141–146, doi:10.1017/cbo9780511536045.011, ISBN 978-0-521-78673-7, สืบค้นเมื่อ 2022-04-09
  69. Strachan, R.; Murphy, J.B.; Darling, J.; Storey, C.; Shields, G. (2020), "Precambrian (4.56–1 Ga)", Geologic Time Scale 2020 (ภาษาอังกฤษ), Elsevier, pp. 481–493, doi:10.1016/b978-0-12-824360-2.00016-4, ISBN 978-0-12-824360-2, S2CID 229513433, สืบค้นเมื่อ 2022-04-09
  70. Van Kranendonk, Martin J. (2012). "A Chronostratigraphic Division of the Precambrian". ใน Felix M. Gradstein; James G. Ogg; Mark D. Schmitz; abi M. Ogg (บ.ก.). The geologic time scale 2012 (1st ed.). Amsterdam: Elsevier. pp. 359–365. doi:10.1016/B978-0-444-59425-9.00016-0. ISBN 978-0-44-459425-9.
  71. 71.0 71.1 71.2 Goldblatt, C.; Zahnle, K. J.; Sleep, N. H.; Nisbet, E. G. (2010). "The Eons of Chaos and Hades". Solid Earth. 1 (1): 1–3. Bibcode:2010SolE....1....1G. doi:10.5194/se-1-1-2010.
  72. Chambers, John E. (July 2004). "Planetary accretion in the inner Solar System" (PDF). Earth and Planetary Science Letters. 223 (3–4): 241–252. Bibcode:2004E&PSL.223..241C. doi:10.1016/j.epsl.2004.04.031. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-19.
  73. El Albani, Abderrazak; Bengtson, Stefan; Canfield, Donald E.; Riboulleau, Armelle; Rollion Bard, Claire; Macchiarelli, Roberto; และคณะ (2014). "The 2.1 Ga Old Francevillian Biota: Biogenicity, Taphonomy and Biodiversity". PLOS ONE. 9 (6): e99438. Bibcode:2014PLoSO...999438E. doi:10.1371/journal.pone.0099438. PMC 4070892. PMID 24963687.
  74. El Albani, Abderrazak; Bengtson, Stefan; Canfield, Donald E.; Bekker, Andrey; Macchiarelli, Roberto; Mazurier, Arnaud; Hammarlund, Emma U.; และคณะ (2010). "Large colonial organisms with coordinated growth in oxygenated environments 2.1 Gyr ago" (PDF). Nature. 466 (7302): 100–104. Bibcode:2010Natur.466..100A. doi:10.1038/nature09166. PMID 20596019. S2CID 4331375.[ลิงก์เสีย]
  75. "Geological time scale". Digital Atlas of Ancient Life. Paleontological Research Institution. สืบค้นเมื่อ January 17, 2022.
  76. "Geologic Timescale Elements in the International Chronostratigraphic Chart". สืบค้นเมื่อ 2014-08-03.
  77. Cox, Simon J. D. "SPARQL endpoint for CGI timescale service". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-06. สืบค้นเมื่อ 2014-08-03.
  78. Cox, Simon J. D.; Richard, Stephen M. (2014). "A geologic timescale ontology and service". Earth Science Informatics. 8: 5–19. doi:10.1007/s12145-014-0170-6. S2CID 42345393.
  79. C. Hoag, J-C. Svenning African environmental change from the Pleistocene to the Anthropocene Annu. Rev. Environ. Resour., 42 (2017), pp. 27-54, https://doi.org/10.1146/annurev-environ-102016-060653
  80. Bartoli, G; Sarnthein, M; Weinelt, M; Erlenkeuser, H; Garbe-Schönberg, D; Lea, D.W (2005). "Final closure of Panama and the onset of northern hemisphere glaciation". Earth and Planetary Science Letters. 237 (1–2): 33–44. Bibcode:2005E&PSL.237...33B. doi:10.1016/j.epsl.2005.06.020.
  81. 81.0 81.1 Tyson, Peter (October 2009). "NOVA, Aliens from Earth: Who's who in human evolution". PBS. สืบค้นเมื่อ 2009-10-08.
  82. https://digitalcommons.bryant.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1010&context=honors_science [URL เปล่า]
  83. 83.0 83.1 83.2 83.3 Royer, Dana L. (2006). "CO2-forced climate thresholds during the Phanerozoic" (PDF). Geochimica et Cosmochimica Acta. 70 (23): 5665–75. Bibcode:2006GeCoA..70.5665R. doi:10.1016/j.gca.2005.11.031. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 September 2019. สืบค้นเมื่อ 6 August 2015.
  84. "Here's What the Last Common Ancestor of Apes and Humans Looked Like". Live Science.
  85. Deconto, Robert M.; Pollard, David (2003). "Rapid Cenozoic glaciation of Antarctica induced by declining atmospheric CO2". Nature. 421 (6920): 245–249. Bibcode:2003Natur.421..245D. doi:10.1038/nature01290. PMID 12529638. S2CID 4326971.
  86. Williams, J.J., Mills, B.J.W. & Lenton, T.M. A tectonically driven Ediacaran oxygenation event. Nat Commun 10, 2690 (2019). https://doi.org/10.1038/s41467-019-10286-x
  87. Naranjo‐Ortiz, Miguel A.; Gabaldón, Toni (2019-04-25). "Fungal evolution: major ecological adaptations and evolutionary transitions". Biological Reviews of the Cambridge Philosophical Society. Cambridge Philosophical Society (Wiley). 94 (4): 1443–1476. doi:10.1111/brv.12510. ISSN 1464-7931. PMC 6850671. PMID 31021528.
  88. Zarsky, J. D., Zarsky, V., Hanacek, M., & Zarsky, V. (2021, July 21). Cryogenian glacial habitats as a plant terrestrialization cradle – the origin of the anydrophytes and Zygnematophyceae split. https://doi.org/10.3389/fpls.2021.735020
  89. Hwan Su Yoon, Jeremiah D. Hackett, Claudia Ciniglia, Gabriele Pinto, Debashish Bhattacharya, A Molecular Timeline for the Origin of Photosynthetic Eukaryotes, Molecular Biology and Evolution, Volume 21, Issue 5, May 2004, Pages 809–818, https://doi.org/10.1093/molbev/msh075
  90. Bowring, Samuel A.; Williams, Ian S. (1999). "Priscoan (4.00-4.03 Ga) orthogneisses from northwestern Canada". Contributions to Mineralogy and Petrology. 134 (1): 3. Bibcode:1999CoMP..134....3B. doi:10.1007/s004100050465. S2CID 128376754.
  91. Iizuka, Tsuyoshi; Komiya, Tsuyoshi; Maruyama, Shigenori (2007), "Chapter 3.1 The Early Archean Acasta Gneiss Complex: Geological, Geochronological and Isotopic Studies and Implications for Early Crustal Evolution", Developments in Precambrian Geology (ภาษาอังกฤษ), Elsevier, vol. 15, pp. 127–147, doi:10.1016/s0166-2635(07)15031-3, ISBN 978-0-444-52810-0, สืบค้นเมื่อ 2022-05-01
  92. Wilde, Simon A.; Valley, John W.; Peck, William H.; Graham, Colin M. (2001). "Evidence from detrital zircons for the existence of continental crust and oceans on the Earth 4.4 Gyr ago". Nature (ภาษาอังกฤษ). 409 (6817): 175–178. doi:10.1038/35051550. ISSN 0028-0836. PMID 11196637. S2CID 4319774.
  93. Tanaka, Kenneth L. (1986). "The stratigraphy of Mars". Journal of Geophysical Research (ภาษาอังกฤษ). 91 (B13): E139. Bibcode:1986JGR....91E.139T. doi:10.1029/JB091iB13p0E139. ISSN 0148-0227.
  94. Carr, Michael H.; Head, James W. (2010-06-01). "Geologic history of Mars". Earth and Planetary Science Letters. Mars Express after 6 Years in Orbit: Mars Geology from Three-Dimensional Mapping by the High Resolution Stereo Camera (HRSC) Experiment (ภาษาอังกฤษ). 294 (3): 185–203. Bibcode:2010E&PSL.294..185C. doi:10.1016/j.epsl.2009.06.042. ISSN 0012-821X.
  95. Bibring, Jean-Pierre; Langevin, Yves; Mustard, John F.; Poulet, François; Arvidson, Raymond; Gendrin, Aline; Gondet, Brigitte; Mangold, Nicolas; Pinet, P.; Forget, F.; Berthé, Michel (2006-04-21). "Global Mineralogical and Aqueous Mars History Derived from OMEGA/Mars Express Data". Science (ภาษาอังกฤษ). 312 (5772): 400–404. Bibcode:2006Sci...312..400B. doi:10.1126/science.1122659. ISSN 0036-8075. PMID 16627738. S2CID 13968348.