รถไฟฟ้า สายสีเงิน
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ (กรกฎาคม 2567) |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
รถไฟฟ้าสายสีเงิน | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | กำลังศึกษา |
เจ้าของ | สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จังหวัดสมุทรปราการ |
ที่ตั้ง | กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ |
ปลายทาง | |
จำนวนสถานี | 14 |
การดำเนินงาน | |
รูปแบบ | รถไฟฟ้ารางเบา |
ระบบ | ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร |
ผู้ดำเนินงาน | รอเอกชนร่วมประมูล |
ศูนย์ซ่อมบำรุง | ศูนย์ซ่อมบำรุงธนาซิตี้ |
ขบวนรถ | ยังไม่เปิดเผย |
ประวัติ | |
แผนการเปิด | พ.ศ. 2585 |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
ระยะทาง | 24 km (14.91 mi) |
จำนวนทางวิ่ง | 2 |
ลักษณะทางวิ่ง | ทางยกระดับ |
รางกว้าง | 1,435 mm (4 ft 8 1⁄2 in) สแตนดาร์ดเกจ |
ระบบจ่ายไฟ | รางที่สาม |
ความเร็ว | 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
รถไฟฟ้าสายสีเงิน (บางนา - บางโฉลง - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) หรือ โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นเส้นทางรถไฟรางเบาที่เสนอขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างแยกบางนาและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการรถไฟฟ้าสายนี้ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 แต่ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนราง พ.ศ. 2548 เดิมที มีแผนที่จะพัฒนารถไฟฟ้าสายนี้ให้เป็นส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท โดยมีจุดตัดแยกออกจากสายหลักบริเวณใกล้แยกบางนา ในเดือนธันวาคม 2558 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่าจะเร่งดำเนินการก่อสร้างและเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีในอนาคตอันใกล้[1] เมื่อเดือนเมษายน 2559 นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวจะใช้เวลา 3-6 ปี และใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ประวัติของโครงการ
[แก้]เมื่อครั้งกรุงเทพมหานคร ได้มีการอนุมัติสัมปทานโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้าธนายง หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ในปัจจุบัน) ให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ไปดำเนินการ กรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้พิจารณาร่างเส้นทางส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟฟ้าธนายงเอาไว้ทั้งหมด 5 ระยะ เพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาของตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในการปรับปรุงแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง อันเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การรถไฟฟ้ามหานคร (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปัจจุบัน) และกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2537 แนวเส้นทางนี้ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในฐานะส่วนต่อขยายอย่างเป็นทางการของ รถไฟฟ้าธนายง ตอน 1 ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2537 (แผนแม่บท BMT) ก่อนปรับปรุงและนำไปสู่การดำเนินการจริงใน พ.ศ. 2539 (แผนแม่บท CTMP) แต่หลังจากประกาศใช้แผนแม่บท CTMP ได้ 1 ปี ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างรุนแรง โครงการดังกล่าวจึงถูกพักอย่างไม่มีกำหนด และได้ยกเลิกลงในคราวการปรับปรุงแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง พ.ศ. 2543 (แผนแม่บท URMAP)
ต่อมาในการประชุมร่วมกับคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 คจร. ได้มีมติให้กรุงเทพมหานครศึกษาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อต่อขยายสายทางภายใน พ.ศ. 2552 โดยคำนึงถึงการขยายตัวของเมืองและแนวโน้มการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กรุงเทพมหานครจึงได้นำส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟฟ้าธนายงเดิมทั้ง 5 ระยะกลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอีกครั้ง จนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับส่วนต่อขยายทั้ง 5 ระยะ อันได้แก่ ส่วนต่อขยายช่องนนทรี–พระราม 3 ส่วนต่อขยายสนามกีฬาแห่งชาติ–พรานนก ส่วนต่อขยายอ่อนนุช–ลาดกระบัง ส่วนต่อขยายอ่อนนุช–แบริ่ง และส่วนต่อขยายอ่อนนุช–วัดศรีเอี่ยม ซึ่งส่วนต่อขยายสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก และส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง เป็นส่วนต่อขยายที่ถูกเสนอให้บรรจุลงในแผนแม่บท URMAP เมื่อครั้งการปรับปรุงแผนแม่บทเมื่อ พ.ศ. 2543 ก่อนถูกปรับปรุงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงใน พ.ศ. 2547 (แผนแม่บท BMT) ในขณะที่ส่วนต่อขยายอื่นๆ ไม่ได้ถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเนื่องมาจากมีข้อกังขาด้านการลงทุน ประกอบการสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นยังไม่ฟื้นตัวดี
อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครไม่ได้ล้มเลิกโครงการไปทั้งหมด แต่ได้นำเอาเส้นทางอ่อนนุช–วัดศรีเอี่ยม มาดัดแปลงและขยายให้ไปสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตามแผนแม่บท CTMP เดิม เพื่อเป็นการขยายเส้นทางโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ไปเชื่อมกับท่าอากาศยานโดยอาศัยเส้นทางตามแนวถนนเทพรัตน จึงได้ริเริ่มจากการก่อสร้างโครงสร้างโยธารองรับไว้บางส่วนเมื่อครั้งการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงอ่อนนุช–แบริ่ง และยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ยินดีสนับสนุนพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการธนาซิตี้เพื่อใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ รวมถึงยังได้รับความเห็นชอบจากบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้มีการปรับแบบการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้โดยเฉพาะ และจากจังหวัดสมุทรปราการที่เห็นชอบและสนับสนุนให้มีระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดเพื่อที่จะได้เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อันเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ
โครงการดังกล่าวถูกนำพิจารณาขึ้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง และได้ถูกนำเสนอขึ้นต่อ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อบรรจุลงแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง แต่ได้รับข้อวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการก่อสร้างเส้นทางอย่างต่อเนื่อง แต่กรุงเทพมหานครก็ยังคงผลักดันแนวคิดของโครงการให้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชานในบริเวณดังกล่าว ซึ่งต่อมาเส้นทางสายนี้เป็นหนึ่งในสี่เส้นทางนำร่องที่ได้รับการบรรจุลงในร่างแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่สอง ซึ่งจะมีเส้นทางรถไฟฟ้าเพิ่มเติมถึง 10 เส้นทางที่ขยายเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต และกรมการขนส่งทางราง (สถานะปัจจุบันของ สำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) ยังได้ร่วมมือกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นได้พิจารณาต่อขยายเส้นทางไปตามถนนสรรพาวุธ และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับโครงการพัฒนาสถานีรถไฟแม่น้ำบริเวณถนนพระรามที่ 3 เพื่อเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่จะขนส่งผู้โดยสารเข้าสถานีหลักของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว
ในปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้ก่อสร้างทางแยกหลังจากออกจากสถานีอุดมสุขไว้ทั้งขาเข้าเมือง (North-Bound) และขาออกเมือง (East-Bound) ที่บริเวณถนนสุขุมวิทช่วงทางแยกต่างระดับบางนา-สุขุมวิท และได้ก่อสร้างตอม่อรูปตัว U คว่ำตั้งแต่ด้านหน้าพื้นที่ก่อสร้างศูนย์การค้าแบงค็อก มอลล์ ไปจนถึงสี่แยกบางนา เพื่อเตรียมไว้สำหรับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้โดยเฉพาะ แต่หลังจากการปรับแบบครั้งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดในการย้ายสถานีปลายทางไปอยู่บริเวณถนนสรรพาวุธด้านหน้าศาลจังหวัดพระโขนง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการติดต่อศาลหรือสำนักงานเขตบางนาให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สถานะก่อน กรมการขนส่งทางราง) ได้ออกแบบเส้นทางต่อขยายจากสถานีบางนาไปตามทางพิเศษเฉลิมมหานครก่อนเบี่ยงออกเข้าถนนทางรถไฟสายเก่าเพื่อมุ่งหน้าสู่สถานีแม่น้ำต่อไป
พื้นที่เส้นทางผ่าน
[แก้]แขวง/ตำบล | เขต/อำเภอ | จังหวัด |
---|---|---|
ช่องนนทรี | ยานนาวา | กรุงเทพมหานคร |
คลองเตย / พระโขนง | คลองเตย | |
พระโขนงใต้ | พระโขนง | |
บางนาเหนือ | บางนา | |
บางแก้ว / บางพลีใหญ่ / ราชาเทวะ / บางโฉลง / หนองปรือ | บางพลี | สมุทรปราการ |
รูปแบบของโครงการ
[แก้]- เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (light rail transit) สามารถปรับเปลี่ยนระบบเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก (heavy rail transit) ได้ตามความต้องการของผู้ให้บริการ
- ทางวิ่ง ช่วงบางนา - ประภามนตรี ยกระดับที่ความสูง 9 เมตร ช่วงประภามนตรี - กาญจนาภิเษก ยกระดับที่ความสูง 20 เมตรตลอดช่วง หลังจากนั้นจะยกระดับขึ้นเป็น 24 เมตรเพื่อข้ามทางแยกต่างระดับวัดสลุด แล้วลดระดับเหลือ 18 เมตรไปจนถึงสถานีปลายทางสุวรรณภูมิ
- ขนาดราง 1.435 เมตร (standard guage) โดยมีรางที่ 3 ขนานไปกับรางวิ่งสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตัวรถ
- ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ
ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ
[แก้]จะมีศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่บนพื้นที่ขนาด 29 ไร่ บริเวณโครงการธนาซิตี้ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเวนคืนที่ดินจำนวนนี้จาก บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการธนาซิตี้แทนการรับการสนับสนุนจากกลุ่มบีทีเอส เพื่อนำไปใช้เป็นที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง
สถานี
[แก้]มีทั้งหมด 14 สถานี (สถานีในอนาคต 2 สถานี) เป็นสถานียกระดับทั้งหมด ตัวสถานียาวประมาณ 250 เมตร กว้าง 18 เมตร โดยมีสถานีทั้งหมดสามรูปแบบ ดังนี้
- สถานียกระดับเต็มความสูงแบบเสาเดี่ยว เป็นรูปแบบสถานีพื้นฐานของโครงการ ยกระดับเหนือเกาะกลางระหว่างทางคู่ขนานและทางหลักฝั่งขาออกถนนเทพรัตน มีทั้งหมด 9 สถานี (รวมสถานีส่วนต่อขยาย)
- สถานียกระดับเต็มความสูงแบบเสาคู่ เป็นรูปแบบสถานีที่ออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงโครงสร้างบางช่วงของทางพิเศษบูรพาวิถี ยกระดับคร่อมทางคู่ขนานถนนเทพรัตน มีทั้งหมด 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 25 สถานีเปรมฤทัย สถานีกาญจนาภิเษก และสถานีธนาซิตี้
- สถานียกระดับแบบครึ่งความสูง เป็นสถานีรูปแบบพิเศษที่ออกแบบตามข้อจำกัดของพื้นที่ตั้งสถานี โดยมีระดับชานชาลาสูง 9 เมตร และชั้นขายบัตรโดยสารอยู่ในระดับดิน มีหนึ่งสถานี ได้แก่สถานีบางนา
ตัวสถานีออกแบบให้มีประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งความสูง (Half-height) ทุกสถานี หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงออกแบบให้รักษาสภาพผิวจราจรบนถนนให้ได้มากที่สุด และมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างถนน
เส้นทาง
[แก้]โครงการช่วงบางนา–ธนาซิตี้
[แก้]แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นจากถนนสรรพาวุธ บริเวณด้านหน้าการไฟฟ้านครหลวง เขตบางนา สำนักงานเขตบางนาแห่งใหม่ และศาลจังหวัดพระโขนง วิ่งตามแนวถนนสรรพาวุธ ผ่านสี่แยกบางนาแล้วเบี่ยงเข้าเกาะกลางระหว่างถนนเทพรัตนและทางคู่ขนานเทพรัตนฝั่งขาออกเมือง มุ่งไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ข้ามคลองบางนาเข้าเขตจังหวัดสมุทรปราการ ผ่านแยกต่างระดับกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก แยกต่างระดับกิ่งแก้ว อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโมโนเรล สายกิ่งแก้ว-สุวรรณภูมิ แล้วสิ้นสุดเส้นทางบริเวณถนนเทพรัตน กิโลเมตรที่ 13 ด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุง รวมระยะทางทั้งสิ้น 16.4 กิโลเมตร
โครงการช่วงธนาซิตี้–สุวรรณภูมิ
[แก้]แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นจากถนนเทพรัตน กิโลเมตรที่ 13 แล้วเลี้ยวเข้าถนนสุวรรณภูมิ 3 ผ่านศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ และเกริกวิทยาลัยแล้วข้ามคลองหนองปรือกับคลองหนองงูเห่า เข้าพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แนวเส้นทางจะลดระดับลงเป็นเส้นทางใต้ดิน แล้วสิ้นสุดเส้นทางที่ชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้ รวมระยะทางทั้งสิ้น 6.4 กิโลเมตร
ทั้งนี้ แนวเส้นทางดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องรอการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิฝั่งใต้ขึ้นเสียก่อน ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3–4 แต่อย่างไรก็ตาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการปรับแบบอาคารผู้โดยสารฝั่งนี้เพื่อรองรับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าให้เข้ามาจอดที่อาคารผู้โดยสารได้โดยตรง กรณีนี้จะไม่เหมือนกับสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่การก่อสร้างสถานีไม่ได้สร้างที่ชั้นใต้ดินของอาคารผู้โดยสาร แต่ก่อสร้างบริเวณพื้นที่ว่างระหว่างอาคารจอดรถแล้วเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานผ่านชั้นใต้ดิน ซึ่งเดิมเป็นชั้นที่เตรียมไว้สำหรับทำทางเดินไปยังโรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิ
รายชื่อสถานี
[แก้]ชื่อและสีของสถานี | รหัสสถานี | จุดเปลี่ยนเส้นทาง | วันที่เปิดให้บริการ | ||
---|---|---|---|---|---|
บางนา | SL01 | สายสุขุมวิท สถานีบางนา, สถานีอุดมสุข ท่ารถตู้โดยสารร่วมให้บริการ แยกบางนา |
|||
ประภามนตรี | SL02 | ||||
เทพรัตน 17 | SL03 | ||||
เทพรัตน 25 | SL04 | ||||
ศรีเอี่ยม | SL05 | สายสีเหลือง สถานีศรีเอี่ยม | |||
เปรมฤทัย | SL06 | ||||
เทพรัตน กม.6 | SL07 | ||||
บางแก้ว | SL08 | ||||
กาญจนาภิเษก | SL09 | ท่ารถตู้โดยสารร่วมให้บริการ เมกาบางนา | |||
วัดสลุด | SL10 | ||||
กิ่งแก้ว | SL11 | ||||
ธนาซิตี้ | SL12 | ||||
มหาวิทยาลัยเกริก | SL13 | ||||
สุวรรณภูมิ อาคารใต้ | SL14 | สายซิตี้ สุวรรณภูมิ อาคารใต้ | |||
ความคืบหน้า
[แก้]- 9 เมษายน พ.ศ. 2561 - นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยแผนการจัดทำร่างแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องระยะที่ 2 (M-Map Phase 2) โดย สนข. ได้ยกเส้นทางสายนี้เข้าเป็นหนึ่งในสี่เส้นทางนำร่องเพื่อพัฒนาเป็นแผนแม่บทต่อไป
- 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยแผนการจัดทำร่างแผนแม่บทโครงการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องระยะที่ 2 (M-Map Phase 2) ร่วมกับทางไจก้า โดยทางไจก้าเสนอให้ต่อขยายเส้นทายสายนี้เพิ่มเติมจากบริเวณแยกสรรพาวุธไปยังสถานีแม่น้ำ ถนนพระรามที่ 3 เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากย่านสมุทรปราการเข้าสู่สถานีแม่น้ำที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร โดยให้แนวทางพาดผ่านพื้นที่ที่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าถึง พร้อมกับพิจารณาตัดเส้นทางส่วนธนาซิตี้-วัดศรีวารีน้อยออกเพื่อลดระยะทาง และยกระดับโครงการเป็นรถไฟฟ้ารางหนักเพื่อลดภาระของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่จะเปลี่ยนเป็นรถไฟความเร็วสูงแทน
- 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 - กรุงเทพมหานครเปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการฯ ว่าปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แต่เพื่อให้โครงการเดินหน้าโดยเร็ว กรุงเทพมหานครได้จัดทำเอกสารร่างขอบเขตงานเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP-Netcost Model) ระยะเวลาสัญญา 30 ปีควบคู่ไปด้วย ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้นได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจร (คจร.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งมีนโยบายให้ใช้วิธีการเวนคืนที่ดินสำหรับก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการบริเวณโครงการธนาซิตี้จาก บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) แทนการรับการสนับสนุนจากกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป เนื่องจากเกรงว่าเอกชนที่ได้งานจะเป็นคนละรายกัน
- 19 กันยายน พ.ศ. 2561 นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ภายในปี 2561 กรุงเทพมหานครจะพยายามผลักดันเร่งรัดให้เกิดโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าไลท์เรล สายบางนา-สุวรรณภูมิ และรถไฟฟ้าสายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ให้ได้ โดยให้สำนักการจราจรและขนส่ง ติดตามผลการจัดทำรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของรถไฟฟ้าไลท์เรล สายบางนา-สุวรรณภูมิ ในขณะที่สายสีเทา ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานครจะไปหารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เนื่องจากจำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยบางส่วนในการก่อสร้างโครงการ[2]
- 16 กันยายน พ.ศ. 2562 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพเร่งผลักดันให้เริ่มนโยบายสายสีเทา ช่วงระยะที่ 1 วัชรพล-ทองหล่อ รวมถึงระยะที่ 3 นราธิวาส-พระราม 3 อยู่ในขั้นตอนจ้างที่ปรึกษาดูรายละเอียดใหม่ทั้งหมด เพราะต้องปรับรายละเอียดให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป และไลท์เรลสายบางนา-สุววรณภูมิ ในต้นปี 2563 โดยไลท์เรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ ปัจจุบันกทม.ประสานขอใช้พื้นที่กับกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากจะต้องสร้างบนถนนบางนา-ตราด ซึ่ง กทม.จะเร่งดำเนินการเปิดร่วมทุน PPP [3]
- สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้จัด การประชุมสัมมนาปฐมนิเทศน์โครงการ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการออกแบบเบื้องต้น โครงการระบบรถไฟรางคู่ขนาดเบา (LRT) สายบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564 ผ่านแอปพลิเคชันซูม ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลาศึกษาอีก 6 เดือน การศึกษาจะแล้วเสร็จพร้อมนำเสนอต่อคณะกรรมการพีพีพีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการได้ในปีเดียวกัน
- 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564 นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าปัจจุบันมีความพร้อมในการดำเนินสูง คาดว่าสามารถสรุปผลการศึกษาที่เหมาะสมภายในต้นปี 2565 และอนุมัติโครงการภายในปี 2566 และเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลในปี 2567 ใช้เวลา 4 ปี (2568-2571) คาดการณ์จะเปิดให้บริการปี 2572[4]
- 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ที่มีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน มีมติเห็นชอบโอนภารกิจโครงการรถไฟฟ้าที่จะต้องลงทุนก่อสร้างใหม่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับคืนไปให้กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสายสีเงิน สายสีเทา และสายสีฟ้า โดยกรณีของสายสีเงินสาเหตุมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวงซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม และเส้นทางเกินครึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ[5]
การปรับเปลี่ยนเส้นทาง
[แก้]- พ.ศ. 2559 - กรุงเทพมหานครมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนเส้นทางและเพิ่มความถี่ของสถานีให้มากขึ้น โดยปรับเส้นทางจากเดิมที่จะเริ่มต้นจากสถานีอุดมสุขของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ให้ไปเริ่มต้นที่บริเวณแยกสรรพาวุธ ด้านหน้าศาลจังหวัดพระโขนง และสำนักงานเขตบางนาแห่งใหม่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มีต้องการติดต่อศาลสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก
- พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - สนข. และไจก้าได้พิจารณาเส้นทางรถไฟฟ้าสายนี้ใหม่ทั้งหมด และมีความเห็นให้ต่อขยายเส้นทางจากปลายฝั่งสรรพาวุธลัดเลาะไปตามถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ เข้าถนนอาจณรงค์ ไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครแล้วเลี้ยวเข้าถนนพระรามที่ 3 ก่อนไปสิ้นสุดที่สถานีแม่น้ำซึ่งจะพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ยังได้พิจารณายกเลิกเส้นทางสายแยก ธนาซิตี้-วัดศรีวารีน้อย เพื่อลดระยะทางจากเดิมเป็นเน้นขนคนจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแทน ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวยังเป็นเส้นทางศึกษาเพื่อบรรจุลงเป็นแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนระยะที่ 2
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "BMA proposing Bang Na-Suvarnabhumi light rail". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2016-11-24.
- ↑ กทม.ดันรถไฟฟ้าใหม่2สาย ไลต์เรลสุวรรณภูมิ-สีเทา1
- ↑ กทม.เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้าสายสีเทา/ไลท์เรลบางนา-สุวรรณภูมิ เริ่มปี’63
- ↑ กทม. เร่งสรุป “LRT บางนา-สุวรรณภูมิ” 2.7 หมื่นล้าน ชงประมูล-สร้างปี66
- ↑ กทม.ยกเลิกโครงการสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย "เงิน-เทา-ฟ้า"