ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนราชินี

พิกัด: 13°44′33″N 100°29′38″E / 13.742538°N 100.494003°E / 13.742538; 100.494003
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนราชินี
Rajini School
ที่ตั้ง
แผนที่
พิกัด13°44′33″N 100°29′38″E / 13.742538°N 100.494003°E / 13.742538; 100.494003
ข้อมูล
ชื่ออื่นส.ผ. (RJ)
ประเภทโรงเรียนเอกชน
คำขวัญบาลี: รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธุํ ลวณํ โลณตํ ยถา
(ให้รักษาความดีของตนไว้ ดั่งเกลือรักษาความเค็ม)
สถาปนา1 เมษายน พ.ศ. 2447 (120 ปี)
ผู้ก่อตั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ท่านผู้จัดการกิตติคุณหม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ
ผู้จัดการนางสุภกัญญา ชวนิชย์
ระดับชั้นอ.2 – ม.6
เพศหญิง (เฉพาะระดับมัธยมศึกษา)
จำนวนนักเรียนประมาณ 3000 คน
สี   สีน้ำเงิน-สีชมพู
เพลงพิกุลแก้ว, ราชินีเป็นที่รัก, เทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
เว็บไซต์http://www.rajini.ac.th
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนโรงเรียนราชินี
ขึ้นเมื่อ22 กันยายน พ.ศ. 2548
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005383

โรงเรียนราชินี โรงเรียนผลิตสตรีคุณภาพแห่งแรกของประเทศไทยในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว [1]

ประวัติ

[แก้]
สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ พระราชทานกำเนิด โรงเรียนราชินีเมื่อ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ณ ตึกแถวมุม ระหว่าง ถนนอัษฎางค์ และถนนจักรเพชร ตำบลปากคลองตลาด (ปัจจุบันคือ แขวงวังบูรพาภิรมย์) ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และได้ทรงจ้างครูมาจาก ประเทศญี่ปุ่น ถึง 3 คน ให้สอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปักถักร้อย และการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ครูทั้ง 3 คนนี้อยู่ประจำโรงเรียน คนแรก ชื่อยาซูอิ เท็ตซึ (ญี่ปุ่น: 安井てつโรมาจิYasui Tetsu; ราชบัณฑิตยสภา: เท็ตสึ ยาซูอิ) ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ และต่อมาได้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสตรีคริสเตียนโตเกียว[2] ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ และได้ทรงจ้างสตรีไทยมาเป็นครูสอนภาษาไทย และการตัดเย็บเสื้อผ้า เพิ่มอีกคนหนึ่ง

สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานโครงการศึกษาไว้คือ ให้มีความรู้ทางการช่างฝีมือขนาดสามารถประกอบอาชีพได้ ให้อ่านออกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสามารถเขียนให้ผู้อื่นเข้าใจได้ มีการอบรมศีลธรรม จรรยาและมารยาท พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในโรงเรียน ตลอดจนเงินเดือนครู

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงรับพระราชภารกิจแทนสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พระยาสุรินทราชา - นกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และให้สอนวิชาภูมิศาสตร์ในชั้นใหญ่เพิ่มขึ้นอีกวิชาหนึ่ง

สมัยแรกโรงเรียนแบ่งเป็น 2 ภาค ในภาคเรียนที่สองของแรกที่ก่อตั้งนั้น โรงเรียนได้ย้ายไปอยู่ตึกริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ปากคลองหลอด ท่าช้างวังหน้า ข้างวังกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ถนนพระอาทิตย์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ มาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนชั้นใหญ่ หม่อมเจ้าเฉลียววรรณมาลา กมลาศน์ สอนนักเรียนชั้นเล็ก และให้เปิดรับนักเรียนกินนอน ในพ.ศ. 2448

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

พ.ศ. 2449 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรงเรียนราชินีได้ย้ายมาอยู่ ณ สถานที่สุนันทาลัย (บริเวณโรงเรียนในปัจจุบัน)

เมื่อครูญี่ปุ่นทั้งสามทำการสอนอยู่จนหมดสัญญาจ้างแล้วจึงกลับประเทศของตน ขณะนั้นโรงเรียนมีนักเรียนจำนวน 105 คน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ รักษาการตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นอาจารย์พิเศษ พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ (เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี - หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการแทนพระยาสุรินทราชา ซึ่งกราบถวายบังคมลาไปรับราชการหัวเมือง พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี - สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้มาช่วยเหลือกิจการของโรงเรียนอยู่ด้วย เพราะพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี มีราชการมากไม่สามารถมาดูแลโรงเรียนได้สม่ำเสมอ

ต่อมาหม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ และหม่อมเจ้าเฉลียววรรณมาลา กมลาศน์ กราบถวายบังคมลาออกจากโรงเรียน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นอาจารย์ใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2450 โรงเรียนเริ่มใช้หลักสูตรของกระทรวงธรรมการตั้งแต่ครั้งนั้น แต่วิชาประดิษฐ์ดอกไม้แห้งชึ่งไม่มีในหลักสูตรยังคงจัดสอนแก่นักเรียนชั้นใหญ่ต่อไป

พ.ศ. 2457 ได้เปิดแผนกการช่างขึ้นอีกแผนกหนึ่ง สอนภาษาไทยถึงชั้นประถม 3 (จบระดับประถมศึกษาสมัยนั้น) สอนวิชาเย็บปักถักร้อย ทำดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง และประกอบอาหาร สอนให้มีความรู้ถึงขั้นเป็นครูได้ แต่นักเรียนส่วนมากเป็นนักเรียนในบำรุง ซึ่งไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แผนกนี้มีอันต้องยุบเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2470 เพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ปรากฏว่านักเรียนที่สำเร็จจากแผนกการช่างนี้หลายคนได้ไปสอนการฝีมือในโรงเรียนสตรีต่าง ๆ ของกรมศึกษาธิการ

พ.ศ. 2460 โรงเรียนได้เปิดชั้นมัธยมวิสามัญขึ้นสอนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาวาดเขียน มีครูชาวต่างประเทศ ที่สำเร็จวิชาเหล่านี้มาสอนร่วมกับครูไทย และในนี้โรงเรียนได้รับใบรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธานในพิธีเข้าประจำหน่วยอนุกาชาดครั้งแรกที่โรงเรียนราชินี

พ.ศ. 2462 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคต นับแต่นั้นโรงเรียนได้รับความอุปการะจากเจ้านายหลายพระองค์ ซึ่งประทานเงินบำรุงโรงเรียนบ้าง ตั้งทุนสำหรับนักเรียนที่เรียนดีบ้าง พ.ศ. 2465 ได้ตั้งหน่วยอนุกาชาด (ยุวกาชาด) ขึ้น พ.ศ. 2466 เปิดแผนกอนุบาลทารกขึ้นอีกแผนกหนึ่ง รับเด็กอายุ 3-5 ขวบ โดยไม่เก็บเงินบำรุง

พ.ศ. 2471 โรงเรียนแบ่งภาคเรียนเป็น 3 ภาค และปิดในวันเทศกาลต่าง ๆ ตามปฏิทินหลวง และให้นักเรียน แต่งเครื่องแบบอย่างที่แต่งอยู่ทุกวันนี้ ชั้นเรียนมีมัธยมวิสามัญ 2 ห้อง มัธยมสามัญ 6 ห้อง ประถม 3 ห้อง เตรียมประถม 1 ห้อง รวม 12 ห้องเรียน การเรียนของมัธยมวิสามัญแบ่งเป็น 2 สาย ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ คือแผนกภาษาและแผนกวิทยาศาสตร์

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

พ.ศ. 2472 สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงสร้างโรงเรียนราชินีบนขึ้น ได้ย้ายชั้นมัธยมวิสามัญศึกษาจากโรงเรียนราชินีไปเรียนที่โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนราชินีจึงเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมที่ 6 เป็นชั้นสูงสุด ต่อมาได้ตั้งแผนกวิสามัญการเรือนขึ้น ซึ่งได้ยุบเลิกไปใน พ.ศ. 2486 และได้เริ่มเปิดชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่ 1 ขึ้นใน พ.ศ. 2489

สมาคมนักเรียนเก่าราชินีในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อพ.ศ. 2483 และใน พ.ศ. 2484 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง "ราชินีมูลนิธิ" ขึ้น มีหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 ท่าน

พ.ศ. 2486 หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล อาจารย์ใหญ่ถึงชีพิตักษัย หม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่สืบต่อมา หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล เป็นผู้จัดการโรงเรียนและเป็นประธานกรรมการ "ราชินีมูลนิธิ"

พ.ศ. 2487 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โรงเรียนได้อพยพไปสอนที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 จึงย้ายกลับมาสอน ณ ที่เดิม

พ.ศ. 2512 หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ถึงชีพิตักษัย หม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล จึงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน และประธานกรรมการ "ราชินีมูลนิธิ"

โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย การดำเนินกิจการของโรงเรียน การสอน การวัดผลการศึกษา เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการทุกประการ

1 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 นางเสนาะจิตร สุวรรณโพธิ์ศรี ทำหน้าที่รักษาการครูใหญ่ เพราะหม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล ทรงพระชรา ไม่สามารถบริหารงานได้

11 ธันวาคม พ.ศ. 2517 นางเสนาะจิตร สุวรรณโพธิศรี ลาออก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ผู้จัดการโรงเรียน ทรงทำหน้าที่รักษาการครูใหญ่

19 มิถุนายน พ.ศ. 2518 หม่อมราชวงศ์ผกาแก้ว จักรพันธุ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นครูใหญ่ จนถึง พ.ศ. 2522 จึงได้ขอลาออก

พ.ศ. 2523 "ราชินีมูลนิธิ" ได้แต่งตั้ง นางประยงคุ์ศรี อุณหธูป เป็นครูใหญ่สืบต่อมา ซึ่งได้ลาออกไปตามวาระเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2533

"ราชินีมูลนิธิ" แต่งตั้ง หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ เป็นครูใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 และ พ.ศ. 2541 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ผู้จัดการโรงเรียนสิ้นพระชนม์ ราชินีมูลนิธิจึงแต่งตั้งให้ หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการอีกหนึ่งตำแหน่ง

1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 "ราชินีมูลนิธิ" ให้หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ นาครทรรพ คงดำรงตำแหน่งผู้จัดการ และแต่งตั้งให้ นางเรืองศิริ สิงหเดช เป็นครูใหญ่

สัญลักษณ์

[แก้]
ดอกพิกุล

สีประจำโรงเรียน

[แก้]

สีประจำโรงเรียนนั้นคือสีน้ำเงินและสีชมพู ซึ่งสีน้ำเงินนั้นเป็นสีประจำวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ สีชมพู หมายถึงสีประจำวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อักษรย่อ

[แก้]

ตัวอักษรย่อของโรงเรียนราชินีนั้นคือ ส.ผ. ซึ่งมาจากพระนามเดิมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือ "เสาวภาผ่องศรี" ซึ่งจะปักด้วยไหมสีขาวไว้ที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย(ตรงหัวใจ)ของนักเรียนทุกคน

ดอกไม้ประจำโรงเรียน

[แก้]

ดอกไม้ประจำโรงเรียนราชินีคือดอกพิกุล ซึ่งดอกพิกุลนั้นแม้จะร่วงหล่นจากต้นผิแห้งไปแล้วแต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นหอม ซึ่งเป็นการสอนนักเรียนราชินีให้ประพฤติตนเองให้ดีดั่งดอกพิกุลไม่ว่าจะแก่ชราก็ขอให้คงความดีเอาไว้

ส่วนที่เรียกว่าพิกุลแก้วนั้น เพราะแต่เดิมโรงเรียนราชินีเป็นโรงเรียนในวังเป็นการเรียกให้สอดคล้องกับสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ตัวอย่างเช่น นางของกษัตริย์ก็จะเรียกว่านางแก้ว ช้างของกษัตริย์ก็จะเรียกว่าช้างแก้ว

เพลงประจำโรงเรียน

[แก้]

เพลงประจำโรงเรียนราชินีนั้นมีทั้งหมดจำนวน 3 เพลง คือ เพลงราชินีเป็นที่รัก (ไทยเดิม) เพลงพิกุลแก้ว และ เพลงเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

ซึ่งในตอนแรกนั้น เพลงพิกุลแก้วเป็นเพียงบทกลอนซึ่งหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุลทรงประพันธ์โดยลายพระหัตถ์ให้นักเรียนซึ่งสำเร็จการศึกษา แต่ต่อมาได้มีการใส่ทำนองเข้าไปแล้วใช้เป็นเพลงประจำโรงเรียน แต่เนื่องจากเป็นลายพระหัตถ์ซึ่งค่อนข้างอ่านยาก จึงมีการเข้าใจว่าทรงประพันธ์วรรคแรกของบทที่สองว่า "เมื่อถึงคราวชรา" ซึ่งในหนังสือรุ่นหรือบันทึกเนื้อเพลงก็จะเขียนไว้เช่นนั้น แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีการตรวจสอบอีกทีจึงทราบว่าทรงประพันธ์ไว้ว่า "แม้ว่าถึงคราวชรา" และสำหรับนักเรียนราชินีแล้วเพลงนี้จะเป็นเพลงที่ผูกพันมากที่สุด

คำปฏิญาณตน

[แก้]

ทุกวันหลังจากสิ้นสุดการร้องเพลงชาติ แล้วนักเรียนราชินีทุกคนจะกล่าวคำปฏิญาณตนดังนี้

พวกเราเป็นไทยอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีชาติ มีศาสนา พระมหากษัตริย์

ซึ่งบรรพบุรุษของเรา เอาเลือด เอาเนื้อ เอาชีวิต และความลำบากยากเข็ญเข้าแลกไว้

เราต้องสละชีพเพื่อชาติ เราต้องบำรุงศาสนา เราต้องรักษาพระมหากษัตริย์

เรานักเรียนจะต้องประพฤติตน อยู่ในระเบียบวินัยของโรงเรียน มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น

เรานักเรียนจักต้องไม่ทำตน ให้เป็นที่เดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น

ชีวิตภายในรั้วโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนราชินีมีการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 2 ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6

ในระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษานั้นจะมีทั้งนักเรียนหญิงและนักเรียนชาย (ซึ่งจะมีนักเรียนประมาณ 10-20 คน ต่อช่วงชั้น ในช่วงชั้นหนึ่ง ๆ จะมีนักเรียนประมาณ 200-300 คน) ส่วนในระดับมัธยมเปิดสอนเฉพาะนักเรียนหญิงเท่านั้น

ทุก ๆ ปีจะมีการเลือกตั้งประธานนักเรียนเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนประถมศึกษา และส่วนมัธยมศึกษา แบ่งเป็นสี่พรรคคือ

  1. พรรคพิกุลแก้วก้าวหน้า
  2. พรรคอาสาราชินี
  3. พรรคน้ำเงินชมพูพัฒนา
  4. พรรคราชินีสร้างสรรค์

ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคเดียวกัน จะมีการจัดการหาเสียงและอภิปรายเสนอนโยบายต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนนักเรียน

นักเรียนผู้ดี

[แก้]
  • ระดับชั้นอนุบาล ครูประจำชั้นจะมอบดาวเด็กดีซึ่งมีเจ็ดสีและเจ็ดความหมายให้กับนักเรียนที่มีคุณสมบัติ [3]
    • ดาวสีแดง เป็นนักเรียนที่มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์
    • ดาวสีเหลือง เป็นนักเรียนที่มีความสามารถคิดรวบยอด คิดแก้ปัญหา และคิดริเริ่มสร้างสรรค์
    • ดาวสีชมพู เป็นนักเรียนที่มีความสนใจใฝ่รู้ รักการอ่าน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
    • ดาวสีเขียว เป็นนักเรียนที่มีสุขนิสัย สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี
    • ดาวสีแสด เป็นนักเรียนที่มีความรู้ และทักษะพื้นฐานตามพัฒนาการทุกด้าน
    • ดาวสีฟ้า เป็นนักเรียนที่มีความสามารถทำงานจนสำเร็จ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
    • ดาวสีม่วง เป็นนักเรียนที่มีสุนทรียภาพ และลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรี และ การเคลื่อนไหว

ระดับชั้นประถมศึกษา ขึ้นไปจะมีการเลือกโดยเพื่อนนักเรียนและคุณครูถึงนักเรียนที่มีคุณสมบัติตามหัวข้อ เช่น ตรงต่อเวลา อยู่อย่างพอเพียง ประหยัด มีจิตสาธารณะ มีสัมมาคารวะ จะมีการมอบเกียรติบัตรกุหลาบแดงให้กับนักเรียนที่มีความประพฤติดี สองคนต่อห้องทุก ๆ ปี โดยสังเกตจากความดีที่ได้บันทึกลงในสมุดความดีเป็นสำคัญ

ยุวกาชาด

[แก้]

โรงเรียนราชินีเป็นโรงเรียนแรกที่ได้จัดการเรียนการสอนวิชายุวกาชาดขึ้น และดำรงมาจนถึงทุกวันนี้ โดยจะเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่จะมีการสวมเครื่องแบบเมื่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เป็นต้นไป และจะมีการจัดค่าย (จัดครั้งแรกชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ต่อไปก็จะเป็น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) ซึ่งจะมีการจัดค่ายที่ "ค่ายสุทธสิริโสภา" ตั้งอยู่ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

อาคาร

[แก้]

ตึกสุนันทาลัย

[แก้]
ตึกสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี

ตึกสุนันทาลัย เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น ทาสีขาว ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ Neo Classic ด้านหน้ามีมุขเป็นรูปมงกุฎยื่นออกมา ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ส่วนยอดประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 มีประตูใหญ่ ออกมาสู่มุขที่เป็นเฉลียงรูปโค้ง ซุ้มประตูทำเป็นรูปโค้งรองรับด้วยเสาโครินเธียน ประดับด้วยตุ๊กตาปั้นตั้งอยู่ในช่อง ส่วนยอดอาคารมีหลังคาโดม ซึ่งต่อมาสูญหายไป สันนิษฐานว่าถูกรื้อไประหว่างการบูรณะอาคาร

ผังตึกสุนันทาลัยเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยด้านหน้าหันออกสู่แม่น้ำ ส่วนด้านหลังหันออกสู่ถนนมหาราช มีมุขยื่นออกมา จึงดูคล้ายรูปกากบาท ทางขึ้นชั้นบนอยู่ภายนอกอาคาร อยู่ตรงกับทางเดินด้านหน้า โครงสร้างเป็นกำแพงรับน้ำหนัก หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องไม่มีกันสาด มีทางเดินโดยรอบทำหน้าที่เป็นกันสาด ในตัวทางเดินด้านหน้ามีผนังเจาะโค้งรูปครึ่งวงกลม มีช่องแสงรูปครึ่งวงกลมเหนือประตูภายใน ประดับด้วยกระจกสีลวดลายงดงาม [4]

ตึกสุนันทาลัย เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถาน แสดงความอาลัยรักถึงพระมเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเสด็จทิวงคตด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาได้พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีสุนันทาลัย เป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินีในเวลาต่อมา

ตึกสุนันทาลัย ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ประจำปี พ.ศ. 2525

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2548 เกิดเหตุเพลงไหม้ชั้นบนของตึกสุนันทาลัย โครงหลังคาและฝ้าเพดานชั้นสองซึ่งเป็นไม้เสียหายทั้งหมด เนื่องจากความสะเพร่าของผู้รับเหมาซ่อมแซมอาคาร [5][6] ราชินีมูลนิธิ ซึ่งเป็นผู้ดูแลอาคาร ได้มีมติที่จะบูรณะตึกสุนันทาลัยให้มีลักษณะใกล้เคียงกับอาคารเดิมตั้งแต่แรกสร้าง โดยการเสริมความแข็งแรงของอาคารเดิม และก่อสร้างหลังคาโดม และดวงโคมบนยอดตึก รวมถึงบันไดโค้งจากด้านข้างของหน้ามุขทอดตัวลงสู่ด้านหน้า สร้างด้วยหินอ่อน ตามแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอาคารที่ทรุดไปตามกาลเวลาขึ้นอีก 1.5 เมตร ปัจจุบัน ชั้นล่างได้ใช้เป็นสถานที่เรียนดนตรีไทย ด้านปี่พาทย์ ชั้นชนใช้ประกอบพิธีและใช้เรียนเครื่องสาย [1]

โรงเรียนราชินี ในอดีต มุมมองจากแม่น้ำเจ้าพระยา

อาคารพิจิตรจิราภา

[แก้]

เป็นตึกเรียนของนักเรียนอนุบาล ห้องเรียนดนตรีสากล ห้องพยาบาล และห้องนาฏศิลป์

อาคารเสาวภาผ่องศรี

[แก้]

เป็นตึกนักเรียนประถม

อาคารสุทธสิริโสภา

[แก้]

เป็นตึกนักเรียนมัธยม

อาคารห้องครัวมาลี

[แก้]

ห้องครัวมาลีมีอยู่ 4 ห้อง เป็นสถานเรียนการประกอบอาหาร

อาคารเรือนเสถียร

[แก้]

เป็นสถานที่เรียนศิลปะของนักเรียนมัธยมศึกษาและการสอนเสริมในตอนเย็น

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน

[แก้]
ลำดับ รูป รายพระนามและรายนาม ตำแหน่ง เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 มิสยาซูอิ เททสุ
(YASUI TETSU)
[# 1]
อาจารย์ใหญ่ 1 เมษายน พ.ศ. 2447 [# 2][เมื่อไร?]
2 หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์
(นกยูง วิเศษกุล)
ผู้อำนวยการโรงเรียน [# 3][เมื่อไร?] [# 4][เมื่อไร?]
3 หม่อมเจ้ามัณฑารพ กมลาศน์ รักษาการตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ [# 5][เมื่อไร?] 1 มีนาคม พ.ศ. 2474
4 พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์
(หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)
[# 6]
ผู้อำนวยการโรงเรียน [# 7][เมื่อไร?] [เมื่อไร?]
5 หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล อาจารย์ใหญ่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2450[# 8] พ.ศ. 2486
6 หม่อมเจ้าอัจฉราฉวี เทวกุล อาจารย์ใหญ่
ผู้จัดการโรงเรียน
พ.ศ. 2486
พ.ศ. 2512[# 9]
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2516
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2516
7 หม่อมเจ้าวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ผู้จัดการโรงเรียน พ.ศ. 2486 พ.ศ. 2512
8 นางเสนาะจิตร (เทพหัสดิน ณ อยุธยา) สุวรรณโพธิ์ศรี รักษาการครูใหญ่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 [# 10] 11 ธันวาคม พ.ศ. 2517
9 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา รักษาการครูใหญ่
ผู้จัดการโรงเรียน
11 ธันวาคม พ.ศ. 2517 พ.ศ. 2541
10 หม่อมราชวงศ์ผกาแก้ว จักรพันธุ์ ครูใหญ่[# 11] 19 มิถุนายน พ.ศ. 2518 พ.ศ. 2522
11 นางประยงคุ์ศรี (นาคะนาท) อุณหธูป ครูใหญ่ พ.ศ. 2523 30 เมษายน พ.ศ. 2533
12 หม่อมหลวงประทิ่นทิพย์ (เทวกุล) นาครทรรพ ครูใหญ่
ผู้จัดการโรงเรียน
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2533
พ.ศ. 2541
15 มิถุนายน พ.ศ. 2546
ปัจจุบัน
13 นางเรืองศิริ สิงหเดช ครูใหญ่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 2562
14 นางสุภกัญญา ชวนิช ผู้จัดการ 2563 ปัจจุบัน


หมายเหตุ
  1. สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจ้างครูมาจากประเทศญี่ปุ่น 3 คน ให้สอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปัก และการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ครูทั้งสามคนนี้อยู่ประจำโรงเรียน คนหนึ่งชื่อ มิสยาซูอิ เททสุ (YASUI TETSU) สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เป็นอาจารย์ใหญ่
  2. หมดสัญญาจ้างแล้วจึงกลับประเทศของตน ขณะนั้นโรงเรียนมีนักเรียนจำนวน 105 คน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ รักษาการตำแหน่งอาจารย์ใหญ่
  3. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงรับพระราชภารกิจแทนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (นกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
  4. พระยาสุรินทราชากราบถวายบังคมลาไปรับราชการหัวเมือง
  5. มิสยาซูอิ เททสุหมดสัญญาจ้างแล้วจึงกลับประเทศของตน ขณะนั้นโรงเรียนมีนักเรียนจำนวน 105 คน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ รักษาการตำแหน่งอาจารย์ใหญ่
  6. พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ได้มาช่วยเหลือกิจการของโรงเรียนอยู่ด้วย เพราะพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี มีราชการมากไม่สามารถมาดูแลโรงเรียนได้สม่ำเสมอ
  7. พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์เป็นผู้อำนวยการแทนพระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) ซึ่งกราบถวายบังคมลาไปรับราชการหัวเมือง
  8. หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ และหม่อมเจ้าหญิงเฉลียววรรณมาลา กมลาศน์ กราบถวายบังคมลาออกจากโรงเรียน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นอาจารย์ใหญ่
  9. พ.ศ. 2512 หม่อมเจ้าหญิงวงศ์ทิพย์สุดา เทวกุล ถึงชีพิตักษัย หม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล จึงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน
  10. นางเสนาะจิตร สุวรรณโพธิ์ศรี ทำหน้าที่รักษาการครูใหญ่ เพราะหม่อมเจ้าหญิงอัจฉราฉวี เทวกุล ทรงพระชรา ไม่สามารถบริหารงานได้
  11. พ.ศ. 2550 ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน ให้เปลี่ยนเรียกตำแหน่งครูใหญ่เป็นผู้อำนวยการ ทางโรงเรียนจึงกำหนดใช้คำว่า ผู้อำนวยการ ในการติดต่องานกับทางราชการและบุคคลภายนอก ส่วนการบริหารภายในโรงเรียนยังคงใช้คำว่า ครูใหญ่

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 http://www.dailynews.co.th/sunday/lifestyle.asp?columnid=1504
  2. "創立期の人々 - 東京女子大学". Tokyo Women's Christian University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-21. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2562. ...1904年から3年間、タイ(当時、シャム国)の皇后女学校教育主任を務めたのち、... (...หลังจากนั้นตั้งแต่ ค.ศ. 1904 เคยดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนราชินีในประเทศไทย (ในขณะนั้นยังใช้ชื่อประเทศสยาม) เป็นเวลาสามปี...) {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2006-08-31.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-07. สืบค้นเมื่อ 2006-08-31.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-09. สืบค้นเมื่อ 2006-08-31.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2006-08-31.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

เว็บไซต์

[แก้]

13°44′33″N 100°29′38″E / 13.742538°N 100.494003°E / 13.742538; 100.494003{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้

หาในเว็บรร.ไง

หนังสือและบทความ

[แก้]
  • ยุพาภรณ์ แจ้งเจนกิจ. “การศึกษาของสตรีไทย: ศึกษากรณีเฉพาะของโรงเรียนราชินี (พ.ศ. 2447–2503).” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530.
  • Natanaree Posrithong. “The Modernisation of Female Education and the Emergence of Class Conflict Between Literate Groups of Women in Siam 1870–1910.” in Pia Maria Jolliffe and Thomas Richard Bruce (eds.), Southeast Asian Education in Modern History: School, Manipulation, and Contest. pp. 39–53. London and New York, NY: Routledge, 2018.