โรมันคาทอลิกในประเทศไทย
โรมันคาทอลิกในประเทศไทย | |
---|---|
ประเภท | องค์การระดับชาติ |
กลุ่ม | โรมันคาทอลิก |
ความโน้มเอียง | ศาสนาคริสต์ในเอเชีย |
คัมภีร์ | คัมภีร์ไบเบิล |
เทววิทยา | เทววิทยาคาทอลิก |
สันตะปาปา | ฟรานซิส |
ประธานสภา | ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ |
เอกอัครสมณทูต | ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ |
ภูมิภาค | ประเทศไทย |
ภาษา | ไทย, ละติน |
ศูนย์กลาง | สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย |
สมาชิก | 406,201 (0.58%) |
เว็บไซต์ทางการ | เว็บไซต์คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทย |
คริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย หรือที่ชาวคาทอลิกเรียกโดยย่อว่า พระศาสนจักรในประเทศไทย เป็นประชาคมของคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก มีการปกครองตนเองภายใต้การควบคุมของสันตะสำนัก[1] ตามสถิติคาทอลิกในประเทศไทย พ.ศ. 2566 มีชาวคาทอลิกอยู่ราว 406,201 คน และมีโบสถ์คาทอลิก 532 แห่ง[2]
ประวัติการเผยแพร่
[แก้]ตลอดประวัติศาสตร์คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทย สามารถจำแนกได้เป็น 3 ยุค ดังนี้
ยุคปาโดรอาโด
[แก้]ยุคปาโดรอาโด (Padroadro) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2054 - 2212 (ค.ศ. 1511 – 1669)
ปาโดรอาโด เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคริสตจักรคาทอลิกกับรัฐคาทอลิกในยุโรป ให้รัฐเหล่านั้นมีอำนาจในการบริหารและสนับสนุนคริสตจักรภายในเขตอธิปไตยของตน เมื่อโปรตุเกสและสเปนขยายอาณานิคมไปทั่วโลก ทำให้สิทธิ์ตามสัญญานี้ขยายไปทั่วโลกไปด้วย และทำให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างทั้งสองรัฐเพราะต่างก็ต้องการรักษาผลประโยชน์ของตน สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงทรงให้แบ่งโลกเป็นสองส่วน แล้วยกดินแดนซีกโลกตะวันออกทั้งหมดให้โปรตุเกสมีอำนาจปกครองทั้งทางการเมืองและทางศาสนา[3] แต่เนื่องจากโปรตุเกสเป็นชาติเล็ก มีประชากรน้อย การปกครองอาณานิคมจำนวนมากจึงต้องอาศัยอาสาสมัครจากต่างชาติเข้าร่วม รวมทั้งงานด้านศาสนาด้วย คริสต์ศาสนาซึ่งเข้าสู่สยามครั้งแรกจึงเป็นนิกายคาทอลิกโดยโปรตุเกส และปรากฏหลักฐานว่ามีมิชชันนารีคู่แรกเป็นบาทหลวงคณะดอมินิกัน 2 ท่าน คือบาทหลวงเยโรนีโมแห่งไม้กางเขน (Jeronimo da Cruz) และบาทหลวงเซบาสตีอาวแห่งกันโต (Sebastiao da canto) ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2110 (ค.ศ. 1567)[4] ทั้งสองทำหน้าที่สอนศาสนาให้ชาวโปรตุเกสรวมทั้งชาวพื้นเมืองที่เป็นภรรยา เมื่อท่านทั้งสองเริ่มมีอิทธิพลในสังคมไทยก็ถูกชาวมุสลิมที่อิจฉาริษยาทำร้ายร่างกาย[5] บาทหลวงเยโรนีโมเสียชีวิต ส่วนบาทหลวงเซบาสตีอาวบาดเจ็บสาหัส จึงขอพระบรมราชานุญาตพามิชชันนารีจากมะละกามาเพิ่มเติม ต่อมาจึงมีมิชชันนารี 3 คนทำงานในสยาม ต่อมามิชชันนารีทั้งสามคนเสียชีวิตพร้อมกันเพราะถูกทหารพม่าฆ่าตายขณะกำลังอธิษฐานในอยู่ในโบสถ์ระหว่างการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่งปี ค.ศ. 1569
เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ก็มีมิชชันนารีซึ่งเป็นนักบวชจากคณะนักบวชคาทอลิกต่าง ๆ เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในสยาม เช่น คณะดอมินิกัน (ซึ่งเข้ามาก่อนแล้ว) คณะฟรันซิสกัน (ในปี พ.ศ. 2125 หรือ ค.ศ. 1582) คณะเยสุอิต (พ.ศ. 2150 หรือ ค.ศ. 1607) คณะออกัสติเนียน (พ.ศ. 2220 หรือ ค.ศ. 1677)
แม้ว่าจะพยายามเผยแพร่คริสต์ศาสนาในกลุ่มชาวสยาม แต่เนื่องจากปัญหาด้านภาษา และขาดความเข้าใจเรื่องสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ประกอบกับการดำเนินงานภายใต้สิทธิปาโดรอาโดของโปรตุเกสมีข้อจำกัด คือมิชชันนารีในอาณัติมีแตกต่างกันไปหลายเชื้อชาติและคณะ ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นเอกภาพ และมีการวิวาทกันเองบ่อยครั้ง ทำให้การแผยแพร่กับคนสยามในระยะนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เหล่ามิชชันนารีจึงหันไปมุ่งงานอภิบาล (pastoral work) คนในอาณัติโปรตุเกสแทน[6]
ปัญหาข้างต้นทำให้สันตะสำนักหาทางแก้ปัญหาโดยตั้งสมณะกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อ (Sacred Congregation for the Propagation of the Faith) หรือ โปรปากันดา ฟีเด (Propaganda Fide) เพื่อให้การเผยแพร่ศาสนาและปกครองคริสจักรที่สิทธิ์ปาโดรอาโดยังไปไม่ถึงได้ขึ้นกับสมณะกระทรวงนี้แต่เพียงแห่งเดียวโดยตรง และเมื่อทราบว่าคริสตจักรทางตะวันออกไกลต้องการให้มีผู้แทนพระสันตะปาปาไปปกครอง สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 จึงแต่งตั้งบาทหลวง 3 ท่านเป็นมุขนายกเกียรตินามและผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังต่าง ๆ ดังนี้
- ฟร็องซัว ปาลูว์ (Francois Pallu) เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งเฮลีโอโปลิส (Heliopolis) และประมุขมิสซังตังเกี๋ย โดยรวมลาวและห้ามณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนอยู่ในปกครองด้วย
- ปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต (Pierre Lambert de la Motte) เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งเบรุต (Beirut) และประมุขมิสซังโคชินไชนา
- อีญัส กอตอล็องดี (Ignace Cotolendi) เป็นมุขนายกเกียรตินามแห่งเมเตลโลโปลิส (Metellopolis) และประมุขมิสซังหนานจิง โดยรวมมณฑลทางภาคอีสานของจีนตลอดทั้งเกาหลีอยู่ในปกครองด้วย ต่อมามุขนายกท่านนี้ได้ถึงแก่กรรมเสียในระหว่างทาง
มุขนายกทั้งสามได้ตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสขึ้นเพื่อฝึกหัดบาทหลวงที่จะไปเป็นมิชชันนารีในภูมิภาคตะวันออกไกล เมื่อมิชชันนารีเหล่านี้เดินทางมาถึงก็ได้ข่าวว่ากำลังมีการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนในจีนและญวน คณะทั้งหมดจึงตัดสินใจพำนักที่กรุงศรีอยุธยาเพราะทราบว่ากษัตริย์ไทย (ขณะนั้นคือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) มีไมตรีกับชาติตะวันตก จากนั้นจึงดำเนินการเผยแพร่ศาสนาทันที
คณะมิชชันนารีได้จัดซีโนด (Synod) ขึ้นที่อยุธยา ได้ข้อสรุปการทำงานดังนี้[7]
- 1.ตั้งคณะนักบวชคาทอลิกท้องถิ่นทั้งชาย – หญิง งานเผยแพร่ศาสนา จะตั้งชื่อว่า คณะรักกางเขนแห่งพระเยซูคริสต์
- 2.พิมพ์คำสอนเผยแพร่
- 3.ตั้งเซมินารี เพื่อฝึกหัดชายท้องถิ่นที่ศรัทธา อ่านภาษาลาตินได้ เป็นบาทหลวง
การเผยแพร่ศาสนาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับมิชชันนารีฝ่ายปาโดรอาโด พระคุณเจ้าล็องแบร์จึงส่งบาทหลวงฌ็อง เดอ บูร์ช ไปแจ้งปัญหาแก่สันตะสำนัก ในที่สุดโรมจึงตั้งมิสซังสยามขึ้นในปี พ.ศ. 2212 (ค.ศ. 1669) ให้อยู่ภายใต้การปกครองของประมุขมิสซังซึ่งพระคุณเจ้าทั้งสองเลือกเอง จึงถือเป็นการสิ้นสุดยุคปาโดรอาโด
ยุคเขตผู้แทนพระสันตะปาปา
[แก้]ยุคโปรปากันดาฟีเด หรือ ยุคเขตผู้แทนพระสันตะปาปาครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2212 - 2508 (ค.ศ. 1669 – 1965)
เมื่อสันตะสำนักตั้งมิสซังสยามเป็นเขตผู้แทนพระสันตะปาปาแล้ว ก็ให้มุขนายกทั้งสองท่านอภิเษกบาทหลวงคนหนึ่งขึ้นเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประจำกรุงสยาม (Vicar apostolic of Siam) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าประมุขมิสซังสยาม ทั้งสองตัดสินใจเลือกบาทหลวงหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ซึ่งเป็นมิชชันนารีในคณะของมุขนายกปาลูว์เป็นประมุขมิสซังสยามคนแรก นับจากนั้นมาก็มีประมุขมิสซังสืบงานต่อมาดังนี้
- หลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2216 - 2239 (ค.ศ. 1673-1696)
- หลุยส์ ช็องปียง เดอ ซีเซ (Louis Champion de Cicé) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2243 - 2270 (ค.ศ. 1700-1727)
- ฌ็อง-ฌัก เตสซีเย เดอ เกราแล (Jean-Jacques Tessier de Quéralay) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2270 - 2279 (ค.ศ. 1727-1736)
- ฌ็อง เดอ ลอลีแยร์-ปุยกงตา (Jean de Lolière-Puycontat) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2281 - 2298 (ค.ศ. 1738-1755)
- ปีแยร์ บรีโก (Pierre Brigot) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2298 - 2310 (ค.ศ. 1755-1767)
- โอลีวีเย-ซีมง เลอ บง (Olivier-Simon Le Bon) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2311 - 2323 (ค.ศ. 1768-1780)
- โฌแซ็ฟ-หลุยส์ กูเด (Joseph-Louis Coudé) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2325 - 2328 (ค.ศ. 1782-1785)
- อาร์โน-อ็องตวน การ์โนล (Arnaud-Antoine Garnault) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2329 - 2353 (ค.ศ. 1786-1810)
- แอสพรี-มารี-โฌแซ็ฟ โฟลร็อง (Esprit-Marie-Joseph Florens) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2354 - 2377 (ค.ศ. 1811-1834)
- ฌ็อง-ปอล-อีแลร์-มีแชล กูร์เวอซี (Jean-Paul-Hilaire-Michel Courvezy) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2377 - 2384 (ค.ศ. 1834-1841)
ในปี พ.ศ. 2384(ค.ศ. 1841) สันตะสำนักได้แบ่งมิสซังสยามออกเป็น 2 เขตผู้แทนพระสันตะปาปา คือมิสซังสยามตะวันออกซึ่งครอบคลุมพื้นที่อาณาจักรสยามและลาว และมิสซังสยามตะวันตกซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกาะสุมาตรา แหลมมลายู และพม่าใต้ โดยมุขนายกกูร์เวอซี ย้ายไปเป็นประมุขมิสซังสยามตะวันตก ประจำอยู่ที่สิงคโปร์ ส่วนมิสซังสยามตะวันออกได้อภิเษกบาทหลวงปาลกัว อดีตมุขนายกรองประมุขมิสซัง ขึ้นเป็นประมุขมิสซังสยามตะวันตกแทนสืบมา เขตผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยามตะวันออกมีลำดับประมุขดังนี้
- ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว (Jean-Baptiste Pallegoix) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2384 - 2405 (ค.ศ. 1841-1862)
- แฟร์ดีน็อง-แอเม-โอกุสแต็ง-โฌแซ็ฟ ดูว์ป็อง (Ferdinand-Aimé-Augustin-Joseph Dupond) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2407 - 2415 (ค.ศ. 1864-1872)
- ฌอง หลุยส์ เวย์ (Jean-Louis Vey) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2418 - 2452 (ค.ศ. 1875-1909)
- เรอเน แปร์รอส (René-Marie-Joseph Perros) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2452 - 2490 (ค.ศ. 1909-1947)
ในปี ค.ศ. 1924 มิสซังสยามตะวันออกถูกเปลี่ยนชื่อเป็นมิสซังกรุงเทพฯ[8] พระคุณเจ้าแปร์รอสยังรั้งตำแหน่งประมุขมิสซัง และมีประมุขมิสซังกรุงเทพฯ สืบทอดต่อมาอีกดังนี้
- 5. หลุยส์ โชแรง (Louis-August-Clément Chorin) ปกครองมิสซังตั้งแต่ พ.ศ. 2490 - 2508 (ค.ศ. 1947-1965)
- 6. ยอแซฟ ยวง นิตโย ปกครองมิสซังตั้งแต่ 29 เม.ย. – 18 ธ.ค. พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965)
ในปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) สันตะสำนักได้แยกลาวออกไปตั้งเป็นมิสซังลาว ต่อมาปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) พื้นที่ราชบุรีได้ถูกยกขึ้นเป็นมิสซังเขตผู้แทนพระสันตะปาปา ตามด้วยจันทบุรีก็ได้เป็นมิสซังมิสซังเขตผู้แทนพระสันตะปาปาในปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) ส่วนมิสซังลาวต่อมาเหลือพื้นที่เฉพาะภาคอีสานของไทยแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นมิสซังท่าแร่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1953 ได้ตั้งอุบลราชธานีเป็นมิสซังเขตผู้แทนประสันตะปาปาและอุดรธานีเป็นมิสซังเขตหัวหน้าจากสันตะสำนัก ตั้งเชียงใหม่เป็นมิสซังเขตหัวหน้าจากสันตะสำนักในปี ค.ศ. 1959 ทำให้ในช่วงท้ายยุคโปรปากันดาฟีเด ศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยประกอบด้วยมิสซังถึง 7 มิสซังซึ่งมีสถานะเป็นเขตผู้แทนพระสันตะปาปา 5 มิสซัง และเขตหัวหน้าจากสันตะสำนัก 2 มิสซัง
ตลอดยุคเขตผู้แทนพระสันตะปาปา การเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก มีทั้งช่วงที่เป็นปกติเรียบร้อย และช่วงที่ถูกเบียดเบียน สาเหตุเป็นเพราะนิกายคาทอลิกมีภาพลักษณ์ว่าเป็นศาสนาของชาติตะวันตกและเป็นสัญลักษณ์ของอิทธิพลตะวันตกที่แพร่หลายในสังคมไทย เมื่อการเมืองไทยอยู่ในภาวะตึงเครียดเพราะความขัดแย้งกับชาติฝรั่งเศส คริสตจักรคาทอลิกในสยามซึ่งมีผู้ปกครองมิสซังเป็นคนชาติฝรั่งเศสก็ถูกเบียดเบียนไปด้วย เช่น การรัฐประหารตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีการกวาดล้างอิทธิพลของฝรั่งเศสในการเมืองไทย ทรัพย์สินของมิสซังสยามได้ถูกยึด พระคุณเจ้าลาโน และมิชชันนารีหลายคนถูกจับขังคุกและทรมานร่างกาย เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติทุกคนจึงถูกปล่อยตัว และคืนทรัพย์สินให้มิสซัง[9] ต่อมาในปี พ.ศ. (ค.ศ. 1940 - 1941) เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนหรือสงครามระหว่างไทย – ฝรั่งเศส ทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านฝรั่งเศสรวมทั้งศาสนาคริสต์ด้วย มีชาวคาทอลิกถูกข่มเหงต่าง ๆ การเบียดเบียนที่รุนแรงที่สุดคือ การสังหารชาวอีสานคาทอลิก 7 คนที่หมู่บ้านสองคอน โดยมีนักพรตหญิง ฆราวาสหญิง และเด็กรวมอยู่ในนี้ด้วย ต่อมาผู้พลีชีพทั้งหมดได้รับประกาศให้เป็นบุญราศีและเป็นมรณสักขีแห่งสองคอน
นอกจากนี้วิธีการเผยแพร่ศาสนาก็เป็นต้นเหตุสำคัญให้นิกายคาทอลิกถูกต่อต้าน กล่าวคือมิชชันนารีมักใช้วิธีเหยียดหยามศาสนาท้องถิ่น เช่น มีการพิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อ “ปุจฉาวิสัชนา” ซึ่งแต่งโดยมุขนายกลาโน มีเนื้อหาเปรียบเทียบศาสนาคริสต์ – ศาสนาพุทธ ชี้ให้เห็นความเหนือกว่าของศาสนาคริสต์ ดูหมิ่นพุทธศาสนา ทันทีหนังสือเล่มนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกก็สร้างความไม่พอใจให้กับราชการไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงเรียกบาทหลวง 3 คนขึ้นศาลไต่สวน ที่สุดมีพระราชโองการห้ามไม่ให้ใช้ภาษาไทยในการเผยแพร่ศาสนา ห้ามคนไทย มอญ และลาวเข้ารีตศาสนาคริสต์ และห้ามมิให้มิชชันนารีติเตียนศาสนาของคนไทย มิชชันนารีที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกเฆี่ยนแล้วเนรเทศ[10] ส่งผลให้การเผยแพร่ศาสนาแก่คนไทยในยุคนั้นต้องหยุดชะงักไป ต่อมาในรัชกาลที่ 3 พระคุณเจ้าปาลกัวให้พิมพ์หนังสือนี้ออกเผยแพร่อีก พอถึง พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) สมัยจอมพลสฤษฎิ์ ก็มีการเผยแพร่หนังสือดังกล่าวอีกครั้ง ตำรวจจึงเรียกบาทหลวง 3 คนไปสอบสวน หนังสือถูกยึด ภายหลังก็สงบลง[11]
แม้คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยจะประสบปัญหาในบางช่วง แต่โดยภาพรวมก็ถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ช่วงที่ถูกห้ามเผยแพร่ศาสนาให้คนสยาม ก็ได้แผยแพร่ให้คนต่างชาติในสยามแทนจนเกิดโบสถ์คาทอลิกขึ้นหลายแห่ง เช่น วัดคอนเซ็ปชัญของชาวเขมร วัดซางตาครู้สของชาวจีน เป็นต้น เมื่อได้รับเสรีภาพในการประกาศศาสนาก็ทำให้การดำเนินงานสะดวกขึ้น มีการตั้งโรงเรียน วิทยาลัย และโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่งภายใต้การบริหารงานของคณะนักบวชคาทอลิกคณะต่าง ๆ[11]
ยุคมุขมณฑล
[แก้]เมื่อเห็นว่ากิจการของคริสตจักรในประเทศไทยก้าวหน้าเป็นอย่างดี สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ก็ได้ยกสถานะมิสซังทั้งหลายในประเทศไทยขึ้นเป็นมุขมณฑล (diocese) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2508 (ค.ศ. 1965) โดยแบ่งเป็นสองภาคคริสตจักร (ecclesiastical province)[12] คือ
- ภาคกรุงเทพฯ ประกอบด้วยเขตมิสซังกรุงเทพฯซึ่งเป็นอัครมุขมณฑล (archdiocese) และเขตมิสซังราชบุรี เขตมิสซังจันทบุรี เขตมิสซังเชียงใหม่เป็นมุขมณฑล (diocese)
- ภาคท่าแร่-หนองแสง ประกอบด้วยเขตมิสซังท่าแร่-หนองแสงซึ่งเป็นอัครมุขมณฑล (archdiocese) ส่วนเขตมิสซังอุบลราชธานี เขตมิสซังนครราชสีมา และเขตมิสซังอุดรธานีเป็นมุขมณฑล (diocese)
ต่อมาได้มีการแยกพื้นที่ทางตอนเหนือของเขตมิสซังกรุงเทพฯ ออกไปกับบางส่วนของเขตมิสซังเชียงใหม่ ตั้งเป็นเขตมิสซังนครสวรรค์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) แยกภาคใต้ออกจากเขตมิสซังราชบุรีเพื่อตั้งเป็นเขตมิสซังสุราษฎร์ธานีในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2512 และตั้งเขตมิสซังเชียงรายในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561 ทั้งสามเขตมิสซังใหม่ยังคงรวมอยู่ในภาคกรุงเทพฯ คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยจึงประกอบด้วย 11 เขตมิสซังซึ่งล้วนแต่เป็นมุขมณฑลดังเช่นปัจจุบัน
ในระยะแรกบางมิสซังยังมีมุขนายกเป็นชาวต่างชาติอยู่ ต่อมาเมื่อเขตมิสซังมีความพร้อมจึงลาออกเพื่อให้มีมุขนายกใหม่ที่เป็นคนไทย คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยปัจจุบันจึงได้ดำเนินการด้วยคนไทยเองอย่างสมบูรณ์ แต่ยังต้องรายงานและรับนโยบายสำคัญจากสันตะสำนักด้วยเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตจักรคาทอลิกที่มีอยู่ทั่วโลก
คริสตจักรคาทอลิกในประเทศไทยยังได้รับเกียรติจากพระสันตะปาปาในสองเรื่อง คือ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้แต่งตั้งพระคุณเจ้าไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นพระคาร์ดินัลซึ่งเป็นสมณศักดิ์สูงสุดในคริสตจักรคาทอลิกรองจากพระสันตะปาปา นับเป็นบาทหลวงชาวไทยคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ พิธีสถาปนาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 (ค.ศ. 1983) ต่อมาวันที่ 10 — 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้ต้อนรับประมุขแห่งคริสตจักรคาทอลิก ในการนี้ได้ทรงบวชบาทหลวง 23 องค์ด้วย[13]
การปกครอง
[แก้]ศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยมีสภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยเป็นองค์การปกครองสูงสุด[14] มีสมาชิกซึ่งประกอบด้วยมุขนายกมิสซังต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ปัจจุบันมีมุขนายก ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ เป็นประธานสภาฯ นอกจากนี้สภาฯ ยังได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการฝ่าย และคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกิจการด้านต่าง ๆ ดังนี้[15]
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อบาทหลวงและผู้ถวายตัว
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตชนฆราวาส
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการธรรมทูต
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการศึกษา
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อศาสนสัมพันธ์และคริสตสัมพันธ์
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อมรดกวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอภิบาลสังคม
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสื่อมวลชน
- คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
สถิติ
[แก้]สถิติคาทอลิกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 - 2559 มีดังนี้
ข้อมูล | พ.ศ. 2556[16] | พ.ศ. 2557[17] | พ.ศ. 2559[18] | พ.ศ. 2560[19] | พ.ศ. 2561[20] | พ.ศ. 2563[21] | พ.ศ. 2564[22] | พ.ศ. 2565[23] | พ.ศ. 2566[2] |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ชาวคาทอลิก | 367,978 | 369,636 | 379,347 | 380,374 | 379,975 | 401,976 | 405,727 | 411,166 | 406,201 |
บาทหลวงมิสซัง | 504 | 496 | 530 | 533 | 534 | 578 | 576 | 575 | 557 |
บาทหลวงนักบวช | 289 | 287 | 315 | 323 | 324 | 315 | 398 | 353 | 334 |
ภราดา | 113 | 122 | 111 | 111 | 116 | 113 | 128 | 129 | 136 |
ภคินี | 1,503 | 1,473 | 1,479 | 1,448 | 1,439 | 1,502 | 1,434 | 1,404 | 1,422 |
โบสถ์ | 501 | 501 | 506 | 515 | 517 | 526 | 498 | 532 | 532 |
- หมายเหตุ : ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป สถิติถือเป็นข้อมูลของศักราชใหม่ จึงไม่มีสถิติประจำปี พ.ศ. 2558
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 468
- ↑ 2.0 2.1 ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2566/2023, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
- ↑ เคียว อุค ลี, การเผยแพร่ศาสนาคริสต์กับการตอบสนองของชาวพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่าง ค.ศ.1511 – 1990, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539, หน้า 71 -2
- ↑ Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์, เรือง อาภรณ์รัตน์ และ อากาทา จิตอุทัศน์ แปล, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ, 2542, หน้า 44
- ↑ มาโนช พุ่มไพจิตร, แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป, เชียงใหม่: หน่วยงานเผยแพร่ข่าวประเสริฐ, 2548, หน้า 90
- ↑ มาโนช พุ่มไพจิตร, แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป, หน้า 87
- ↑ Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์
- ↑ Archdiocese of Bangkok. The Hierarchy of the Catholic Church. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.พ. พ.ศ. 2554.
- ↑ Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์, หน้า 48
- ↑ มาโนช พุ่มไพจิตร, แก่นแท้ศาสนาคริสต์ที่หายไป, หน้า 120
- ↑ 11.0 11.1 เสรี พงศ์พิศ, ศาสนาคริสต์, พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ: ฝ่ายงานอภิบาลและธรรมทูต เขตมิสซังกรุงเทพฯ, 2545, หน้า 92
- ↑ Luc Colla, พระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์, หน้า 50 – 1
- ↑ กำหนดการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2. มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.พ. พ.ศ. 2554
- ↑ "องค์การศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย หน้า 161" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-07-01.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-29. สืบค้นเมื่อ 2020-05-16.
- ↑ ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2557/2014, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
- ↑ ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2558/2015, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
- ↑ ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2559/2016, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
- ↑ ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2560/2017, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
- ↑ ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2018/2561, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
- ↑ ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2020/2563, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
- ↑ ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2021/2564, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3
- ↑ ปฏิทินคาทอลิก: Catholic Calendar 2022/2565, กรุงเทพ: สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, หน้า 3