ข้ามไปเนื้อหา

โอ้เอ๋ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โอ้เอ๋ว
薁蕘
ชื่ออื่นโอเอี้ยว (ชื่อในฮกเกี้ยนภูเก็ต,ไต้หวัน,จีน)
บุนทาวบี้ (ชื่อภาษาฮกเกี้ยนในปีนัง)
กาซัง (ชื่อเรียกภาษาฮกเกี้ยนในสิงคโปร์)
มื้อขนม
แหล่งกำเนิดจีน ประเทศจีน
ภูมิภาคฮกเกี้ยน
ผู้สร้างสรรค์ไม่ปรากฏ
อุณหภูมิเสิร์ฟเย็น
ส่วนผสมหลักน้ำแข็ง , เมล็ดโอ้เอ๋ว

โอ้เอ๋ว หรือ โอ๊ะเอ๋ว (จีน: 薁蕘) เป็นอาหารท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดอื่นๆใกล้เคียง เช่น จังหวัดตรัง และจังหวัดพังงา ได้จากวุ้นของเมล็ดโอ้เอ๋ว หรือเมล็ดอ้ายอวี้ (จีน: 愛玉子) ซึ่งเป็นพืชจำพวกมะเดื่อชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus pumila var. awkeotsang ซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งหรือชนิดย่อยประเภทหนึ่งของต้นตีนตุ๊กแกเกาะผนัง หรือ มะเดื่อเถา (F. pumila) ลักษณะคล้ายเมล็ดแมงลัก ที่แช่น้ำแล้วใช้เมือกโอ้เอ้วมาผสมกับเมือกของกล้วยน้ำว้าใส่เจี่ยกอ (จีน: 石膏) เพื่อให้โอ้เอ๋ว เกาะตัวเป็นก้อน นำมาใส่น้ำเชื่อมและน้ำแข็งไส กินแก้ร้อนใน และลดการกระหายน้ำ

ชาวภูเก็ตจะรับประทานโอ้เอ๋ว สามแบบ คือ โอ้เอ๋วใส่ถั่วแดงและเฉาก๊วย (ขาว ดำ แดง) โอ้เอ๋วใส่ถั่วแดง (ขาว แดง) และ โอ้เอ๋วใส่เฉาก๊วย (ขาว ดำ) บางคนนิยมใส่กล้วยและน้ำหวานด้วย แหล่งขายโอ้เอ๋วในจังหวัดภูเก็ตที่สำคัญคือ โรงหนังสยามเก่า และซอยหล่อโรงหรือตลาดฉำฉา ส่วนชาวตรังจะรับประทานโอ้เอ๋วกับมะนาว และน้ำผึ้ง เช่นเดียวกันกับชาวไต้หวัน

ประวัติ

[แก้]

โอ้เอ๋ว มีที่มาจากทางปีนัง ประเทศมาเลเซีย คนขายโอ้เอ๋วเจ้าแรกในภูเก็ตชื่อ แปะเอ๊ง เป็นคนจีน ขายอยู่ในตรอกสุ่นอุทิศ หรือตรอกแปะหล่าวหนั่ว(จีน: 流瀾伯巷,แปะหล่าวหนั่ว) ปัจจุบันแปะเอ๊งเสียชีวิตแล้ว แต่ก็มีคนสืบทอด ต่อมาขายอยู่ที่เดิม

ในบางที่มีคนกล่าวว่า ของหวานชนิดนี้ ที่ปีนังเรียกว่า บุนทาวบี้แต่มาขายที่ภูเก็ตไม่มีคนเรียกชื่อนี้ วันหนึ่งมีคนลิ้นไก่สั้นพูดไม่ชัดมากินโอ้เอ๋ว แปะเอ๊งถามว่า “โฮเหลี่ยวโบ๋” (好料無?) หมายความว่า "ดีไหม รสชาติดีไหม "คนลิ้นไก่สั้นตอบว่า “โอ๊เอี่ยว” คือ โฮเหลี่ยว ซึ่งหมายถึง ดี โอ๊เอี่ยวที่คนลิ้นไก่สั้นพูดก็เพี้ยนมาเป็น “โอ้เอ๋ว” และเป็นชื่อเรียกของหวานชนิดนี้ที่ภูเก็ตตลอดมา

อันที่จริง โอ้เอ๋ว เพี้ยนมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน โอ้-เกี้ยว (จีน: 薁蕘;ò-giô) เป็นชื่อของหวานที่ทำจากเมือกผลไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า อ้ายอวี้ (จีน: 愛玉) ในมณฑลฮกเกี้ยนและไต้หวัน เป็นที่นิยมในรับประทานในช่วงฤดูร้อน และเผยแพร่เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวจีนอพยพที่มาทำงานในสมัย เป็นผู้นำพาเผยแพร่

ส่วนผสมโอ้เอ๋ว

[แก้]

โอ้เอ๋ว มีลักษณะเป็นวุ้นใส ไม่มีสีนั้นทำมาจากกล้วยน้ำว้าสุก เมล็ดสมุนไพรจีน เรียกว่า อ้ายยวี่ มีฤทธิ์เย็น แก้ร้อนในได้และน้ำด่าง นำกล้วยมาต้มแล้วบดให้เนื้อละเอียด นำเมล็ดสมุนไพรมาต้มกับน้ำด่าง ตั้งทิ้งไว้สักพัก แล้วผสมกับกล้วยน้ำว้าบดตั้งไฟให้เดือดทิ้งไว้แล้วกรองเอากากออก น้ำที่ได้จะค่อยๆแข็งเป็นวุ้น

โอ้เอ๋ว คนโบราณกินโอ้เอ๋วเปล่าๆ แก้ร้อนใน แต่ปัจจุบันกินกับน้ำแข็งใส ใส่ถั่วแดงต้ม หรือวุ้นดำราดน้ำเชื่อม หรือน้ำแดงและน้ำนมแมว ให้มีกลิ่นหอมหวาน เวลาสั่งเลือกได้ตามชอบ ถ้าสั่งขาวแดง แปลว่า โอวเอ๋วกับถั่วแดง, ขาวดำ แปลว่า โอ้เอ๋วกับวุ้นดำ ถ้าขาวแดงดำ ก็ใส่ทั้งหมดทุกอย่าง

อ้างอิง

[แก้]