จัตุรัสจามจุรี
ที่ตั้ง | 315, 317, 319 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร |
---|---|
เปิดให้บริการ | 26 มีนาคม 2551 |
ผู้บริหารงาน | สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
จำนวนชั้น | ส่วนสำนักงาน : 40 ชั้น ส่วนที่พักอาศัย : 24 ชั้น ส่วนฐาน : 4 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 1 ชั้น) |
ที่จอดรถ | 2,000 คัน |
ขนส่งมวลชน | สามย่าน รถโดยสารประจำทาง สาย 4, 21, 25, 34, 36, 40, 45, 47, 50, 67, 93, 113, 141, 501, 507, 1-1, 1-2E, 1-3, 3-10, 3-36, 3-52R, 3-53, 4-28, 4-55, 4-68 |
เว็บไซต์ | www |
จามจุรีสแควร์ หรือ จัตุรัสจามจุรี (อังกฤษ: Chamchuri Square) เป็นศูนย์การค้า อาคารสำนักงานและอาคารพักอาศัย ใจกลางเขตธุรกิจการค้าของกรุงเทพมหานคร คือแยกสามย่าน ถนนสีลมและถนนสุรวงศ์ มีพื้นที่เชื่อมต่อกับส่วนการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริหารจัดการโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[1]
จามจุรีสแควร์ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมแยกสามย่านฝั่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตรงข้ามกับสามย่านมิตรทาวน์ เป็นอาคาร 3 หลัง แบ่งเป็นส่วนอาคารสำนักงาน 40 ชั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุด ส่วนศูนย์การค้าและศูนย์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์[2] เป็นอาคารสูง 4 ชั้น ตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนอาคารพักอาศัย 23 ชั้น ตั้งอยู่ด้านตะวันตกสุด มีพื้นที่รวม 274,459 ตารางเมตร ชั้นใต้ดินของอาคารสามารถเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สถานีสามย่าน โดยเริ่มสร้างทางเชื่อมปี 2543 แล้วเสร็จปี 2547 [3]ซึ่งนับเป็นการเชื่อมต่อกับอาคารแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ อาคารดังกล่าวยังเป็นที่ทำการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อีกด้วย[4]
ประวัติ
[แก้]พ.ศ. 2538 บริษัทเอกชนมีโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ บนเนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ริมถนนพระรามที่ 4 บริเวณสี่แยกสามย่านของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในช่วงวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 บริษัทเอกชนผู้ลงทุนเดิมประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนี้ด้วย ส่งผลให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาดำเนินการพัฒนาต่อ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการแรกที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริหารจัดการเอง[5] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารจัตุรัสจามจุรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551[6] โดยเดิมพื้นที่จามจุรีสแควร์เป็นร้านรวงอาหารมากมายรวมถึงสถานบันเทิงอาทิ ศึกษิตสยาม ส.โบตั๋น สมบูรณ์ภัตตาคาร
ส่วนประกอบของโครงการ
[แก้]โครงการจามจุรีสแควร์ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ดังนี้[6]
- อาคารสำนักงาน 40 ชั้น เป็นพื้นที่ ให้เช่า 87,000 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบตัวอาคารให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานโดยอาศัยนวัตกรรม Double Glassing เพื่อกันความร้อนจากแสงแดดแต่ยังมีแสงสว่างมากเพียงพอ ช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศและลดการใช้ไฟให้แสงสว่างในเวลากลางวัน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งสำนักงานสาขาย่อยของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และยังเป็นที่ตั้งห้องควบคุมโครงข่ายหลักของ ดีแทค
- อาคารพักอาศัย 24 ชั้น ขนาด 27,162 ตารางเมตร จำนวน 220 ยูนิต มีการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในทุก ๆ ด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พักอาศัย เช่น สระว่ายน้ำ สวนหย่อม ฟิตเนส และห้องประชุม
- อาคารส่วนฐาน 4 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 1 ชั้น) มีแนวคิดในการพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือ Edutainment Gateway ประกอบด้วย องค์การพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้านหนังสือต่างๆ ร้านอาหารชั้นนำและศูนย์อาหารเพื่อรองรับผู้ใช้บริการทั้งที่ทำงานในอาคารและลูกค้าภายนอก มีซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งเดียวในห้าง คือ โลตัส โก เฟรซ ซูเปอร์มาร์เก็ต (เดิมคือเทสโก้ โลตัส ตลาด) ชั้นใต้ดินในอาคารส่วนนี้มีทางเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสามย่าน ซึ่งตั้งอยู่ใต้ผิวถนนพระรามที่ 4
-
บันไดวนภายในส่วนศูนย์การค้า -
ภายในส่วนศูนย์การค้า -
ส่วนฐานที่เป็นศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน -
ทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้ามหานคร สถานีสามย่าน
จัตุรัสวิทยาศาสตร์
[แก้]ภายในจัตุรัสจามจุรีแหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช. หรือ NSM) ตั้งอยู่ด้วย[2] เรียกว่า จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ชั้น 4 และชั้น 5 ซีกตะวันตกของอาคารใกล้กับศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาจัตุรัสจามจุรี
จัตุรัสวิทยาศาสตร์จัดแสดงนิทรรศการสื่อผสมแบบ Interactive ที่ผู้ชมสามารถทดลองสัมผัส เรียนรู้ด้วยตนเองอย่างทันสมัย[7] เพื่อให้ผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัยเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ง่ายมากขึ้น เนื้อหาหลักของนิทรรศการคือการนำประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวมาอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ เช่น ในนิทรรศการท่องโลกการสื่อสารจะอธิบายเรื่องการส่งข้อมูลผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วยการยกตัวอย่างการทำงานของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของประเทศไทย มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมและมีมุมหนังสือสำหรับผู้เข้าชมที่สนใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย
-
ทางเข้าจัตุรัสวิทยาศาสตร์
-
ภายในจัตุรัสวิทยาศาสตร์
-
นิทรรศการ อยู่กับยุง (Living with Mosquitoes)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "จัตุรัสจามจุรี ติดต่อเรา". Chamchuri Square. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 18 พฤษภาคม 2017.
- ↑ 2.0 2.1 Sazabiz (4 เมษายน 2016). "เที่ยวกรุงเทพ> พิพิธภัณฑ์> จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช". Thai HR Hub. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กรกฎาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2017.
- ↑ "[MRTA] Bangkok METRO part II". SkyscraperCity Forum (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-01-01.
- ↑ "จัตุรัสจามจุรี". สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 สิงหาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2016.
- ↑ "เกี่ยวกับจัตุรัสจามจุรี". chamchuri-square.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2016.
- ↑ 6.0 6.1 "หน่วยธุรกิจของสำนักงาน» จัตุรัสจามจุรี". property.chula.ac.th. สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2014. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2017.
- ↑ "จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เที่ยวเพลินสุดสนุกไปกับ วิทยาศาสตร์ ใจกลางกรุง". Manager Online. 16 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2017.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "จัตุรัสจามจุรี". สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2011.
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ จัตุรัสจามจุรี
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์