นครวัด
การแก้ไขบทความนี้ของผู้ใช้ใหม่หรือผู้ใช้ไม่ลงทะเบียนถูกปิดใช้งาน ดูนโยบายการป้องกันและปูมการป้องกันสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม หากคุณไม่สามารถแก้ไขบทความนี้และคุณประสงค์เปลี่ยนแปลง คุณสามารถส่งคำขอแก้ไข อภิปรายการเปลี่ยนแปลงทางหน้าคุย ขอเลิกป้องกัน ล็อกอิน หรือสร้างบัญชี |
អង្គរវត្ត | |
มุมมองนครวัดจากสระเก็บน้ำ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 | |
ที่ตั้ง | เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา |
---|---|
พิกัด | 13°24′45″N 103°52′01″E / 13.41250°N 103.86694°E |
ค่าระดับความสูง | 65 m (213 ft) |
ความเป็นมา | |
ผู้สร้าง | พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 |
สร้าง | ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12[1] |
วัฒนธรรม | จักรวรรดิเขมร |
สถาปัตยกรรม | |
รูปแบบสถาปัตยกรรม | สถาปัตยกรรมเขมร (รูปแบบนครวัด) |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | เมืองพระนคร |
ประเภท | วัฒนธรรม |
เกณฑ์ | (i), (ii), (iii), (iv) |
ขึ้นเมื่อ | ค.ศ. 1992 (วาระการประชุมมรดกโลกครั้งที่ 16) |
เลขอ้างอิง | 668 |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
นครวัด (เขมร: អង្គរវត្ត) เป็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก[2] ด้วยพื้นที่รวมกว่า 162.6 เฮกเตอร์ (1.6 ล้านตารางเมตร ซึ่งเท่ากับ 402 เอเคอร์)[3] แรกเริ่มนั้นสร้างขึ้นเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดูเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12[4] นครวัดสร้างขึ้นในช่วงต้นของคริสศตวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2[5] แห่งเมืองยโสธรปุระ (ในปัจจุบันคือเมืองพระนคร) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิเขมร สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นเทวลัยประจำรัฐและเป็นสุสานฝังพระศพ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการนับถือในลัทธิไศวนิกายของกษัตริย์องค์ก่อน ๆ เหตุเพราะนครวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุแทนที่จะเป็นพระศิวะ และเนื่องจากเป็นปราสาทที่ได้รับการอนุรักษ์ดีที่สุดในบริเวณที่ตั้งโดยรอบ นครวัดจึงเป็นปราสาทเพียงแห่งเดียวที่ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง โดยนครวัดถือเป็นจุดสูงสุดของรูปแบบการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรแบบดั้งเดิม และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา[6] มีการปรากฏอยู่บนธงชาติ และได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชาที่มีความสำคัญที่สุดในหมู่ของนักท่องเที่ยว[7]
นครวัดได้รวมเอาการวางผังพื้นฐานในสถาปัตยกรรมเขมรสองแบบมาใช้ประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งก็ได้แก่ ผังการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (ปราสาทบนฐานชั้น) และการสร้างปราสาทแบบมีระเบียงคดที่มีภาพสลัก การสร้างปราสาทรูปแบบนี้ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สถิตของเทพเทวัญในปกรณัมของศาสนาฮินดู ด้านนอกมีคูน้ำและกำแพงล้อม ความยาวรวมกว่า 3.6 กิโลเมตร โดยตัวปราสาทประกอบด้วยระเบียงคดสี่เหลี่ยมที่มีภาพสลักทั้งหมดสามชั้น แต่ละชั้นตั้งอยู่สูงกว่าชั้นล่าง ตรงกลางของปราสาทคือพระปรางค์ที่มีทั้งหมด 5 ยอด นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทในพระนครปราสาทอื่น ๆ เนื่องจากมีการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งนักวิชาการต่างก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไปในเรื่องนัยยะของการสร้างในลักษณะนี้ นครวัดยังได้รับการยกย่องในด้านความงามและความกลมกลืนของตัวสถาปัตยกรรม เช่น ภาพสลักนูนต่ำที่ใหญ่โต รวมถึงภาพเทวดาที่มีการตกแต่งตามผนังเป็นจำนวนมาก
นครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในจังหวัดเสียมราฐขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในนาม "เมืองพระนคร (อังกอร์)" ใน ค.ศ. 1992
ประวัติ
นครวัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเสียมราฐในปัจจุบัน ห่างออกไป 5.5 กิโลเมตรจากตัวเมือง แต่หากวัดจากเมืองหลวงก่อนหน้าซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบาปวน นครวัดจะมีระยะห่างจากเมืองหลวงเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยนครวัดจะตั้งอยู่ทางทิศใต้เยื้องไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย และถือเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของบริเวณเมืองพระนคร
ตามตำนานแล้ว การก่อสร้างปราสาทนครวัดนั้นสร้างขึ้นตามคำสั่งของพระอินทร์ ซึ่งต้องการสร้างปราสาทนี้ให้เป็นวังที่ประทับของพระโอรสของพระองค์[8] ตามบันทึกในช่วงคริสศตวรรษที่ 13 ของนักเดินทางนามว่า โจว ตากวน ได้ระบุว่ามีผู้คนบางส่วนเชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นโดยเทพแห่งสถาปัตยกรรมศาสตร์ในเวลาเพียงหนึ่งคืน[9]
การออกแบบในขั้นต้นและการก่อสร้างตัวปราสาทเริ่มต้นขึ้นในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 (ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1113-1150) โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นปราสาทประจำพระองค์และประจำเมืองพระนคร เพื่ออุทิศให้แก่พระวิษณุ และเนื่องจากไม่มีการพบหลักฐานที่เป็นจารึกสมัยการก่อสร้างหรือจารึกสมัยใหม่ที่ระบุว่าได้มีการสร้างปราสาทขึ้น จึงไม่สามารถทราบชื่อดั้งเดิมของปราสาทได้ แต่อาจเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ปราสาทวิษณุโลก” ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามเทพองค์ประธานของปราสาท คาดกันว่าการก่อสร้างน่าจะหยุดลงไม่นานหลังการสวรรคตของพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 ทำให้ภาพสลักนูนต่ำบางส่วนนั้นยังแกะสลักไม่เสร็จสิ้น[10] ในปี 1177 หลังการสวรรคตของพระเจ้าสุรยวรรมันที่ 2 ราว 27 ปี เมืองพระนครถูกยึดครองโดยชาวจามที่เป็นศัตรูเดิมของชาวเขมร[11] ภายหลังจึงมีการฟื้นฟูอาณาจักรขึ้นมาอีกครั้งโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งได้สถาปนาเมืองหลวงและปราสาทประจำเมืองแห่งใหม่ขึ้นคือนครธมและปราสาทบายน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ห่างจากนครวัดไปทางเหนือไม่กี่กิโลเมตร
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 นครวัดได้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงจากศูนย์กลางด้านจิตใจในศาสนาฮินดูไปเป็นศาสนาพุทธซึ่งก็ได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[4] นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทอื่นในเมืองพระนคร แม้ตัวปราสาทจะหมดความสำคัญลงไปหลังคริสศตวรรษที่ 16 แต่ตัวปราสาทกลับไม่เคยถูกทิ้งร้างอย่างสมบูรณ์เลย ซึ่งต่างจากปราสาทหลังอื่น ๆ ในเมืองพระนคร ปราสาทแห่งนี้ได้รับการปกป้องจากการรุกล้ำของป่าเนื่องด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคูน้ำรอบปราสาทนั้นได้สามารถทำหน้าที่ป้องกันตัวปราสาทได้[12]
หนึ่งในชาวตะวันตกคนแรก ๆ ที่ได้พบเห็นนครวัดคือ แอนโตนิโอ ดา มาดาลีนา นักบวชชาวโปรตุเกส ผู้เดินทางมาถึงในปี 1586 และกล่าวเอาไว้ว่านครวัดคือ “สิ่งก่อสร้างที่น่าพิศวง ซึ่งไม่สามารถอธิบายมันออกมาผ่านปลายปากกาได้ ที่สำคัญคือ ปราสาทหลังนี้ไม่เหมือนสิ่งก่อสร้างใด ๆ บนโลกนี้เลย ปราสาทมียอดหลายยอด มีการตกแต่ง และมีความวิจิตรที่มีเพียงคนอัจฉริยะเท่านั้นที่จะสามารถสร้างสรรค์ออกมาได้เช่นนี้”[13]
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นครวัดไม่ได้ถูกทิ้งร้างโดยสมบูรณ์ ยังคงทำหน้าที่เป็นวัดในศาสนาพุทธอยู่เช่นเดิม มีการค้นพบศิลาจารึกที่มีอายุอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 กว่า 14 หลักในบริเวณพื้นที่เมืองพระนคร ระบุถึงผู้แสวงบุญชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แสวงบุญในศาสนาพุทธที่ได้มาตั้งชุมชนเล็ก ๆ ติดกับชาวเขมรท้องถิ่น[14] โดยในตอนนั้นชาวญี่ปุ่นที่มาเยือนนครวัดคิดว่าปราสาทแห่งนี้คือสวนของวัดเชตวันมหาวิหารอันเลื่องชื่อของพระพุทธเจ้า ซึ่งแท้จริงแล้วตั้งอยู่ในแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย[15] โดยจารึกที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือจารึกเรื่องราวของอูกนดายุ คาซูฟูสะ นักแสวงบุญผู้ได้เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่เขมรที่นครวัดในปี ค.ศ. 1632[16]
ในช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อ็องรี มูโอ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมาที่ปราสาทแห่งนี้ โดยมูโอได้ทำให้นครวัดเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวตะวันตกผ่านบันทึกการเดินทางที่ได้รับการตีพิมพ์ของเขา เขาได้เขียนไว้ว่า
หนึ่งในปราสาทเหล่านี้ ซึ่งน่าจะเป็นคู่ปรับกับวิหารโซโลมอน ถูกสร้างสรรค์โดยมีเกลันเจโลแห่งยุคโบราณ อาจจะเป็นสถานที่ที่น่ายกย่องพอ ๆ กับสิ่งก่อสร้างที่งดงามของพวกเรา ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด ๆ ที่กรีกหรือโรมันทิ้งเอาไว้ แต่ก็ช่างขัดแย้งอย่างน่าเศร้ากับดินแดนที่เสื่อมอำนาจจนกลายเป็นแดนป่าเถื่อนไปแล้ว[17]
เช่นเดียวกันกับชาวตะวันตกกลุ่มแรกที่พบเห็นนครวัด มูโอนั้นแทบจะไม่เชื่อว่าชาวเขมรจะสามารถสร้างปราสาทหลังนี้ได้และเขียนบันทึกไว้ว่า:-
One seeks in vain for any historical souvenirs of the many kings who must have succeeded one another on the throne of the powerful empire of Maha-Nocor-Khmer. There exists a tradition of a leprous king, to whom is attributed the commencement of the great temple, but all else is totally forgotten. The inscriptions, with which some of the columns are covered, are illegible; and, if you interrogate the Cambodians as to the founders of Ongcor-Wat, you invariably receive one of these four replies: “It is the work of Pra-Eun, the king of the angels;” “It is the work of the giants;” “It was built by the leprous king;” or else, “It made itself.”[18]
(คำแปล): แม้จะมีผู้พยายามเพียรค้นคว้าร่องรอยของกษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ที่สืบทอดราชบัลลังก์ของอาณาจักรมหานครเขมรรุ่นต่อๆ มาด้วยก็ตาม จึงเท่ากับว่าเรื่องราวอื่น ๆ ที่เหลือได้ถูกลบไปจากความทรงจำ แม้จารึกบางหลักที่ปรากฏบนผนังกำแพงก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางอักษรศาสตร์ชาวเขมรคนใดสามารถอ่านถอดความได้ ครั้นเมื่อเราซักถามคนพื้นถิ่นที่นี่ว่าใครเป็นผู้สถาปนานครวัด มักได้รับคำตอบวนอยู่ใน ๔ ข้อที่ยกมาต่อไปนี้ “นี่เป็นผลงานของพระอินทร์ เจ้าแห่งเทพเทวา” หรือ “นี่เป็นฝีมือของยักษ์” ไม่ก็ “พระเจ้าขี้เรื้อนคือองค์พระผู้สร้าง” หรือจบลงด้วยว่า “ปราสาทแห่งนี้เกิดขึ้นมาอย่างนั้นเอง” คำตอบที่ว่า “เป็นฝีมือของยักษ์” น่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องในเชิงเปรียบเปรย[19]
— อ็องรี มูโอต์ (1858-1860), บันทึกการเดินทางของอ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ (1864), (แปลโดย กรรณีกา จรรย์แสง).
และได้กำหนดอายุสมัยของนครวัดเอาไว้อย่างผิดพลาด โดยระบุว่าน่าจะอยู่ในช่วงยุคสมัยเดียวกันกับกรุงโรม ประวัติที่แท้จริงของนครวัดได้รับจากเพียงแค่หลักฐานด้านรูปแบบการสร้างและจารึกที่ถูกรวบรวมขึ้นในระหว่างการเก็บกวาดและบูรณะพื้นที่ในช่วงหลังที่มีการดำเนินการในพื้นที่ทั้งหมดของเมืองพระนคร ในการบูรณะพื้นที่นั้นไม่มีการค้นพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานหรือที่พักอาศัยทั่วไปเลย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบอาหาร อาวุธ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายซึ่งมักจะพบเจอในบริเวณเขตเมืองโบราณ แต่ถึงอย่างนั้น หลักฐานที่ค้นพบก็คือสิ่งก่อสร้างทั้งหลายนั่นเอง[20]
ในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น นครวัดมีความจำเป็นต้องได้รับการบูรณะเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการกำจัดวัชพืชและกองดินเสียส่วนใหญ่[21] แต่งานบูรณะก็ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาและกองกำลังเขมรแดงก็ได้เข้ามาควบคุมประเทศตลอดในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 ถึงทศวรรษที่ 1980 แต่ตลอดระยะเวลานั้น ตัวปราสาทก็ได้รับความเสียหายไม่มากนัก กองกำลังเขมรแดงที่ต้องพักแรมได้ใช้ไม้ทุกชนิดที่เหลืออยู่ในปราสาทเพื่อเป็นฟืน หนึ่งในโคปุระในพื้นที่นั้นถูกทำลายลงด้วยปลอกระเบิดของทหารฝั่งสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การยิงตอบโต้กันของกองกำลังเขมรแดงและทหารเวียดนามก็ได้สร้างร่องรอยกระสุนเล็กน้อยบนภาพสลักนูนต่ำ ความเสียหายที่รุนแรงกว่าเกิดขึ้นภายหลังสงครามยุติลง โดยเหล่าหัวขโมยงานศิลปะที่ปฏิบัติการกันนอกประเทศไทย ซึ่งในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1980 ถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้อ้างสิทธิ์ครอบครองพระเศียรแทบทุกชิ้นที่สามารถตัดออกจากส่วนพระศอทั้งจากประติมากรรมและจากงานบูรณะได้[22]
ปราสาทแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลที่สุดของประเทศกัมพูชา และยังเป็นความภาคภูมิใจของชาติที่มีส่วนช่วยในเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาและประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย ภาพลายเส้นของนครวัดยังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของธงชาติกัมพูชามานับตั้งแต่ ค.ศ. 1863[23] ซึ่งเป็นธงรุ่นแรกที่ใช้ภาพของนครวัดบนตัวธง อย่างไรก็ตาม หากดูจากมุมมองทางด้านวัฒนธรรมข้ามชาติหรือแม้แต่ทางด้านประวัติศาสตร์ให้กว้างขึ้นก็จะพบว่านครวัดนั้นไม่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาติกัมพูชาเพียงชาติเดียว แต่นครวัดยังถูกจดจำด้วยกระบวนการด้านวัฒนธรรมการเมืองที่เกิดจากมรดกที่ตกทอดมาของจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส โดยได้มีการจัดแสดงปราสาทนครวัดที่จำลองไว้ในนิทรรศการของอาณานิคมฝรั่งเศสที่ปารีสและมาร์แซย์ระหว่างปี ค.ศ. 1889 ถึงปี ค.ศ. 1937[24] และความงดงามของนครวัดยังถูกจัดแสดงในรูปแบบแม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์ที่พิพิธภัณฑ์ของหลุยส์ เดอลาปอร์ตที่ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์อินโดจีนแห่งตรอกาเดโร ซึ่งจัดแสดงอยู่ในวังพาริเซิน ตรอกาเดโล ให้ชาวฝรั่งเศสได้ชื่นชมในความเกรียงไกรของการแผ่ขยายอาณานิคมของตนตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1880 ถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 20[25]
ตำนานเกี่ยวกับความงามด้านศิลปะของนครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในเขตเมืองพระนคร ได้ส่งผลโดยตรงต่อการที่ฝรั่งเศสเลือกประเทศกัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1863 และเริ่มบุกรุกสยาม เพื่อหวังเข้ามาควบคุมและจัดการโบราณสถานต่าง ๆ การกระทำดังกล่าวได้ส่งผลให้ประเทศกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ คืนจากการครอบครองของสยามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดินแดนดังกล่าวได้อยู่ภายใต้การปกครองของสยามมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1351 หรือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1431[26] ตามที่บันทึกบางชิ้นได้อ้างถึงกัมพูชาได้รับอิสรภาพคืนจากฝรั่งเศสในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1953 และได้เข้ามาดูแลปราสาทนครวัดมานับแต่นั้นเป็นต้นมา อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคมเรื่อยมาจนถึงช่วงที่นครวัดได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกใน ค.ศ. 1992 ตัวปราสาทนครวัดนั้นเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างแห่งยุคสมัยใหม่ และช่วยเผยแพร่แนวคิดเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมประเภทสิ่งปลูกสร้างได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป[27]
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2015 ได้มีการประกาศว่าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ได้ค้นพบกลุ่มซากปราสาทฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน โดยคาดว่ามีการสร้างและพังทลายลงในช่วงการก่อสร้างนครวัดเช่นเดียวกับป้อมปราการที่ทำจากไม้และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทางทิศใต้ที่ยังไม่รู้จุดประสงค์ของการสร้าง การค้นพบครั้งนี้ยังรวมไปถึงการค้นหลักฐานเรื่องการตั้งถิ่นที่อยู่ของผู้คนที่ไม่ได้หนาแน่นนัก รวมไปถึงการตัดถนนแบบตาราง สระน้ำ และคันดิน ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าบริเวณของปราสาทที่แม้จะมีการล้อมอาณาเขตด้วยคูน้ำและกำแพงนั้นก็อาจจะไม่ได้เป็นสถานที่ที่ถูกจำกัดเอาไว้ให้คนชนชั้นสูงที่เป็นนักบวชเพียงอย่างเดียวดังที่เคยสันนิษฐานไว้ในตอนแรก ทีมวิจัยยังได้ใช้ไลดาร์ ให้สัญญาณเรดาร์ทะลุทะลวงลงไปในพื้นดินและพื้นที่ขุดค้นที่สนใจเพื่อทำแผนที่ของนครวัดขึ้น[28]
สถาปัตยกรรม
ที่ตั้งและผัง
นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นด้วยการรวมเอาลักษณะการสร้างปราสาทให้เสมือนภูเขา (แบบแผนของการออกแบบปราสาทของอาณาจักร) เข้ากับแบบผังของอาคารในสมัยหลังที่มีการทำระเบียงคดล้อมจุดศูนย์กลาง การก่อสร้างนครวัดยังได้บ่งบอกให้ทราบว่าปราสาทยังมีนัยยะสำคัญเกี่ยวข้องกับท้องฟ้าเนื่องด้วยองค์ประกอบบางส่วนของตัวปราสาท นัยยะดังกล่าวคือในบริเวณด้านทิศตะวันออกและตะวันตกของปราสาท ซึ่งระเบียงภายในได้มีการออกแบบให้เชื่อมต่อเข้าหากันโดยปราศจากสิ่งกำบัง ส่งผลให้ปราสาททั้งสองทิศตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับพระอาทิตย์ที่ขึ้นช่วงวันอายัน[29] ปราสาทแห่งนี้คืออาคารที่สื่อถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า โดยปรางค์ประธานตรงกลางทั้งห้านั้นเป็นสัญลักษณ์แทนถึงยอดห้ายอดของภูเขา ส่วนกำแพงแต่ละชั้นและคูน้ำนั้นก็แทนถึงเขาสัตบริภัณฑ์และมหาสมุทร[30] แต่เดิมพื้นที่ส่วนบนของปราสาทนั้นถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงมาโดยตลอด ผู้ที่เป็นฆราวาสจึงถูกจำกัดให้อยู่แค่บริเวณส่วนล่างของปราสาทเท่านั้น[31]
นครวัดมีความแตกต่างจากปราสาทเขมรหลังอื่นในเรื่องของการวางทิศประธานที่หันไปทางทิศตะวันตกแทนที่จะเป็นทิศตะวันออก ความต่างนี้ได้ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก (รวมไปถึงมอริส เกรซ และ ยอร์ช เซเดส์) ออกมาสรุปว่าพระเจ้าสุริยวรรมันนั้นประสงค์ที่จะสร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นให้เป็นปราสาทที่เก็บพระบรมศพของพระองค์[32][33] แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้จากการศึกษาภาพสลักนูนต่ำที่เรียงลำดับเรื่องราวในทิศทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งต่างไปจากเทวสถานฮินดูทั่วไป โดยพิธีกรรมต่าง ๆ ของพราหมณ์ในพิธีพระบรมศพก็ยังจัดขึ้นแบบย้อนลำดับอีกด้วย[21] นักโบราณคดี ชาร์ล ไฮแฮม ยังได้อธิบายถึงภาชนะชิ้นหนึ่งว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นพระโกศบรรจุพระบรมอัฐิ โดยภาชนะนี้ถูกขุดขึ้นมาจากปรางค์ประธานตรงกลาง[34] โดยบุคคลบางกลุ่มได้เสนอแนวคิดที่ว่าปรางค์ประธานตรงกลางนั้นเหมาะสมที่สุดในการทำพิธีจัดการกับพระบรมศพ เพราะเชื่อกันว่าเปรียบเสมือนศูนย์รวมของพลังอำนาจทั้งปวง[35] อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนได้ระบุว่าปราสาทหลายหลังในเมืองพระนครเองก็ไม่ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามธรรมเนียมเสียหมด และได้เสนอว่าการที่นครวัดมีการวางทิศเช่นนี้ก็เพราะปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตก[30]
เอเลนอร์ แมนนิกกาได้นำเสนอการตีความนครวัดในแบบที่แตกต่างออกไป โดยได้วิเคราะห์จากการวางทิศ มิติของอาคาร และจากลำดับการเล่าเรื่องและเนื้อหาของภาพสลักนูนต่ำ เธอได้แย้งว่า ปราสาทแห่งนี้ได้อ้างถึงยุคสมัยใหม่แห่งความสงบสุขในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 โดยได้ระบุว่า “เนื่องจากมีการคำนวณวงจรเวลาการขึ้นของพระอาทิตย์และพระจันทร์ไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนครวัด ภาพเทพเทวดาผู้อยู่ในอาณัติของการปกครองจึงได้ปรากฏอยู่บนตัวเรือนธาตุและเฉลียง สื่อความหมายถึงปกปักษ์ให้อำนาจของกษัตริย์เป็นนิจนิรันดร เป็นการเฉลิมพระเกียรติและสร้างความสงบแก่เหล่าเทวดาที่ประทัพอยู่บนสรวงสวรรค์”[36][37] ข้อเสนอของแมนนิกกานั้นได้มอบทั้งความสนใจและข้อแคลงใจในแวดวงวิชาการ[34] เธอได้ฉีกหนีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการคนอื่น ๆ เช่น แกรแฮม แฮนคอก ด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่านครวัดนั้นคือสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงกลุ่มดาวมังกร[38]
รูปแบบ
นครวัดถือเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมเขมรรูปแบบคลาสสิคที่สำคัญที่สุด ซึ่งชื่อเรียกรูปแบบศิลปะในสมัยคลาสสิคนี้ยังเรียกกันว่า “ศิลปะนครวัด” อีกด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 นั้น สถาปนิกเขมรได้มีทั้งทักษะความสามารถและความมั่นใจในการใช้หินทรายเป็นวัสดุโครงสร้างหลักของอาคาร (จากเดิมที่ใช้อิฐหรือศิลาแลงในการก่อสร้าง) ส่วนของปราสาทที่มองเห็นได้นั้นทำมาจากหินทรายที่มีการตัดเป็นบล็อก ในขณะที่กำแพงภายนอกและโครงสร้างภายในนั้นทำจากศิลาแลงแต่ใช้บล็อกหินทรายปิดบังเอาไว้ภายนอก ยังไม่มีการชี้ชัดว่าวัสดุที่ใช้เชื่อมหินแต่ละก้อนให้ติดกันนั้นคืออะไร แม้จะมีจะมีการเสนอว่าเป็นยางไม้และน้ำปูนใสมาโดยตลอดก็ตาม[39]
ปราสาทแห่งนี้ได้รับการยกย่องเหนือปราสาทหลังอื่น ๆ เนื่องด้วยความกลมกลืนของการออกแบบ มอริส เกรซ นักอนุรักษ์ของปราสาทนครวัดในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้ระบุว่า ปราสาทหลังนี้ “ได้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบที่คลาสสิกด้วยการเป็นอนุสรณ์แห่งองค์ประกอบที่มีความพอดีอย่างประณีต มีการจัดสัดส่วนที่แม่นยำ เป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยพลัง มีความเป็นหนึ่งเดียว และเต็มไปด้วยลีลา”[40]
งานประติมากรรม
ทางด้านกำแพงชั้นนอกรอบปราสาทนั้น มีความยาวกว่า 800 เมตร มีงานแกะสลักเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 และเรื่องราววรรณคดีเรื่อง รามายณะ รูปแกะสลักที่มีชื่อที่สุดคือรูปแกะสลักการกวนเกษียรสมุทร[41] มีรูปแกะสลักนางอัปสรมากกว่า 1,796 นาง ที่ทั้งหมดมีเครื่องแต่งกายและทรงผมที่ไม่ซ้ำกัน[42]
ระเบียงภาพ
-
ปราสาทหลักของปราสาทหินนครวัด
-
หอสมุด
-
ระเบียงคต
-
ภาพสลักการกวนเกษียรสมุทร
-
ภาพสลักนูนสูงรูปนางอัปสรฟ้อนรำ
-
ปราสาทด้านข้าง
-
ทางขึ้นปราสาท
-
ปราสาทสูงบริเวณศูนย์กลางของปราสาทหินนครวัด
อ้างอิง
- ↑ Editors, History com. "Angkor Wat". History.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 5 April 2021.
{{cite web}}
:|last=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ "What the world's largest Hindu temple complex can teach India's size-obsessed politicians".
- ↑ "Largest religious structure". Guinness World Records. สืบค้นเมื่อ 29 April 2016.
- ↑ 4.0 4.1 Ashley M. Richter (8 September 2009). "Recycling Monuments: The Hinduism/Buddhism Switch at Angkor". CyArk. สืบค้นเมื่อ 7 June 2015.
- ↑ Higham, C. (2014). Early Mainland Southeast Asia. Bangkok: River Books Co., Ltd. pp. 372, 378–379. ISBN 978-616-7339-44-3.
- ↑ "Government ::Cambodia". CIA World Factbook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-29. สืบค้นเมื่อ 2017-03-13.
- ↑ "Cambodia's Angkor Wat Breaking Records for Visitors Again | News from Tourism Cambodia". Tourism of Cambodia.
- ↑ J. Hackin; Clayment Huart; Raymonde Linossier; Raymonde Linossier; H. de Wilman Grabowska; Charles-Henri Marchal; Henri Maspero; Serge Eliseev (1932). Asiatic Mythology:A Detailed Description and Explanation of the Mythologies of All the Great Nations of Asia. p. 194.
- ↑ daguan Zhou (2007). A Record of Cambodia: The Land and Its People. Translated by Peter Harris. Silkworm Books.
- ↑ "Angkor Wat, 1113–1150". The Huntington Archive of Buddhist and Related Art. College of the Arts, The Ohio State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-06. สืบค้นเมื่อ 27 April 2008.
- ↑ Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. p. 164. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ Glaize, The Monuments of the Angkor Group p. 59.
- ↑ Higham, The Civilization of Angkor pp. 1–2.
- ↑ Masako Fukawa; Stan Fukawa (6 Nov 2014). "Japanese Diaspora - Cambodia". Discover Nikkei. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015.
- ↑ Abdoul-Carime Nasir. "Au-dela du plan Japonais du XVII siècle d'Angkor Vat, (A XVII century Japanese map of Angkor Wat)" (PDF) (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-12-23. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "History of Cambodia, Post-Angkor Era (1431 - present day)". Cambodia Travel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-11. สืบค้นเมื่อ 18 October 2015.
- ↑ Quoted in Brief Presentation by Venerable Vodano Sophan Seng
- ↑ Mouhot H., and Mouhot C. (1864). Travels in the Central Parts of Indo-China (Siam), Cambodia, and Laos during the years 1858, 1859, and 1860 with illustrations. Vol. I. LONDON: William Clowes and Sons. p. 279.
- ↑ มูโอต์, อ็องรี. (2561). บันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ. (แปลโดย กรรณีกา จรรย์แสง). กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 233. ISBN 978-974-0-21436-6
- ↑ Time Life Lost Civilizations series: Southeast Asia: A Past Regained (1995). p.67–99
- ↑ 21.0 21.1 Glaize p. 59.
- ↑ Russell Ciochon & Jamie James (14 October 1989). "The Battle of Angkor Wat". New Scientist. pp. 52–57. สืบค้นเมื่อ 22 November 2015.
- ↑ Flags of the World, Cambodian Flag History
- ↑ Falser, Michael (2011). Krishna and the Plaster Cast. Translating the Cambodian Temple of Angkor Wat in the French Colonial Period เก็บถาวร 2012-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ Falser, Michael (2013). From Gaillon to Sanchi, from Vézelay to Angkor Wat. The Musée Indo-Chinois in Paris: A Transcultural Perspective on Architectural Museums..
- ↑ Cambodge: The Cultivation of a Nation, 1860–1945 by Penny Edwards. 2007. ISBN 978-0-8248-2923-0
- ↑ Falser, Michael: Clearing the Path towards Civilization - 150 Years of "Saving Angkor". In: Michael Falser (ed.) Cultural Heritage as Civilizing Mission. From Decay to Recovery. Springer: Heidelberg, New York, pp. 279–346.
- ↑ "Recent research has transformed archaeologists' understanding of Angkor Wat and its surroundings". University of Sydney. 9 December 2015. สืบค้นเมื่อ 10 December 2015.
- ↑ Fleming, Stuart. "The City of Angkor Wat: A Royal Observatory on Life?" (PDF). jstor.org. Archaeological Institute of America.
- ↑ 30.0 30.1 Freeman and Jacques p. 48.
- ↑ Glaize p. 62.
- ↑ Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. p. 162. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ The diplomatic envoy Zhou Da Guan sent by Emperor Temür Khan to Angkor in 1295 reported that the head of state was buried in a tower after his death, and he referred to Angkor Wat as a mausoleum
- ↑ 34.0 34.1 Higham, The Civilization of Angkor p. 118.
- ↑ Scarre, Chris editor "The Seventy Wonders of the Ancient World", p. 81–85 (1999) Thames & Hudson, London
- ↑ Mannikka, Eleanor. Angkor Wat, 1113–1150 เก็บถาวร 2006-01-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (This page does not cite an author's name.)
- ↑ Stencel, Robert, Fred Gifford, and Eleanor Moron. "Astronomy and Cosmology at Angkor Wat." Science 193 (1976): 281–287. (Mannikka, née Moron)
- ↑ Transcript of Atlantis Reborn, broadcast BBC2 4 November 1999.
- ↑ German Apsara Conservation Project Building Techniques, p. 5.
- ↑ Glaize p. 25.
- ↑ Higham, Early Cultures of Mainland Southeast Asia p. 318.
- ↑ Angkor Wat devata inventory - February 2010 เก็บถาวร 23 เมษายน 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
บรรณานุกรม
- Albanese, Marilia (2006). The Treasures of Angkor (Paperback). Vercelli: White Star Publishers. ISBN 88-544-0117-X.
- Briggs, Lawrence Robert (1951, reprinted 1999). The Ancient Khmer Empire. White Lotus. ISBN 974-8434-93-1.
- Forbes, Andrew; Henley, David (2011). Angkor, Eighth Wonder of the World. Chiang Mai: Cognoscenti Books. ASIN: B0085RYW0O
- Freeman, Michael and Jacques, Claude (1999). Ancient Angkor. River Books. ISBN 0-8348-0426-3.
- Higham, Charles (2001). The Civilization of Angkor. Phoenix. ISBN 1-84212-584-2.
- Higham, Charles (2003). Early Cultures of Mainland Southeast Asia. Art Media Resources. ISBN 1-58886-028-0.
- Hing Thoraxy. Achievement of "APSARA": Problems and Resolutions in the Management of the Angkor Area.
- Jessup, Helen Ibbitson; Brukoff, Barry (2011). Temples of Cambodia - The Heart of Angkor (Hardback). Bangkok: River Books. ISBN 978-616-7339-10-8.
- Petrotchenko, Michel (2011). Focusing on the Angkor Temples: The Guidebook, 383 pages, Amarin Printing and Publishing, 2nd edition, ISBN 978-616-305-096-0
- Ray, Nick (2002). Lonely Planet guide to Cambodia (4th edition). ISBN 1-74059-111-9.
แหล่งข้อมูลอื่น
- Buckley, Michael (1998). Vietnam, Cambodia and Laos Handbook. Avalon Travel Publications. Online excerpt The Churning of the Ocean of Milk retrieved 25 July 2005.
- Glaize, Maurice (2003 edition of an English translation of the 1993 French fourth edition). The Monuments of the Angkor Group. Retrieved 14 July 2005.
- University of Applied Sciences Cologne. German Apsara Conservation Project Retrieved 2 May 2010.
- University of Heidelberg, Germany, Chair of Global Art History, Project (Michael Falser): Heritage as a Transcultural Concept – Angkor Wat from an Object of Colonial Archaeology to a Contemporary Global Icon [1] เก็บถาวร 2018-03-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- BBC Horizon (4 November 1999). Atlantis Reborn (script). Broadcast BBC2 4 November 1999, retrieved 25 July 2005.
- Angkor Wat and Angkor photo gallery by Jaroslav Poncar May 2010
- Angkor digital media archive เก็บถาวร 2014-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – Photos, laser scans, panoramas of Angkor Wat's Western Causeway and Banteay Kdei from a CyArk/Sophia University/University of California partnership.
- BBC: Map reveals ancient urban sprawl August 2007
- Guide to the Angkor Monuments – PDF Downloadable English translation of Maurice Glaize's 1944 guide
- Inventory of Angkor Wat devata (sacred Khmer women) February 2010
- Laser technology reveals lost city around Angkor Wat June 2013
- Roland Fletcher, director of the Greater Angkor Project, lectures on "LiDAR, Water and the Demise of Greater Angkor" in November, 2013 เก็บถาวร 2015-04-22 ที่ Archive-It
- Voice of Angkor, an Angkor Temples Guide เก็บถาวร 2014-10-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน