พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | พระเดชพระคุณ |
ชื่ออื่น | หลวงพ่อจรัญ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 (87 ปี) |
มรณภาพ | 25 มกราคม พ.ศ. 2559 |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | นักธรรมชั้นโท |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี |
อุปสมบท | 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 |
พรรษา | 67 |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน (จังหวัดสิงห์บุรี) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี |
พระธรรมสิงหบุราจารย์ นามเดิม จรัญ จรรยารักษ์ ฉายา ตธมฺโม เป็นพระภิกษุชาวไทย ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3
ท่านมีชื่อเสียงในระดับประเทศจากการเป็นพระนักพัฒนา พระนักเทศน์และพระวิปัสสนาจารย์ แนวทางการสืบทอดพระพุทธศาสนาของท่านเน้นหนักที่การสั่งสอนเรื่องกฎแห่งกรรม โดยยกเหตุการณ์ที่ท่านประสบและนับเป็นกฎแห่งกรรมขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์อยู่เสมอ และเน้นการพัฒนาจิตใจคนด้วยการฝึกวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน 4 แบบพองหนอ-ยุบหนอ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนสวดพุทธชัยมงคลคาถาเพื่อเป็นเครื่องเจริญสติอย่างแพร่หลายอีกด้วย
ประวัติ
[แก้]ชาติภูมิ
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
พระธรรมสิงหบุราจารย์ มีนามเดิมว่า จรัญ จรรยารักษ์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 เวลา 07.10 น. ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ที่บ้านบางม่วงหมู่ ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี
เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนทั้งหมด 10 คนของ นาย แพ จรรยารักษ์ และ นาง เจิม (สุขประเสริฐ) จรรยารักษ์ ประกอบด้วย
- นางจรัส จรรยารักษ์
- ด.ช.จำรูญ จรรยารักษ์
- นายจำลอง จรรยารักษ์
- นายจำเริญ จรรยารักษ์
- พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
- นายฉลวย จรรยารักษ์
- นางเฉลียว บัวสรวง
- นางเฉลิม ตั้งสมพงษ์
- นางแฉล้ม พิมพ์สุวรรณ
- นางสุชาติ ชั้นเฟื้องฟู
อุปสมบท
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
พระธรรมสิงหบุราจารย์ อุปสมบทเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 เวลา 14.00น. ณ พัทธสีมาวัดพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี
- พระพรหมนคราจารย์ (ดี ธมฺมปญฺโญ) วัดแจ้งพรหมนคร อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
- พระครูถาวรวิริยคุณ (กิมเฮง พุทฺธสโร) วัดพุทธาราม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พระอธิการช่อ ปภากโร วัดพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านได้รับฉายาว่า "ฐิตธมฺโม" (ผู้มีธรรมตั้งมั่นแล้ว)
การศึกษา
[แก้]หลวงพ่อจรัญได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรและที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้และประสบการณ์ทั้งทางสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน และได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิชากับพระอาจารย์หลายท่าน อาทิ
- พ.ศ. 2493 ศึกษากสิน และวิชาคชศาสตร์กับพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (เดิม พุทฺธสโร) ณ วัดหนองโพธิ ตำบลหนองโพ อำเภอพยุหคีรี (ในขณะนั้น) ปัจจุบันอยู่ในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
- พ.ศ. 2494 ศึกษาอสุภกรรมฐานกับพระสุทธิธรรมรังสี (ลี ธมฺมธโร)ศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ และฝึกภาวนาพุทโธ ตามแบบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
- พ.ศ. 2494 ศึกษาอนุสติ 10และอานาปานสติกับท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ณ วัดเขาสวนกวาง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
- พ.ศ. 2495 ศึกษาการทำเครื่องรางของขลังน้ำมันมนต์กับหลวงพ่อจง พุทฺธสโร วัดหน้าต่าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- พ.ศ. 2495 ศึกษาวิชาทำผงพระต่างๆกับพระเทพสิทธินายก (หลวงปู่นาค โสภโณ) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2495 ศึกษาวิชาปลุกเสกสิ่งของต่างๆกับหลวงพ่อสนั่น วัดเสาธงทอง จังหวัดอ่างทอง
- พ.ศ. 2495 ศึกษาวิชาทำยันต์และตะกุดกับพระครูสิทธิสารคุณหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จังหวัดปราจีนบุรี
- พ.ศ. 2496 ศึกษาวิชชาธรรมกายกับพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2496 ศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ กับพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2498 ศึกษาพระอภิธรรมกับอาจารย์เตชิน (ชาวพม่า) ที่วัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2498 ศึกษาการพยากรณ์จากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2498 ศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้วิทยาศาสตร์ทางจิตกับอาจารย์ พ.อ.ชม สุคันธรัต
- ศึกษาวิชาสเดาะกุญแจกับหลวงพ่อลี วัดบางปิ้ง สมุทรปราการ
- ปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงพ่อในป่า
แนวทางการทำงานสืบทอดพระพุทธศาสนา
[แก้]จะใช้หนี้โลกมนุษย์ ด้วยการเผยแพร่พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่ขอสร้างวัตถุอีก
— พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธัมโม)
อาการอาพาธ
[แก้]พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) ได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยอาการหอบเหนื่อยจากโรคปอดอักเสบ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช
- รายงานอาการอาพาธฉบับที่ 1 วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะแพทย์ได้ให้การช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจถวายยาปฏิชีวนะและถวายสารอาหารร่วมกับการควบคุมระดับความดันเลือดการทำงานของไตและควบคุมระดับน้ำตาล ขนาดนี้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่คณะแพทย์จำเป็นต้องถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดอีกระยะหนึ่ง จึงขอให้งดการเยี่ยมเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม
- รายงานอาการอาพาธฉบับที่ 2 วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558 คณะแพทย์ได้ถวายยาปฏิชีวนะ ออกซิเจนช่วยหายใจ ถวายยาปฏิชีวนะ ยานอนหลับ ตลอดจนติดตามการทำงานของหัวใจและไต ร่วมกับการถวายสารอาหาร และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
- รายงานอาการอาพาธฉบับที่ 3 วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559 อาการอาพาธและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ยังคงเดิม ยกเว้นไตซึ่งทำงานลดลงบางส่วน คณะแพทย์ยังต้องถวายการช่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจตลอดจนการรักษาทดแทนไตและการให้สารอาหารและให้ยานอนหลับ เพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด
- รายงานอาการอาพาธฉบับที่ 4 วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559 อาการอาพาธและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ระดับชีพจร และความดันโลหิตยังคงเดิม ไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คณะแพทย์ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเริ่มให้อาหารทางหลอดเลือด จากผลการตรวจเลือด พบว่าระดับเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ จึงได้ให้เกล็ดเลือดทดแทน ขนาดนี้เกล็ดเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว คณะแพทย์ได้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด
- รายงานอาการอาพาธฉบับที่ 5 วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559 แพทย์ยังคงถวายการช่วยหายใจ ถวายยาปฏิชีวนะและยากระตุ้นความดันโลหิตร่วมกับถวายการประคับประคองระบบการหายใจและไหลเวียนเลือดด้วยเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ถวายการรักษาทดแทนไต ถวายเลือดและเกล็ดเลือดโดยเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
- รายงานอาการอาพาธฉบับที่ 6 วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559 แพทย์ยังคงถวายการช่วยหายใจและถวายการประคับประคองระบบการหายใจและไหลเวียนเลือดด้วยเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ถวายการรักษาทดแทนไต ใน 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา เกิดมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร จึงได้ถวายเลือดและเกล็ดเลือด ในขณะนี้ภาวะเลือดออกสามารถควบคุมได้และระดับออกซิเจนในเลือดสูงขึ้น
- รายงานอาพาธฉบับที่ 7 วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559 แพทย์ยังคงถวายการรักษาอย่างเต็มที่ แต่สภาพโดยทั่วไป และสัญญาณชีพต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้นและอยู่ในภาวะวิกฤต
- รายงานอาพาธฉบับที่ 8 วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 ตามที่พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี เข้ารับการรักษาอาการอาพาธในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยอาการหอบเหนื่อยจากโรคปอดอักเสบโดยคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและออกซิเจนนั้น
มรณภาพ
[แก้]คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกแถลงการณ์ด่วน เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 ตามที่พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมฺโม) วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี เข้ารับการรักษาอาการอาพาธในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยอาการหอบเหนื่อยจากโรคปอดอักเสบ โดยคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะและออกซิเจน
ต่อมาโรครุนแรงขึ้น แพทย์ได้ถวายการช่วยหายใจและถวายการรักษาประคับประคองระบบการหายใจและหลอดเลือดด้วยเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ถวายการรักษาทดแทนไต ระยะหลังอาการทรุดลง เริ่มมีเลือดออกผิดปกติจนต้องมีการถวายเลือดและเกล็ดเลือด จนในที่สุดการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ไม่สามารถถวายการรักษาประคับประคองได้ต่อไปและได้มรณภาพอย่างสงบ ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 8.37 น. สิริอายุได้ 87 ปี 67 พรรษา[1]
เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลศิริราชได้เคลื่อนสังขารหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม มาถึงวัดอัมพวัน จัหวัดสิงห์บุรี โดยมีภิกษุสงฆ์ สามเณร ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปมารอรับจำนวนมาก ซึ่งตลอดทางมีการสวดมนต์บทอิติปิโสอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ จะมีการเคลื่อนสังขารหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ไปตั้งบำเพ็ญกุศลภายในศาลาสุธรรมภาวนา
เกียรติคุณ
[แก้]ปริญญาบัตร
[แก้]- พ.ศ. 2536 ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- พ.ศ. 2536 ปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ สภาฝึกหัดครู
- พ.ศ. 2537 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- พ.ศ. 2539 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- พ.ศ. 2544 ปริญญาคุรุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพระพุทธศาสนา สถาบันราชภัฏเทพสตรี
- พ.ศ. 2546 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศาสนศึกษา) มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ. 2557 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
รางวัลที่ได้รับ
[แก้]- พ.ศ. 2526 ได้รับโล่เกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นในสาขาสังคมสงเคราะห์อาสาสมัครฝ่ายกิจการพระศาสนา
- พ.ศ. 2528 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 ในฐานะผู้ได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้านส่งเสริมชักชวนให้มาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
- พ.ศ. 2529 ได้รับมอบเข็มเกียรติคุณนักพัฒนาดีเด่นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทองจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
- พ.ศ. 2558 ได้รับรางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ณ ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยในสังฆราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558
- พ.ศ. 2558 ได้รับรางวัลเป็นบุคลที่ทำคุณประโยชน์ ด้านการพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิต จากมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ในงานประกาศ “รางวัล ๑๐๐ ปี ชาติกาล หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก”
ตำแหน่งทางคณะสงฆ์
[แก้]- พ.ศ. 2499 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น รักษาการเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
- พ.ศ. 2500 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
- พ.ศ. 2517 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น รักษาการเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี
- พ.ศ. 2518 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี
- พ.ศ. 2519 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น พระอุปัชฌาย์
- พ.ศ. 2541 ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเป็น รองเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
- พ.ศ. 2542 ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
- พ.ศ. 2552 ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี[2]
- พ.ศ. 2557 ได้รับพระบัญชาให้ดำรงตำแหน่งเป็น ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 3[3]
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2501 ได้รับการแต่งตั้งจากพระสุนทรธรรมประพุทธ (หล้า สีลวํโส) เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปลัด
- พ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ พระครูภาวนาวิสุทธิ์[4]
- พ.ศ. 2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยพระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามเดิมที่ พระครูภาวนาวิสุทธิ์
- พ.ศ. 2525 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามเดิมที่ พระครูภาวนาวิสุทธิ์
- พ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ในราชทินนามที่ พระภาวนาวิสุทธิคุณ[5]
- พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสุทธิญาณมงคล ศรีพหลนราทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- พ.ศ. 2544 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิงหบุราจารย์ ภาวนาวิธานโกศล วิมลธรรมานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
- พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมสิงหบุราจารย์ ภาวนาปฏิภาณโกศล โสภณธรรมานุสิฐ พิพัฒน์กิจสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
หนังสือที่เกี่ยวข้อง
[แก้]ศูนย์ปฏิบัติธรรม วัด และสำนักปฏิบัติธรรมที่เกี่ยวข้อง
[แก้]สาขาของหลวงพ่อจรัญก่อตั้ง
[แก้]- ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น (สาขาวัดอัมพวัน)
เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ได้เป็นผู้ก่อตั้ง
สาขาของลูกศิษย์หลวงพ่อจรัญก่อตั้ง
[แก้]เป็นวัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมที่ลูกศิษย์หลวงพ่อจรัญดำเนินการสร้างและบริหารจัดการเอง โดยเอาแนวทางการสอนสติปัฏฐาน ๔ ของหลวงพ่อจรัญไปดำเนินการสอนมีดังต่อไปนี้
- วัดตาลเอน อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งที่ ๑๕ บริหารงานโดยพระครูวิสุทธิ์ภาวนาประสิทธิ์ วิ.(จิรยุทธ์ อธิฉนฺโท)เจ้าคณะตำบลหันสัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดตาลเอนยังมีสาขาอื่น ๆ ได้แก่ วัดป่าดอยภูคา, ศูนย์ธุดงค์กรรมฐานหลวงพ่อดำ(พระในป่า), ศูนย์ปฏิบัติธรรมสิริมหามายาพุทธมาตา
- ศูนย์วิปัสสนากรรมฐานวัดถ้ำพระผาคอก จังหวัดเชียงราย บริหารงานโดยครูสุขุมสีลานุกิจ (ทองสุข ฐิตสีโล) เจ้าคณะตำบลผางาม จังหวัดเชียงราย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม" เจ้าอาวาสวัดอัมพวันมรณภาพแล้วอย่างสงบ
- ↑ มหาเถรสมาคม, เสนอแต่งตั้ง พระธรรมสิงหบุราจารย์ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี[ลิงก์เสีย]
- ↑ มหาเถรสมาคม, เสนอแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๓[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 85, ตอน 122 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม พ.ศ. 2511, หน้า 20
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 105, ตอน 207 ฉบับพิเศษ, 9 ธันวาคม พ.ศ. 2531, หน้า 5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 109, ตอน 101 ฉบับพิเศษ, 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535, หน้า 8
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 118, ตอน 24 ข ฉบับทะเบียนฐานันดร, 7 ธันวาคม พ.ศ. 2544, หน้า 25
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 121, ตอน 17 ข ฉบับทะเบียนฐานันดร, 15 กันยายน พ.ศ. 2547, หน้า 4
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์วัดอัมพวัน ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
- เว็บไซต์พระธรรมสิงหบุราจารย์ วัดอัมพวัน ต.พรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
ก่อนหน้า | พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระธรรมมุนี (แพ เขมงฺกโร) | เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี |
พระเทพปริยัติสุธี (ยงยุทธ ยุตฺตธมฺโม) |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2471
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2559
- ภิกษุในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
- เจ้าอาวาส
- เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
- พระราชาคณะชั้นธรรม
- ผู้ได้รับรางวัลพุทธคุณูปการ
- ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร
- ผู้ได้รับประทานโล่รางวัลเสาอโศก
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยพะเยา
- บุคคลจากอำเภอเมืองสิงห์บุรี
- บุคคลจากอำเภอพรหมบุรี