อำเภอพรหมบุรี
อำเภอพรหมบุรี | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Phrom Buri |
คำขวัญ: ประเพณีกำฟ้า หัวป่าต้นตำรับอาหารไทยรสเด็ด คูค่ายเป็นเพชรประวัติศาสตร์ นารีพิลาสสาวบ้านแป้ง | |
แผนที่จังหวัดสิงห์บุรี เน้นอำเภอพรหมบุรี | |
พิกัด: 14°47′28″N 100°27′13″E / 14.79111°N 100.45361°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | สิงห์บุรี |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 82.505 ตร.กม. (31.855 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2566) | |
• ทั้งหมด | 22,571 คน |
• ความหนาแน่น | 273.57 คน/ตร.กม. (708.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 16120 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 1704 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอพรหมบุรี หมู่ที่ 3 ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี 16120 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย |
พรหมบุรี เป็นอำเภอหนึ่งใน 6 อำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี
ที่ตั้งและอาณาเขต
[แก้]อำเภอพรหมบุรีตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอท่าวุ้ง (จังหวัดลพบุรี)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอท่าวุ้ง (จังหวัดลพบุรี)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอไชโยและอำเภอโพธิ์ทอง (จังหวัดอ่างทอง)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอท่าช้าง
ประวัติ
[แก้]เมืองพรหมบุรีนั้นสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏ สันนิษฐานกันว่า เป็นเมืองที่พระเจ้าพรหม (พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก) ผู้ครองเมืองไชยปราการ (ฝาง) ได้โปรดให้สร้างขึ้นขนานนามว่า เมืองพรหมบุรี ตั้งอยู่ใต้วัดอัมพวัน หมู่ที่ 5 ตำบลพรหมบุรีในปัจจุบัน ตามหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนนั้น มีเมืองพรหมบุรีตั้งแต่ครั้งสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) แล้ว และได้ตั้งเมืองพรหมบุรีเป็นเมืองหลานหลวง นอกจากนี้แล้วยังเป็นหัวเมืองชั้นในและหัวเมืองชั้นในหน้าด่านทางด้านทิศเหนืออีกด้วย โดยมีเมืองลพบุรีเป็นเมืองหน้าด่านหลัก แสดงให้เห็นว่าเมืองพรหมบุรีมีอยู่แล้วเมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ได้ทรงจัดการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองชั้นในเป็นเมืองจัตวา ดังนั้น เมืองพรหมบุรีจึงเปลี่ยนฐานะเป็นเมืองจัตวา และในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมืองพรหมบุรีขึ้นกับกรุงธนบุรี ในประชุมพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงสำเนาท้องตรา พ.ศ. 2316 เกณฑ์ผู้รักษาเมืองพรหมบุรียกทัพไปสกัดข้าศึกด้านตะวันออกและคุมพรรคพวกสุ่มกำลังยกลงไปขุดคูเลนพระนครเมืองธนบุรี
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ เมืองพรหมบุรีอยู่ในอำนาจปกครองของสมุหนายก โดยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น เมืองพรหมบุรีคงมีฐานะเป็นเมืองตลอดมา ในกฎมณเฑียรบาลเป็นเมืองสำหรับหลานหลวงครอง ในกฎหมายลักพาบทหนึ่งเรียกชื่อว่า "พระพรหมนคร" แต่ในทางการปกครองได้ถูกจัดให้เป็นหัวเมืองจัตวา มีเจ้าเมืองปกครองตลอดมา ได้มีการย้ายที่ตั้งเมืองจากใต้วัดอัมพวันไปอยู่ที่ปากปางหมื่นหาญ (อยู่เหนือตลาดปากบาง หมู่ที่ 1 ตำบลพรหมบุรี) และได้ย้ายไปที่จวนหัวป่าเหนือวัดพรหมเทพาวาส
ต่อมาในปี พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพรหมบุรีเป็นเมืองอยู่ในมณฑลกรุงเก่า (ต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา) และปี พ.ศ. 2439 ยุบเมืองพรหมบุรีเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองสิงห์บุรี เรียกว่า อำเภอพรหมบุรี โดยได้ทำการสร้างที่ว่าการอำเภอที่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ที่ตั้งโรงเรียนพรหมวิทยาคารในปัจจุบัน) หมู่ที่ 3 ตำบลพรหมบุรี
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2488 นายอนันต์ โพธิพันธ์ นายอำเภอพรหมบุรีได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่เหนือวัดกุฎีทอง หมู่ที่ 3 ตำบลบางน้ำเชี่ยว เนื่องจากที่ตั้งอำเภอเดิมใกล้ตัวเมืองสิงห์บุรี แต่ห่างไกลจากตำบลอื่น ๆ และประกอบกับมีราษฎรในพื้นที่ตำบลบางน้ำเชี่ยวได้บริจาคที่ดินในการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2532 เวลา 08.19-09.30 น.ประกอบด้วยภูมิปาโลแห่งฤกษ์ นายพนม นันทวิสิทธิ์ นายอำเภอพรหมบุรี ผู้ดำเนินการก่อสร้าง นายพิจิตร วงษ์จินดา นายอำเภอพรหมบุรี ผู้ดำเนินการปรับปรุง นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ประธานวางศิลาฤกษ์ ในการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ เนื่องจากอำเภอเดิมมีสภาพทรุดโทรม และคับแคบ โดยได้รับงบประมาณจากกรมการปกครองและมีราษฎรในพื้นที่ร่วมบริจาคในการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ โดยก่อสร้างบริเวณตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอหลังเดิม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ที่ 3 ตำบลบางน้ำเชี่ยว และใช้เป็นที่ว่าการอำเภอจนถึงปัจจุบัน[1]
- วันที่ 26 ธันวาคม 2481 ยุบตำบลไผ่ดำ แล้วโอนท้องที่ที่ยุบไปรวมกับตำบลโรงช้าง และยุบตำบลบ้านพลู แล้วโอนท้องที่ที่ยุบไปรวมกับตำบลพระงาม[2]
- วันที่ 12 มิถุนายน 2482 รวมท้องที่ตำบลบางหมื่นหาญ ตำบลบางประทุน กับตำบลพรหมบุรี และจัดตั้งเป็น ตำบลพรหมบุรี[3]
- วันที่ 25 กันยายน 2488 ย้ายที่ว่าการอำเภอพรหมบุรีเดิม ไปตั้งที่ตำบลบางน้ำเชี่ยว[4] ท้องที่อำเภอเดียวกัน
- วันที่ 6 พฤศจิกายน 2488 โอนพื้นที่หมู่ 1,8,9 และหมู่ 7 บางส่วน (ในขณะนั้น) ของตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี ไปขึ้นกับตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี[5]
- วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลโรงช้าง แยกออกจากตำบลบ้านแป้ง ตั้งตำบลบางน้ำเชี่ยว แยกออกจากตำบลบ้านหม้อ และตำบลบ้านแป้ง ตั้งตำบลวิหารขาว แยกออกจากตำบลโพประจักษ์ ตั้งตำบลหัวป่า แยกออกจากตำบลพรหมบุรี[6]
- วันที่ 3 สิงหาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลบางน้ำเชี่ยว ในท้องที่บางส่วนของตำบลบางน้ำเชี่ยว[7]
- วันที่ 27 ธันวาคม 2503 แยกพื้นที่ตำบลถอนสมอ ตำบลโพประจักษ์ และตำบลวิหารขาว อำเภอพรหมบุรี มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอท่าช้าง[8] ขึ้นการปกครองกับอำเภอพรหมบุรี
- วันที่ 16 กรกฎาคม 2506 ยกฐานะกิ่งอำเภอท่าช้าง อำเภอพรหมบุรี เป็น อำเภอท่าช้าง[9]
- วันที่ 7 มกราคม 2507 จัดตั้งสุขาภิบาลปากบาง ในท้องที่บางส่วนของตำบลพรหมบุรี[10]
- วันที่ 18 มกราคม 2515 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลบางน้ำเชี่ยว[11] ให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางน้ำเชี่ยวทั้งตำบล
- วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลปากบาง[12] ให้ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพรหมบุรีทั้งตำบล
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะสุขาภิบาลบางน้ำเชี่ยว และสุขาภิบาลปากบาง เป็นเทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว และเทศบาลตำบลปากบาง[13] ด้วยผลของกฎหมาย
- วันที่ 15 กันยายน 2547 รวมองค์การบริหารส่วนตำบลหัวป่า กับองค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้าง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และเรียกชื่อว่า องค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้าง[14]
- วันที่ 27 สิงหาคม 2558 เปลี่ยนแปลงชื่อเทศบาลตำบลปากบาง อำเภอพรหมบุรี เป็นเทศบาลตำบลพรหมบุรี[15]
การแบ่งเขตการปกครอง
[แก้]การปกครองส่วนภูมิภาค
[แก้]อำเภอพรหมบุรีแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 7 ตำบล แต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน รวม 42 หมู่บ้าน ได้แก่
ลำดับ | อักษรไทย | อักษรโรมัน | จำนวนประชากร (ธันวาคม 2565)[16] |
---|---|---|---|
1. | พระงาม | Phra Ngam | 3,605
|
2. | พรหมบุรี | Phrom Buri | 3,123
|
3. | บางน้ำเชี่ยว | Bang Nam Chiao | 3,392
|
4. | บ้านหม้อ | Ban Mo | 5,881
|
5. | บ้านแป้ง | Ban Paeng | 2,132
|
6. | หัวป่า | Hua Pa | 1,573
|
7. | โรงช้าง | Rong Chang | 3,123
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
[แก้]ท้องที่อำเภอพรหมบุรีประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลพรหมบุรี [17] ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพรหมบุรีทั้งตำบล
- เทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางน้ำเชี่ยวทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลพระงาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพระงามทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านหม้อทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแป้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแป้งทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลโรงช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโรงช้างและตำบลหัวป่าทั้งตำบล
เศรษฐกิจ
[แก้]- 1. อาชีพหลัก ได้แก่
- 1.1 เกษตรกรรม
- 1.2 รับจ้าง
- 2.อาชีพเสริม ได้แก่
- 2.1 กลุ่มแปรรูปผลิตผลการเกษตร
- 2.2 ทำที่นอน หมอนหนุน หมอนข้าง
- 2.3 ทำขนมหวาน ข้าวหลาม
- 3.จำนวนธนาคาร มี 1 แห่ง ได้แก่
- ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาปากบาง โทร. 0 3659 9076-7
สถานที่สำคัญ
[แก้]สถานที่สำคัญ ๆ ในอำเภอได้แก่
คูค่ายพม่า
[แก้]คูค่ายพม่า ตั้งอยู่บริเวณวัดหลังคู หมู่ที่ 1 บ้านเจดีย์หัก ตำบลบ้านแป้ง ลักษณะเป็นเนินดินยาว รูปร่างคล้ายตัวแอล กว้างประมาณ 5-ไ115 เมตร ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ส่วนหนึ่งของแนวค่ายมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ตัดผ่าน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัฤยกรุงศรีอยุธยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า พม่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2127 เมื่อครั้งพระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพมาที่เมืองชัยนาท และให้กองทัพหน้าลงมาตั้งค่ายที่ปากน้ำบางพุทรา แขวงเมืองพรหม โดยจะมาสมทบกับเจ้าเมืองพะสิมซึ่งยกฤไ-มาทางด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อรวมกำลังกันเข้าตีกรุง7 กองทัพไทยได้ต่อสู้จนกองทัพพม่าที่ปากน้ำบางพุทราต้องถอยร่นไปที่เมืองชัยนา_ท พระเจ้าเชียงใหม่จึงได้โปรดถอยทัพกลับและทิ้งร่องรอยคูค่ายให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับไผักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
วัดกุฏีทอง
[แก้]วัดกุฎีทอง หมู่ที่ 3 ตำบลบางน้ำเชี่ยว ภายในวัดมีมณฑปลักษณะเหมือนเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอด ภายในเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วิถีชีวิต ประเพณีวัฒธรรมชาวไทยพวน ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ชาวไทยพวน เครื่องมือจับปลา เสื้อผ้า เครื่องประดับ ยวดยานพาหนะ ฯลฯ งานประเพณีต่าง ๆ ของชาวไทยพวนจะจัดขึ้นที่วัดกุฎีทองแห่งนี้
วัดอัมพวัน
[แก้]วัดอัมพวัน (จังหวัดสิงห์บุรี)เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก สภาพทั่วไปนั้นมีต้นไม้ประมาณ 300 ต้น เป็นไม้ดอกไม้ใบที่ปลูกใหม่ เดิมสภาพพื้นที่จะเป็นที่ที่น้ำท่วมถึง มาบัดนี้ทางวัดได้ทำถนนและคูกั้นน้ำ จึงสามารถป้องกันน้ำไว้ได้ จึงได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น
หลักฐานการตั้งวัด จากการสำรวจทางราชการประมาณกาลตั้งแต่ พ.ศ. 2175 การสร้างอุโบสถ ผูกพัทธสีมามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ 3 ครั้งที่ 2 นี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2513 กว้าง 40 เมตร ยาว 70 เมตร และได้ผูกพัทธสีมา วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2513
ประวัติความเป็นมาของวัด วัดอัมพวันเป็นชื่อเดิมมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ศิลาจารึกในอุโบสถหลังเก่าจารึกเป็นภาษาจีนว่า คนจีนได้สร้างอุโบสถวัดอัมพวัน สมัยเหม็งเชี้ยว คนจีนได้นำเรือกำปั่นมาทำการค้าขายกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองลพบุรี มากับชาวฮอลันดา จอดหน้าวัดอัมพวัน ได้สร้างโบสถ์วัดอัมพวัน สมัยเจ้าอาวาสวัดอัมพวันชื่อ พระครูญาณสังวร อายุ 99 ปี สร้างโบสถ์เสร็จแล้ว ฝรั่งเพื่อนคนจีนได้ขอพระราชทาน พระหน้าปรกหินทั้งสององค์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้คนจีนเอาไว้ในโบสถ์ จนถึงการสร้างโบสถ์หลังใหม่มาจนถึงทุกวันนี้
อุโบสถหลังเก่าได้ชำรุดและพังลง เมื่อวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ตรงกับวันแรม 7 ค่ำเดือน 3 ปีจอ เวลา 09.45 น. ได้รื้อถอนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 ตรงกับแรม 7 ค่ำ เดือน 12 เวลา 10.00 น. ด้วยแรงชาวบ้านและรถยกของ ป.พัน 101 มาช่วยกันรื้ออุโบสถ เสร็จเรียบร้อยภายใน 4 วัน
เริ่มก่อสร้างอุโบสถ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 วางศิลาฤกษ์ 14-15 มีนาคม พ.ศ. 2512 สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2513 รวมเวลาการก่อสร้าง 1 ปี 4 เดือน 15 วัน ผูกพัทธสีมาวันที่ 8-12 เมษายน พ.ศ. 2513
วัดนี้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ตามลำดับ มาถึง พ.ศ. 2513 กรมการศาสนาได้ยกย่องให้เกียรติเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างมาจนบัดนี้
ปัจจุบันวัดอัมพวันเป็นสำนักปฏิบัติธรรมแห่งที่ ๑ ประจำจังหวัดสิงห์บุรี ที่รู้จักอย่างกว้างขวางในด้านการปฏิบัติธรรมแนวสติปัฏฐาน ๔ (พอง-ยุบ) ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)เป็นผู้นำในการก่อตั้ง มีผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปปฏิบัติตลอดทั้งปีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
เจ้าอาวาสวัดอัมพวันคนปัจจุบัน พระครูปลัดสิทธิวรวัฒน์ ได้รับแต่งตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบันนี้
ประเพณีกำฟ้า
[แก้]ประเพณีกำฟ้าเป็นงานบุญพื้นบ้านของชาวไทยพวนที่หมู่บ้านน้ำเชี่ยวและหมู่บ้านโภคาวิวัฒน์ จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาระลึกถึงเทพยดาผู้รักษาฟากฟ้าและบันดาลฝนตกต้องตามฤดูกาล ถือเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสุกดิบ พิธีกรรมจะกระทำเช่นเดียวกับประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน จังหวัดลพบุรี และจังหวัดอื่น ๆ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ประวัติอำเภอพรหมบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-26. สืบค้นเมื่อ 2020-06-26.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในอำเภอต่าง ๆ จังหวัดสิงห์บุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 55 (0 ง): 3237–3238. 26 ธันวาคม 2481.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตตำบลในจังหวัดสิงห์บุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 56 (0 ง): 649–650. 12 มิถุนายน 2482.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายที่ว่าการอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 62 (53 ง): 1431. 25 กันยายน 2488.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอ จังหวัดสิงห์บุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 62 (65 ง): 1674. 6 พฤศจิกายน 2488.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (26 ง): 1114–1433. 10 มิถุนายน 2490. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-26.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (60 ง): (ฉบับพิเศษ) 16-17. 3 สิงหาคม 2499.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ยกฐานะตำบลขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 77 (108 ง): 2562–2564. 27 ธันวาคม 2503. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-16. สืบค้นเมื่อ 2020-06-26.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอบ่อพลอย อำเภอไทรโยค อำเภอหนองปรือ อำเภอหนองสองห้อง อำเภอประทาย อำเภอห้วยแถลง อำเภอละหานทราย อำเภอกุยบุรี อำเภอตาพระยา อำเภอหนองไผ่ อำเภอนาเชือก อำเภอวัดเพลง อำเภอพนัสนิคม อำเภอภูกระดึง อำเภอปรางค์กู่ อำเภอท่าช้าง อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอบ้านดง อำเภอสว่างอารมณ์ และอำเภอกุดชุม พ.ศ. ๒๕๐๖" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (72 ก): 362–366. 16 กรกฎาคม 2506. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-05-21. สืบค้นเมื่อ 2020-06-26.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลปากบาง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 81 (2 ง): 30–31. 7 มกราคม 2507.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 89 (10 ง): 95–96. 18 มกราคม 2515.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลปากบาง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 89 (30 ง): 404–405. 29 กุมภาพันธ์ 2515.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. 24 กุมภาพันธ์ 2542. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-26.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 121 (102 ง): 17–20. 15 กันยายน 2547. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-23. สืบค้นเมื่อ 2020-06-26.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลปากบาง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นเทศบาลตำบลพรหมบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 132 (ตอนพิเศษ 197 ง): 5. 27 สิงหาคม 2558.
- ↑ "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลปากบาง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็น เทศบาลตำบลพรหมบุรี เล่ม 132 ตอน 197 ง พิเศษ หน้า 5 27 สิงหาคม 2558