มุขโค้งด้านสกัด
มุขโค้งด้านสกัด หรือ มุขตะวันออก (อังกฤษ: Apse หรือ Apsis) คือส่วนที่เป็นโค้งครึ่งวงกลมที่มีหลังคาครึ่งวงกลมหรือครึ่งโดมที่ยื่นออกมาจากสิ่งก่อสร้าง
“มุขโค้งด้านสกัด” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Apse” ที่มาจากภาษาละติน “absis” ที่แปลว่า “โค้ง” หรือ “เพดานโค้ง” ในสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์, สถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ และ สถาปัตยกรรมกอธิคของแอบบี, มหาวิหาร และคริสต์ศาสนสถานอื่นๆ คำนี้หมายถึงมุขครึ่งวงกลมหรือหลายเหลี่ยมที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของสิ่งก่อสร้าง[1]ที่ภายในเป็นที่ตั้งของแท่นบูชาเอก และไม่ว่าหลังคาจะเป็นทรงใด: ราบ, ลาด, โดม หรือครึ่งวงกลม
คำจำกัดความ
[แก้]คำคุณศัพท์ของ “apsidal” อาจจะหมายถึง “มุขครึ่งวงกลม” (exedra) ของสถาปัตยกรรมคลาสสิกซึ่งเป็นองค์ประกอบของบาซิลิกาโรมันซึ่งเป็นลักษณะที่มาของคริสต์ศาสนสถานของคริสเตียนยุคแรก “มุขโค้งด้านสกัด” ของโรมันมักจะเป็นยกพื้นสูงขึ้นมา (เช่นเดียวกับในคริสต์ศาสนสถานที่ยังยกพื้นอยู่) คล้ายเวที (tribuna) ที่อาจจะใช้เป็นที่นั่งตัดสินของผู้พิพากษา มุขที่ยกสูงขึ้นมาเช่นนี้จึงเรียกว่า มุขเวที (tribune) แต่คำนี้มักจะไม่ใช้กันในสถาปัตยกรรมทางศาสนา
มุขโค้งด้านสกัดเป็นมุขโค้งครึ่งวงกลมหรือหลายเหลี่ยมที่ยื่นออกไปเป็นชาเปลกระจายออกไป ที่อาจจะมีหลังคาเป็นครึ่งโดม หรือหลังคาที่เป็นกลีบรับชาเปลที่กระจายออกไป มุขโค้งด้านสกัดอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกำแพงด้านตะวันออกของคริสต์ศาสนสถาน ในสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์มุขตะวันออกออกจะเป็นมุขสามมุขควบที่เห็นได้จากคริสต์ศาสนสถานของตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์
มุขรองอาจจะตั้งอยู่รอบบริเวณร้องเพลงสวดหรือบริเวณแขนกางเขน ลักษณะนี้มักจะพบในสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ตอนปลายและสถาปัตยกรรมออตโตมันที่วิวัฒนาการต่อมา
ภายในมุขโดยเฉพาะเมื่อเป็นทรงครึ่งโดมจะเน้นการเป็นสถานที่สำหรับการตั้งรูปเคารพ ภายใต้เพดานมักจะตกแต่งด้วยงานโมเสก, จิตรกรรม และประติมากรรม
องค์ประกอบที่ตั้งอยู่ภายในมุขตะวันออก
[แก้]ภายในบริเวณมุขด้านตะวันออกอาจจะเป็นที่ตั้งของ:
บริเวณสงฆ์
[แก้]บริเวณสงฆ์ (presbytery หรือ sanctuary) เป็นบริเวณสำหรับนักบวชที่เป็นที่ตั้งของแท่นบูชา ที่มาจากภาษากรีก “presbuteros” ที่แปลว่า “ผู้อาวุโส”
บริเวณร้องเพลงสวด
[แก้]บริเวณร้องเพลงสวดเป็นบริเวณที่มักจะตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของบริเวณพิธี (chancel) ระหว่างช่องทางเดินกลาง และบริเวณศักดิ์สิทธิ์ (sanctuary) (ที่เป็นที่ตั้งแท่นบูชา)
บริเวณพิธี
[แก้]คำว่า “chancel” มาจากภาษาฝรั่งเศสที่แผลงมาจากภาษาละติน “cancelli” ที่เป็นบริเวณรอบแท่นบูชาที่ใช้โดยนักบวช
ชาเปลดาวกระจาย
[แก้]ชาเปลแบบดาวกระจาย เริ่มสร้างกันตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13ในฝรั่งเศส โดยการสร้างเป็นชาเปลที่กระจายออกไปจากมุขด้านตะวันออก โดยเรียกรวมกันในภาษาฝรั่งเศสว่า "Chevet" (แปลว่า "เครื่องประดับหัว") เนื่องจากความซับซ้อนขององค์ประกอบที่เพิ่มเติมไปจากบริเวณมุขตะวันออกอย่างธรรมดา ตัวอย่างสำคัญของคริสต์ศาสนสถานที่มีชาเปลดาวกระจายก็ได้แก่มหาวิหารโนเทรอดามแห่งอาเมียงส์และมหาวิหารโนเทรอดามแห่งแรงส์ ในอังกฤษก็พบที่มหาวิหารนอริชและมหาวิหารแคนเตอร์บรี
คำว่า "Chevet" ในภาษาฝรั่งเศสนั้นหมายถึงบริเวณของมุขทิศตะวันออกโดยรวมๆ ซึ่งรวมถึง บริเวณแท่นบูชาเอก บริเวณร้องเพลงสวด มุขโค้งด้านสกัด จรมุข ชาเปลบริเวณมุขโค้ง โดยถ้าเปรียบเทียบกับไม้กางเขนแล้วจะเป็นบริเวณที่ตั้งของพระเศียรของพระเยซูนั่นเอง
ชาเปลบริเวณมุขโค้ง
[แก้]ชาเปลบริเวณมุขโค้ง (ฝรั่งเศส: Absidiole, อังกฤษ: Apse Chapelle) เป็นชาเปลขนาดเล็กที่ยื่นออกไปจากบริเวณมุขด้านตะวันออก หรือจะยื่นออกจากจรมุขก็ได้ โดยปกติมักจะมีมากกว่า 1 แห่งขึ้นอยู่กับขนาดของบริเวณมุขโค้งด้านสกัด จัดเป็นหนึ่งองค์ประกอบของ "Chevet"
จรมุข
[แก้]จรมุข (ambulatory) หมายถึงช่องทางเดินที่โค้งรอบมุขรอบหลังแท่นบูชาและบริเวณร้องเพลงสวดเพื่อให้ผู้เดินใช้ชาเปลภายในบริเวณนั้นหรือชาเปลดาวกระจายได้ จรมุขอาจจะหมายถึงซุ้มทางเดินภายในระเบียงคดภายในสำนักสงฆ์ หรือทางเดินอื่นรอบๆ คริสต์ศาสนสถานด้วยก็ได้
อ้างอิง
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มุขโค้งด้านสกัด