ข้ามไปเนื้อหา

สถาปัตยกรรมไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้วแสดงหมู่วังสถาปัตยกรรมไทย
เรือนไทยริมน้ำ ในเมืองโบราณ
หอไตร วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร

สถาปัตยกรรมไทย หมายถึงศิลปะการก่อสร้างของไทย อันได้แก่ วัด อาคาร บ้านเรือน โบสถ์ วิหาร วัง สถูป และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ มีลักษณะแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ และคตินิยม สถาปัตยกรรมไทยมีมานานตั้งแต่ที่คนไทยเริ่มตั้งถิ่นฐาน และได้พัฒนาและปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ

รูปแบบ

[แก้]

สามารถจัดหมวดหมู่ ตามลักษณะการใช้งานได้ 2 ประเภท คือ

ตำหนัก และวัง เป็นเรือนที่อยู่ของชนชั้นสูง พระราชวงศ์ หรือ ใช้เรียกที่ประทับชั้นรอง ของพระมหากษัตริย์

  • สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องศาสนา

ได้แก่ โบสถ์, วิหาร, กุฏิ, หอไตร, หอระฆังและหอกลอง, สถูป, เจดีย์

สถาปัตยกรรมไทยสมัยประวัติศาสตร์

[แก้]
พระปรางค์สามยอด สถาปัตยกรรมไทยยุคลพบุรี
พระบรมธาตุไชยา สถาปัตยกรรมยุคศรีวิชัย

ยุคทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 12–16)

[แก้]

จะปรากฏอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย แถบจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี ราชบุรี และ ยังกระจายไปอยู่ทุกภาคประปราย เช่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกและ ใต้ สถาปัตยกรรมแบบทวาราวดีมักก่ออิฐและใช้สอดิน เช่น วัดพระเมรุ และเจดีย์จุลปะโทนวัดพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม บางแห่งมีการใช้ศิลาแลงบ้าง เช่นก่อสร้างบริเวณฐานสถูป การก่อสร้างเจดีย์ในสมัยทวาราวดีทีพบทั้งเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ มียอดแหลมอยู่ด้านบน

ยุคศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13–18)

[แก้]

พบในภาคใต้ ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยไม่ทราบแน่ชัด ในประเทศไทยจะพบร่องรอยการ สร้างสถูปตามเมืองสำคัญ เช่น เมืองครหิ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองตามพรลิงก์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบศรีวิชัย คือการสร้างสถูปทรงมณฑปให้มีฐานและเรือนธาตุรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนยอดเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ส่วนฐานปากระฆังสร้างเป็นชึ้นลดหลั่นกันไป มีเจดีย์ประดับมุมและซุ้มบันแถลงในแต่ละทิศ ตัวอย่างเช่น พระบรมธาตุไชยา จังหวัด สุราษฎร์ธานี

ยุคลพบุรี (ราวพุทธศตวรรษที่ 12–18)

[แก้]

พบบริเวณ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรูปแบบคล้ายศิลปะขอม เช่น เทวาลัย ปราสาท พระปรางค์ ต่างๆ นิยมใช้อิฐ หินทรายและศิลาแลง โดยใช้อิฐและหินทรายสำหรับสร้างเรือนปราสาทและใช้ศิลาแลง สร้างส่วนฐาน ต่อมาก็สร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง สถาปัตยกรรมที่ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่เช่น ปรางค์วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย และ พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี

ยุคเชียงแสน (ราวพุทธศตวรรษที่ 16–23)

[แก้]

พบในภาคเหนือ สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่สร้างเพื่อเป็นศาสนสถาน อาณาจักรเชียงแสนได้รับเอาศิลปวัฒนธรรมมาจากดินแดนแห่งอื่นเข้าผสมผสาน ทั้งศิลปะสุโขทัย ศิลปะทวาราวดี ศิลปะศรีวิชัย ศิลปะพม่า เชียงแสนนั้นเคยเป็นเมืองหลวงของล้านนาต่อเนื่องจากเวียงกุมกาม เชียงแสนที่มีศิลปะหลายอย่างรวมกันนั้นเพราะว่า ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองที่มีศิลปะนั้น ๆ เช่น วัดพระธาตุจอมสวรรค์และวัดล้างหมายเลข 13 นอกเมืองเป็นต้น พบว่าได้มีศิลปะพม่าผสมผสานอยู่ด้วย

สถาปัตยกรรมยุคเชียงแสน เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ทั้งโบสถ์ วิหาร เจดีย์ โดยโบสถ์และวิหารสร้างด้วยไม้ เสาและฝาทำจากไม้ ฝาทำเป็นแบบฝาปะกน หลังคาเป็นหลังคาซ้อนหลายชั้น กระเบื้องมุงหลังคาทำจากกระเบื้องดินเผาและไม้ ไม่นิยมตีฝ้าเพดาน มีทางขึ้นทางด้านด้านหน้า และทางลงทางด้านข้าง

ยุคสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 18–20)

[แก้]
เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดมหาธาตุ (จังหวัดสุโขทัย)

ศิลปะสุโขทัยเริ่มต้นราว พ.ศ. 1780 เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนากรุงสุโขทัย สถาปัตยกรรมจะเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิหินยานเป็นส่วนใหญ่ การวางแผนผังอาคารที่เป็นวัดในสมัยสุโขทัยจะใช้แกนทิศตะวันออก–ตะวันตก เกือบทั้งหมด โดยหันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างที่เป็นหลักจะประกอบด้วยอาคารที่เป็นวิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ มณฑป หรือพระปรางค์ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างใช้อิฐและศิลาแลงเป็นหลัก อาจใช้หินชนวนบ้าง ศิลาแลงที่มีขนาดใหญ่และใช้ก่อส่วนฐานอาคารจะใช้วิธีเรียงทับตามแบบอิทธิพลเขมร โดยไม่มีตัวประสาน ส่วนศิลาแลงขนาดเล็กจะใช้ดินเป็นตัวประสานเช่นเดียวกับอิฐ เมื่อก่อวัสดุเสร็จแล้วจะฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง ปูนที่ใช้ฉาบผนังหรือทำลวดลายประดับประกอบด้วย ปูนขาว ทราย น้ำอ้อย หนังสัตว์เคี่ยวจนเปื่อยเป็นน้ำเหนียว

อาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือ วิหารและอุโบสถ วิหาร นิยมสร้างขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ในแกนหลักของวัด ส่วนโบสถ์เป็นอาคารที่พระสงฆ์ใช้ประกอบกิจจะมีขนาดเล็ก มักจะตั้งอยู่นอกคูน้ำหรือนอกกำแพงวัด มีใบเสมาหินชวนปักคู่ 8 ตำแหน่ง แผนผังอาคารทั้งสองประเภทเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกฐานสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีขนาดตั้งแต่ 4–11 ห้อง (ช่วงเสา) ด้านกว้างหรือด้านสกัดจะมีช่วงเสากลางตามความกว้างของห้องและมีช่วงเสาเล็กที่รับชายคา ฐานและเสาก่อด้วยอิฐหรือศิลาแลง เสาจะมีทั้งแบบกลมและแปดเหลี่ยม โครงสร้างหลังคาใช้ไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบขอเต็มลดหลั่นไล่กันเป็นทอด ๆ มีการทำเครื่องสังคโลกมาประดับส่วนหลังคา ตัวอย่างวิหารยุคนี้ เช่น วิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย[1]

สำหรับสถาปัตยกรรมที่ใช้สักการะในรูปสัญลักษณ์ ได้แก่ เจดีย์ มณฑป และปรางค์ มี 3 รูปแบบ

  • เจดีย์แบบสุโขทัยแท้ หรือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น จากนั้นทำเป็นฐานบัว ถัดขึ้นไปเป็นชั้นแว่นฟ้าย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบซ้อนกัน 2 ชั้น ขึ้นไปเป็นเรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ
  • เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ฐานล่างทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 2–3 ชั้น จากนั้นคือ ฐานบัวหนึ่งชั้นหรือสองชั้น ถัดไปเป็นมาลัยเถาเรียงซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น (อาจเรียกว่า บัวถลา) ถือเป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ทรงกลมแบบสุโขทัย ถัดไปคือ องค์ระฆังซึ่งบริเวณส่วนล่างจะมีบัวปูนปั้นประดับ เรียกกันว่า บัวปากระฆัง องค์ระฆังรองรับส่วนที่เป็นบัลลังก์ เหนือบัลลังก์ขึ้นไปเป็นส่วนแกน แล้วเป็นปล้องไฉนปลียอด จนถึงเม็ดน้ำค้างเป็นที่สุด
  • เจดีย์แบบศรีวิชัย หรือ เจดีย์ทรงปราสาท ฐานทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ ตรงมุมของเรือนธาตุ ประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็กทั้งสี่มุม ต่อจากเรือนธาตุขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆัง แล้วจึงเป็นปลียอด

มณฑป มี 2 แบบ คือ มณฑปที่มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังด้านข้างก่อหนา มีทางเข้าทางเดียว โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนเป็นชั้น ๆ ใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคา แบบที่ 2 คือ มณฑปโถง ตรงกลางจะมีแท่นทึบเพื่อรับส่วนหลังคา และมีพระพุทธรูปประดับผนังทั้งสี่ด้าน

ยุคอู่ทอง (ราวพุทธศตวรรษที่ 17–20)

[แก้]

เป็นศิลปะที่เกิดจากการรวมกันของศิลปะทวาราวดี และอารยธรรมขอม มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานิกายหินยาน เอกลักษณ์เช่น วิหารไม่เจาะหน้าต่าง แต่สร้างเป็นทรงยาว ชั้นหลังคาเตี้ย ลักษณะเจดีย์แบบยุคอู่ทอง คือ ลักษณะฐาน 8 เหลี่ยม เรือนฐาน 8 เหลี่ยม มีซุ้มจรนำรับฐานบัวลูกแก้วและองค์ระฆัง[2] ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมอู่ทองเช่น พระปรางค์องค์ใหญ่ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี

ยุคอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20–23)

[แก้]
วิหารพระมงคลบพิตร อยุธยา

เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมในยุคนี้ คือการออกแบบให้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ ร่ำรวย สถาปัตยกรรมจึงมีขนาดและรูปร่างสูงใหญ่ ตกแต่งด้วยการแกะสลักปิดทอง โบสถ์วิหารในกรุงศรีอยุธยาไม่นิยมสร้างให้มีชายคายื่นออกมาจากหัวเสามากนัก ส่วนใหญ่มีบัวหัวเสาเป็นรูปบัวตูม และนิยมเจาะผนังอาคารให้เป็นลูกกรงเล็กๆแทนช่องหน้าต่าง ลักษณะเด่นของการก่อสร้างโบสถ์วิหารอีกอย่างคือ การปล่อยแสงให้สาดเข้ามาในอาคารมากขึ้น โดยจะออกแบบให้แสงเข้ามาทางด้านหน้าและฉายลงยังพระประธาน

สมัยอยุธยาตอนปลาย รูปแบบสถาปัตยกรรมถือว่าอยู่ในจุดสูงสุด คือเป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ทุกประการ และมีความงดงามอ่อนช้อยตามลักษณะแบบไทยๆ แต่การพัฒนาทางสถาปัตยกรรมต้องหยุดลงหลังกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น ทั้งด้านการปกครอง ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านวัฒนธรรม ฯลฯ

สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์

[แก้]
พระที่นั่งอนันตสมาคม มีรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นยุคทองแห่งศิลปะจีน มีการใช้การก่ออิฐถือปูนและใช้ลวดลายดินเผาเคลือบประดับหน้าบันแทนแบบเดิม

สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น มีการสร้างอาคารต่างชนิดเพื่อรองรับกิจกรรมทางธุรกิจนอกเหนือจากที่อยู่อาศัยและวัดวาอารามในอดีต ได้แก่ โรงงาน โรงสี โรงเลื่อย ห้างร้านและที่พักอาศัยของชาวตะวันตก นอกจากนี้การสร้างอาคารของทางราชการ กระทรวงต่าง ๆ และพระราชวังที่มีรูปแบบตะวันตกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น[3] วัดที่มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกเช่น วัดนิเวศธรรมประวัติ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศิลปะแบบกอธิค

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้แบ่งประเภท ของบ้านเรือนในกรุงเทพตามแบบวัฒนธรรมออกเป็น 3 แบบ คือ [4]

  • แบบเดิม คือ แบบเรือนของผู้มีฐานะ (ระดับ) เดียวกัน เคยทำมาอย่างไรก็ทำมาอย่างนั้น มิได้คิดเปลี่ยนแปลงยกตัวอย่างเช่น วังเจ้าบ้านนายขุน
  • แบบผสม คือ เอาอาคารแบบตะวันตกหรืออาคารแบบจีนมาสร้างแทรกเข้าบ้าง เข้าใจว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 และต่อมาจนต้นรัชกาลที่ 5 ดังตัวอย่างที่มีเก๋ง และ การแก้ไขตำหนักที่วังท่าพระ เป็นต้น
  • เปลี่ยนเป็นอย่างใหม่ คือ เลิกสร้างเรือนแบบไทยเดิม อาคารแบบตะวันตก และอาคารแบบจีน คิดทำเป็นอาคารแบบตะวันตกทีเดียว เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

อย่างไรก็ตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นก็คงเอกลักษณ์ไทยเอาไว้บ้าง เช่นการนำหน้าตาสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใส่ด้านหน้าของตึก ไม่ว่าจะเป็น ลายฉลุไม้ หลังคาทรงจั่ว

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติความเป็นมาของเมืองสุโขทัย". กระทรวงวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)[ลิงก์เสีย]
  2. "ศิลปะสมัยอู่ทอง พุทธศตวรรษที่ 17 -20". หน้าจั่ว. p. 70. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "วิวัฒนาการและรูปแบบการประกอบอาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทย". วารสารสภาสถาปนิก ฉบับเดือนธันวาคม 2552 หน้า 23-27
  4. บ้านในกรุงเทพ:รูปแบบการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี, ผุสดี ทิพทัส, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]