สุนัขต่อต้านรถถัง
สุนัขต่อต้านรถถัง (รัสเซีย: собаки-истребители танков sobaki-istrebiteli tankov หรือ противотанковые собаки protivotankovye sobaki; เยอรมัน: Panzerabwehrhunde หรือ Hundeminen, "สุนัขระเบิด") เป็นสุนัขที่ถูกฝึกให้บรรทุกวัตถุระเบิดไปยังรถถัง ยานพาหนะหุ้มเกราะ และเป้าหมายทางการทหารอื่น ๆ สุนัขเหล่านี้ถูกฝึกอย่างเข้มข้นโดยกองทัพโซเวียตและกองทัพสหพันธรัฐรัสเซียระหว่างปี ค.ศ. 1930 ถึง ค.ศ. 1946 และถูกใช้ระหว่างปี ค.ศ. 1941 ถึง ค.ศ. 1943 กับรถถังของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนแรก สุนัขถูกฝึกให้วางระเบิดที่มีตัวตั้งเวลาแล้ววิ่งกลับ
พื้นหลัง
[แก้]ในปี ค.ศ. 1924 สภาทหารปฏิวัติของสหภาพโซเวียตได้อนุมัติการใช้สุนัขเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร ซึ่งครอบคลุมภารกิจหลากหลาย เช่น การกู้ภัย การส่งมอบความช่วยเหลือทางการแพทย์ การสื่อสาร การค้นหาทุ่นระเบิดและบุคคล ช่วยในการต่อสู้ ลำเลียงอาหาร ยา และทหารบาดเจ็บบนเลื่อน รวมถึงการทำลายเป้าหมายของศัตรู[1] แนวคิดในการใช้สุนัขเป็นทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ได้รับการพัฒนาในช่วงทศวรรษ 1930 พร้อมกับการออกแบบทุ่นระเบิดที่ติดตั้งกับสุนัข และโรงเรียนฝึกสุนัขเฉพาะทางได้ก่อตั้งขึ้นในมอสโก โอบลาสต์ หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเปิดโรงเรียนระดับภูมิภาคอีก 12 แห่ง โดยในจำนวนนั้น 3 แห่งได้ฝึกสุนัขต่อต้านรถถัง[2][3]
การฝึก
[แก้]ในช่วงทศวรรษ 1930 กองทัพแดงยังไม่มีผู้ฝึกสุนัขเฉพาะทาง จึงต้องอาศัยการฝึกจากนักล่าสัตว์ ตำรวจ และแม้กระทั่งผู้ฝึกสัตว์ในคณะละครสัตว์ นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์สัตว์ชั้นนำหลายคนยังเข้าร่วมเพื่อช่วยจัดโครงการฝึกสุนัขขนาดใหญ่[4] สุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดเป็นที่นิยมสำหรับโครงการนี้ เนื่องจากมีสมรรถภาพทางกายที่ดีและฝึกง่าย แต่ก็มีการใช้พันธุ์อื่นด้วย ในปี ค.ศ. 1935 หน่วยสุนัขต่อต้านรถถังได้ถูกรวมเข้ากับกองทัพแดงอย่างเป็นทางการ
แนวคิดดั้งเดิมคือให้สุนัขแบกระเบิดที่ติดไว้กับตัวไปยังเป้าหมายที่กำหนด และเมื่อถึงเป้าหมาย สุนัขจะดึงสายปลดระเบิดด้วยฟันและกลับมาหาผู้ควบคุม ระเบิดนั้นจะถูกจุดชนวนด้วยตัวจับเวลา หรือการควบคุมระยะไกล ซึ่งอย่างหลังนั้นหายากและมีราคาแพงเกินกว่าจะนำมาใช้ในขณะนั้น หลังจากการฝึก 6 เดือน รายงานแสดงว่าสุนัขไม่สามารถทำภารกิจนี้ได้สำเร็จ แม้จะทำงานได้ดีในเป้าหมายเดียว แต่เมื่อเปลี่ยนเป้าหมายหรือตำแหน่ง สุนัขจะสับสนและมักกลับมาหาผู้ควบคุมพร้อมระเบิด ซึ่งหากเป็นสถานการณ์จริงจะทำให้ทั้งสุนัขและผู้ควบคุมเสียชีวิต[5]
ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การปรับปรุงแผนการใหม่ โดยระเบิดจะถูกติดไว้กับสุนัขและจุดระเบิดเมื่อสัมผัสกับเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้สุนัขเสียชีวิต แทนที่จะให้สุนัขหาตำแหน่งเป้าหมายเฉพาะ งานนี้จึงถูกลดความซับซ้อนลงให้สุนัขค้นหารถถังของศัตรูใดก็ได้ สุนัขจะถูกฝึกโดยการทำให้หิว และวางอาหารไว้ใต้รถถัง ในระยะแรก รถถังจะจอดนิ่ง จากนั้นจึงเปิดเครื่องยนต์ และฝึกโดยการยิงกระสุนเปล่าและสร้างสิ่งรบกวนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสนามรบ เพื่อสอนให้สุนัขวิ่งไปใต้รถถังในสถานการณ์จริง[6]
สุนัขแต่ละตัวจะติดตั้งทุ่นระเบิดน้ำหนัก 10–12-กิโลกรัม (22–26-ปอนด์) ในถุงผ้าสองใบที่ปรับแต่งให้พอดีกับตัวสุนัข ระเบิดมีสลักนิรภัยซึ่งถูกถอดออกก่อนการส่งสุนัขเข้าสู่สนามรบ ทุ่นระเบิดไม่มีสัญลักษณ์และไม่ควรปลดได้ คันโยกไม้จะยื่นออกมาจากถุงประมาณ 20 เซนติเมตร (7.9 นิ้ว) เมื่อสุนัขมุดเข้าไปใต้รถถัง คันโยกจะชนกับใต้ท้องรถถังและจุดชนวนระเบิด เนื่องจากใต้ท้องของแชสซีเป็นส่วนที่อ่อนแอที่สุดของยานพาหนะเหล่านี้ การระเบิดจึงถูกคาดหวังว่าจะทำให้รถถังเสียหายได้[7][8]
การใช้งานโดยสหภาพโซเวียต
[แก้]การใช้สุนัขต่อต้านรถถังถูกเพิ่มขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1941 และ ค.ศ. 1942 เมื่อกองทัพแดงพยายามอย่างเต็มที่ในการหยุดยั้งการบุกของเยอรมันที่แนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลานี้ โรงเรียนฝึกสุนัขเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่การผลิตสุนัขต่อต้านรถถัง โดยประมาณ 40,000 ตัวถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ในกองทัพแดง[9]
กลุ่มสุนัขต่อต้านรถถังกลุ่มแรกถูกส่งไปยังแนวหน้าในช่วงปลายฤดูร้อนปี ค.ศ. 1941 โดยมีสุนัข 30 ตัวและผู้ฝึก 40 คน อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการครั้งแรกเผยให้เห็นปัญหาที่รุนแรงหลายประการ สุนัขถูกฝึกกับรถถังที่จอดนิ่งและไม่ยิงปืนเพื่อประหยัดเชื้อเพลิงและกระสุน เมื่ออยู่ในสนามรบจริง สุนัขปฏิเสธที่จะมุดไปใต้รถถังที่เคลื่อนที่ แม้ว่าสุนัขบางตัวจะวิ่งใกล้รถถังเพื่อรอให้รถหยุด แต่ก็ถูกยิงตายในระหว่างทาง เสียงปืนจากรถถังทำให้สุนัขจำนวนมากตกใจและวิ่งกลับไปยังสนามเพลาะของโซเวียต และบ่อยครั้งระเบิดจะถูกจุดชนวนเมื่อตกลงไปในสนามเพลาะ ส่งผลให้ทหารโซเวียตเสียชีวิต เพื่อป้องกันเหตุการณ์นี้ สุนัขที่วิ่งกลับมาจึงต้องถูกยิง ซึ่งมักทำโดยผู้ควบคุม สิ่งนี้ทำให้ผู้ฝึกไม่เต็มใจที่จะฝึกสุนัขใหม่อีก บางคนกล่าวว่ากองทัพไม่ได้หยุดแค่การสังเวยชีวิตผู้คนในสงคราม แต่ยังส่งสุนัขไปตายด้วย ผู้ที่วิจารณ์โปรแกรมนี้อย่างเปิดเผยมักถูกข่มเหงโดย "หน่วยงานพิเศษ" (หน่วยข่าวกรองทางทหาร)[5] จากสุนัขกลุ่มแรกจำนวน 30 ตัว มีเพียง 4 ตัวที่สามารถจุดชนวนระเบิดใกล้รถถังของเยอรมัน ส่วนอีก 6 ตัวระเบิดขณะกลับมาที่สนามเพลาะของโซเวียต ส่งผลให้ทหารบาดเจ็บและเสียชีวิต[5] สุนัขอีก 3 ตัวถูกยิงโดยทหารเยอรมันและถูกยึดไปโดยที่โซเวียตไม่พยายามจะยับยั้ง ทำให้กลไกการจุดชนวนของสุนัขต่อต้านรถถังถูกเปิดเผยต่อชาวเยอรมัน ภายหลังเจ้าหน้าที่เยอรมันที่ถูกจับได้รายงานว่าพวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบสุนัขต่อต้านรถถังจากสัตว์ที่ตายแล้ว และพิจารณาว่าโปรแกรมนี้เป็นความพยายามที่สิ้นหวังและไม่มีประสิทธิภาพ การโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันใช้โอกาสนี้ในการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพแดง โดยกล่าวว่าทหารโซเวียตปฏิเสธที่จะต่อสู้และส่งสุนัขไปแทน[5]
ข้อผิดพลาดในการฝึกที่สำคัญอีกประการหนึ่งถูกเปิดเผยในภายหลัง คือโซเวียตใช้รถถังเครื่องยนต์ดีเซลของตนเองในการฝึกสุนัข แทนที่จะใช้รถถังเยอรมันที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน[8] เนื่องจากสุนัขพึ่งพาประสาทการดมกลิ่นเป็นหลัก จึงมักจะค้นหารถถังของโซเวียตที่มีกลิ่นคุ้นเคยแทนที่จะค้นหารถถังเยอรมันที่มีกลิ่นแปลกประหลาด[10]
ประสิทธิภาพของการใช้สุนัขต่อต้านรถถังในสงครามโลกครั้งที่สองยังคงไม่แน่ชัด แหล่งข้อมูลโซเวียตอ้างว่ารถถังเยอรมันประมาณ 300 คันได้รับความเสียหายจากสุนัขต่อต้านรถถังของโซเวียต[3] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซียหลายคนมองว่าข้อมูลนี้เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อที่ใช้เพื่อแก้ต่างให้กับโปรแกรมฝึกสุนัขต่อต้านรถถัง[5] อย่างไรก็ตาม ยังมีการบันทึกถึงความสำเร็จบางอย่างของโปรแกรมนี้ โดยจำนวนรถถังที่ได้รับความเสียหายมักอยู่ในหลักสิบ[3][9] ตัวอย่างเช่น ที่แนวหน้าของกองพลทหารราบที่ 160 ใกล้Hlukhiv สุนัข 6 ตัวทำให้รถถังเยอรมันเสียหาย 5 คัน; ใกล้สนามบินของยุทธการที่สตาลินกราด สุนัขต่อต้านรถถังทำลายรถถัง 13 คัน; และในการยุทธการที่คูร์สค์ สุนัข 16 ตัวสามารถทำลายรถถังเยอรมัน 12 คันที่บุกผ่านแนวป้องกันของโซเวียตใกล้เมือง Tamarovka, Bykovo[8][11]
กองทัพเยอรมันรู้ถึงการใช้สุนัขต่อต้านรถถังของโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 และได้ใช้มาตรการป้องกัน โดยปืนกลที่ติดอยู่ด้านบนของยานพาหนะหุ้มเกราะไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสุนัขมีขนาดเล็กเกินไปและอยู่ใกล้พื้นมากเกินไป อีกทั้งสุนัขยังเคลื่อนไหวได้รวดเร็วและยากต่อการตรวจจับ ทำให้ทหารเยอรมันทุกคนได้รับคำสั่งให้ยิงสุนัขทุกตัวที่อยู่ในพื้นที่ต่อสู้[8][10]
หลังจากปี ค.ศ. 1942 การใช้สุนัขต่อต้านรถถังของกองทัพแดงลดลงอย่างรวดเร็ว และโรงเรียนฝึกอบรมได้เปลี่ยนมาผลิตสุนัขค้นหาและส่งทุ่นระเบิดซึ่งมีความจำเป็นมากกว่า อย่างไรก็ตาม การฝึกสุนัขต่อต้านรถถังยังคงดำเนินต่อไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1996[12]
การใช้งานในประเทศอื่น
[แก้]กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้รับสุนัขประมาณ 25,000 ตัวจากพันธมิตรเยอรมนี และได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกสุนัขหลายแห่งในญี่ปุ่น รวมถึงหนึ่งแห่งในจีนที่หนานจิง ในปี ค.ศ. 1943 กองทัพสหรัฐฯ ได้พิจารณาใช้งานสุนัขติดอาวุธกับป้อมปราการ โดยวางแผนให้สุนัขวิ่งเข้าไปในบังเกอร์พร้อมกับระเบิด ซึ่งจะระเบิดด้วยการตั้งเวลา สุนัขในโครงการลับนี้ได้รับการฝึกที่ฟอร์ตเบลวัวร์ โดยถูกเรียกว่า "หมาป่าทำลายล้าง" สุนัขถูกฝึกให้วิ่งเข้าไปในบังเกอร์ นั่งรอ และรอให้เกิดการระเบิดจำลอง สุนัขแต่ละตัวจะมีระเบิดติดอยู่ในกระเป๋าผ้าคล้ายกับวิธีของรัสเซีย แต่โครงการนี้ถูกยุติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1943 เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย ในระหว่างการฝึก สุนัขมักจะกลับมาหาผู้ส่งโดยไม่เข้าไปในบังเกอร์หรือไม่รออยู่ในนั้นตามเวลาที่กำหนด ซึ่งในสถานการณ์การยิงจริงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อพวกเดียวกัน ความพยายามในการดำเนินโครงการต่อในปี ค.ศ. 1944 และ ค.ศ. 1945 ก็ล้มเหลวเช่นกัน[13]
ในปี ค.ศ. 2005 กลุ่มกบฏพยายามใช้สุนัขติดระเบิดในสงครามอิรัก แต่การระเบิดสุนัขครั้งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย[14]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Aneculaesei, Calin (2020-09-12). "The Soviet Anti-Tank Dog". History of Yesterday (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 September 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-09-14.
- ↑ Раздавлена при падении “железного занавеса” (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 8 August 2009.[ลิงก์เสีย] Mirror Раздавлена при падении “железного занавеса” เก็บถาวร 11 ธันวาคม 2013 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Донецкий кряж, № 2352 (24 November 2006)
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "Из истории военного собаководства (History of military dog training)" (ภาษารัสเซีย). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 August 2009. สืบค้นเมื่อ 8 August 2009.
- ↑ The Exploding Anti-Tank Dogs of World War II (ภาษาอังกฤษ), 2 September 2015, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 March 2022, สืบค้นเมื่อ 2022-03-02
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 Противотанковая собака (ภาษารัสเซีย). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 September 2011. สืบค้นเมื่อ 8 August 2009.
- ↑ "Soviet-Empire.com - The Soviet Anti-Tank Dog Mine". www.soviet-empire.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 July 2019. สืบค้นเมื่อ 2022-03-02.
- ↑ "General Specifications". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 October 2007.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 Zaloga, Steve (1989). The Red Army of the Great Patriotic War, 1941–45. Oxford, United Kingdom: Osprey Publishing. p. 43. ISBN 978-0-85045-939-5.
- ↑ 9.0 9.1 "Our Allies...The Soviet Union and Their Use Of War Dogs". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 September 2012. สืบค้นเมื่อ 8 August 2009.
- ↑ 10.0 10.1 Bishop, Chris (2002). The Encyclopedia of Weapons of World War II: The Comprehensive Guide to Over 1,500 Weapons Systems, Including Tanks, Small Arms, Warplanes, Artillery, Ships and Submarines. New York City: Sterling Publishing Company, Inc. p. 205. ISBN 978-1-58663-762-0.
- ↑ Biryukov G. F.; Melnikov G. W. (1967). Борьба с танками (ภาษารัสเซีย). М.: Воениздат. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 September 2010.
{{cite book}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Zaloga, Steven J.; Jim Kinnear; Andrey Aksenov & Aleksandr Koshchavtsev (1997). Soviet Tanks in Combat 1941–45: The T-28, T-34, T-34-85, and T-44 Medium Tanks. Hong Kong: Concord Publication. p. 72. ISBN 962-361-615-5.
- ↑ Lemish, Michael G. (1999). War Dogs: A History of Loyalty and Heroism. Brassey's. pp. 89–91. ISBN 1-57488-216-3.
- ↑ "Terrorists tie bomb belt to dog in Iraq". 26 May 2005. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 October 2020. สืบค้นเมื่อ 15 March 2019 – โดยทาง www.telegraph.co.uk.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Museum-Style Anti-Tank Dog Exhibit Photographs
- Pile, Stephen (1979). The Book of Heroic Failures: Official Handbook of the Not Terribly Good Club of Great Britain. Futura. ISBN 0708819087.
- Собаки – истребители танков (Russian) Webarchive copy