ข้ามไปเนื้อหา

กาจ กาจสงคราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กาจ กาจสงคราม
เกิด12 เมษายน พ.ศ. 2433
นครลำพูน ประเทศสยาม
เสียชีวิต27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 (76 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
อาชีพทหารบก
มีชื่อเสียงจากกบฏบวรเดช
คู่สมรสคุณหญิงฟองสมุทร เก่งระดมยิง
ประดับ กาจสงคราม
บุตร11 คน

พลโท กาจ กาจสงคราม (12 เมษายน พ.ศ. 2433 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510) มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงกาจสงคราม เป็นสมาชิกคณะราษฎร สมาชิกขบวนการเสรีไทย อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 ของกองทัพบกไทย ช่วงปี พ.ศ. 2491 - 2492[1] และอดีตอธิบดีกรมศุลกากร พ.ศ. 2481 - 2485[2]

ประวัติ

[แก้]

กาจ กาจสงคราม เกิดที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2433 มีชื่อเดิมว่า เทียน เก่งระดมยิง จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเข้ารับราชการทหารที่เชียงใหม่และที่พระนคร ได้ร่วมกับหลวงพิบูลสงคราม (จอมพลแปลก พิบูลสงคราม) เข้าร่วมคณะราษฎรฝ่ายทหาร ก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย[3] ภายหลังการปฏิวัติ หลวงกาจสงครามได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้บังคับการกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 2 ในพระนคร[4]

ยศ

[แก้]
  • 23 มีนาคม 2459 – นายร้อยตรี[5]

งานการเมือง

[แก้]

ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช เดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 หลวงกาจสงคราม ได้นำกำลังทหารฝ่ายรัฐบาล ขึ้นรถจักรดีเซลที่สถานีรถไฟบางซื่อ เพื่อเดินทางไปกวาดล้างทหารกบฏของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ที่จังหวัดนครราชสีมา ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชได้ใช้รถจักรฮาโนแม็ก เบอร์ 277 หรือที่เรียกว่า “รถตอปิโดบก” พุ่งชนรถไฟของกองทัพรัฐบาล ทำให้ทหารฝ่ายรัฐบาลบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก และทำให้หลวงกาจสงครามได้รับบาดเจ็บจนใบหูแหว่ง จากเหตุการณ์ครั้งนี้[6] รัฐบาลได้ปูนบำเหน็จและย้ายให้ไปควบคุม กรมอากาศยาน (กองทัพอากาศ) และหลังจากนั้นหลวงกาจสงครามได้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาธิการกรมอากาศยานหรือเสนาธิการทหารอากาศคนแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2477 ขณะมียศเป็น พันตรี [7] หลังจากกนั้นไม่นานก็ได้รับพระราชทานยศ พันโท [8] จากนั้นจึงได้รับพระราชทานยศ พันเอก ฝ่ายทหารอากาศ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2479[9] ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม ปีเดียวกัน ท่านจึงได้รับพระราชทานยศ นาวาอากาศเอก [10] กระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรอีกตำแหน่งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2481[11] กระทั่งพ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2485 โดยมีนาย จรูญ สืบแสง อีกหนึ่งในสมาชิก คณะราษฎร มาดำรงตำแหน่งแทน[12]

ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง หลวงกาจสงครามเป็น คนหนึ่งในคณะเสรีไทยโดยร่วมมือกับนายปรีดี พนมยงค์ ในการตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น โดยยอมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 เป็นตัวแทนเสรีไทยเดินทางไปประเทศจีน และเมื่อสงครามยุติแล้วหลวงกาจสงครามก็ร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งพรรคสหชีพ ซึ่งเป็นพรรคที่ก้าวหน้าที่มีนโยบายเป็นประชาธิปไตยของฝ่ายพลเรือนในขณะนั้น[13]

ในเวลาต่อมาเมื่อรัฐบาลจะยกเลิกบรรดาศักดิ์ไทย หลวงกาจสงครามในฐานะรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 จึงลาออกจากบรรดาศักดิ์ ได้รับพระบรมราชานุญาตและคงใช้ชื่อเดิมว่าเฑียร เก่งระดมยิง ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484[14] ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกาจ และวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2491 จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล[15]

ภายหลังจากเกิดกรณีการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พลโทกาจได้โจมตีนายปรีดี พนมยงค์ ว่ามีแผนการจัดตั้ง "มหาชนรัฐ" ที่มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยเป็น "สาธารณรัฐ" จนเป็นที่โจษจันไปทั่ว และเกิดการจับกุมผู้ต้องสงสัยหลายรายซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มของนายปรีดี หลวงกาจสงครามอ้างเรื่องแผนมหาชนรัฐว่าจะก่อให้เกิดการวินาศกรรมครั้งใหญ่ จึงได้ตัดสินใจรัฐประหารเสียก่อน[16] เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 พ.อ. กาจ กาจสงคราม เป็นรองหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งประกอบด้วยนายทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ พ.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ. ถนอม กิตติขจร พ.ท. ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ. สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ [17] และตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงกาจสงครามมีส่วนอย่างสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 และเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่ม จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับ “ใต้ตุ่ม” หรือ “ตุ่มแดง”[18] และหลวงกาจสงคราม ได้รับฉายาจากการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “นายพลตุ่มแดง”[19] แต่ได้มีการแย้งในภายหลังว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกร่างโดย เสนีย์ ปราโมชในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2491 พันเอกกาจได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็น พลโท [20]

หลังจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2491 นายควง อภัยวงศ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่หลังจากการบริหารประเทศเพียงไม่นาน เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 พลโท หลวงกาจสงคราม พร้อมทหารสี่นาย ได้บุกเข้าพบนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และบีบบังคับให้นายควงลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายควงก็ลาออกแต่โดยดี การรัฐประหารครั้งนี้เรียกว่า “รัฐประหารเงียบ” เนื่องจากไม่มีการใช้กำลังทหาร และเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด[21] และตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ครอบครัว

[แก้]

พลโท กาจ สมรสครั้งแรกกับคุณหญิงฟองสมุทร เก่งระดมยิง มีบุตร-ธิดา 7 คน รวมทั้ง ท่านผู้หญิงสายหยุด ดิฐการภักดี (สายหยุด บุณยรัตพันธุ์), หม่อมวิภา จักรพันธุ์ ณ อยุธยา (หม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ)[22] และ พันเอก (พิเศษ) การุณ เก่งระดมยิง หลังจากนั้นได้สมรสกับนางประดับ กาจสงคราม[23] มีบุตร-ธิดา 4 คน รวมทั้ง นายชัยพฤณท์ กาจสงคราม[24]

ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2493 พลโท หลวงกาจสงคราม พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกรวมถึงออกจากประจำการ[25]เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าจะก่อการกบฏล้มล้างรัฐบาล โดยถูกจับขังคุก และในเช้าวันรุ่งขึ้น ได้ถูกเนรเทศไปที่ฮ่องกงทันที จนกระทั่งหลัง พ.ศ. 2500 ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว จึงได้เดินทางกลับมาพำนักยังประเทศไทย[26]

ถึงแก่อนิจกรรม

[แก้]

พลโท กาจ กาจสงคราม ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 สิริอายุ 76 ปี ได้รับพระราชทานเพลิงศพจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2510[27]

ผลงานหนังสือ

[แก้]
  • หนังสือเล่มมีดังนี้[28]
  1. ข้อปรารถนาของประเทศชาติ, พระนคร : โรงพิมพ์วัฐภักดี, 2492, เลขเรียกหนังสือ: 172 ก414ข
  2. กำลังและอำนาจของประเทศชาติ, พระนคร : โรงพิมพ์รัฐภักดี, 2492, เลขเรียกหนังสือ: 355 ก414ก
  3. ภาวะคับขันแห่งมหาสงครามอาเซียบูรพา 2484, พระนคร : โรงพิมพ์รัฐภักดี, 2492, เลขเรียกหนังสือ: 940.3 ก414ภ
  4. เรื่องของวันชาติ 2492 , พระนคร : โรงพิมพ์รัฐภักดี, 2492, เลขเรียกหนังสือ: 172 ก414ร
  5. สารคดีลึกลับ เรื่องสถานะการณ์ของผู้ลืมตัว , พระนคร : โรงพิมพ์บริษัทรัฐภักดี, 2492, เลขเรียกหนังสือ: 320.9593 ก421ส
  6. ปาฐกถาโฆษณา เรื่องเกี่ยวกับการทหาร, พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ์, 2480, เลขเรียกหนังสือ: 895.915 ก415ปข
  7. ข้อสังเกตบางประการในคราวเดินทางไปราชการรอบโลก พ.ศ. 2479 เล่ม 1 ว่าด้วยเรื่องอะไรที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นก้าวหน้า ,พระนคร : โรงพิมพ์กรมรถไฟ, 2484,เลขเรียกหนังสือ: 915.2 ก415ห
  8. ข้อสังเกตบางประการในคราวเดินทางไปราชการรอบโลก พ.ศ. 2479 เล่ม 2 ว่าด้วยสหรัฐอเมริกา, พระนคร : บริษัทรัฐภักดี, 2490, เลขเรียกหนังสือ: 917.3 ก414ข
  9. ความรู้ทั่วไปในการทหาร โดย สรวุฒิสมรรถ, หลวง, สินธุสงครามชัย, หลวง, กาจสงคราม, หลวง, พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์ 2478, เลขเรียกหนังสือ: 355 ส341ค

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ขบวนการเสรีไทย[ลิงก์เสีย]
  2. "อธิบดีกรมศุลกากร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-25. สืบค้นเมื่อ 2010-01-01.
  3. "เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-12. สืบค้นเมื่อ 2008-01-02.
  4. ภายหลังปฏิวัติ
  5. พระราชทานยศนายทหารบก
  6. กบฎบวรเดช
  7. แจ้งความเลื่อนย้ายนายทหาร (หน้า ๑๑๒)
  8. ประกาศ พระราชทานยศทหารบก (หน้า ๓๗๘)
  9. ประกาศ พระราชทานยศทหาร (หน้า ๓๖๓)
  10. ประกาศ เรื่อง พระราชทานยศทหารอากาศ
  11. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งที่ปรึกษากระทรวงการคลังฝ่ายไทยและอธิบดีกรมศุลกากร
  12. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิบดีกรมศุลกากร
  13. สงครามโลกครั้งที่สอง[ลิงก์เสีย]
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ เก็บถาวร 2014-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  15. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 65 (5 ง): 343. 27 มกราคม พ.ศ. 2491. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2561. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  16. หนังสือพิมพ์เสรีภาพ 18 พฤศจิกายน 2490 อ้างในสุธาชัย ยิ้มเจริญ หน้า 114,แผนชิงชาติไทย
  17. "รัฐประหาร 2490". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-05. สืบค้นเมื่อ 2008-01-02.
  18. "รัฐธรรมนูญ 2490". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-05. สืบค้นเมื่อ 2008-01-02.
  19. นายพลตุ่ม[ลิงก์เสีย]
  20. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร
  21. รัฐประหารเงียบ[ลิงก์เสีย]
  22. พีระเดช อนุพงษ์ จักรพันธุ์, ม.ร.ว.. ๑๕๐ ปี สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์. กรุงเทพฯ : กระทรวงการคลัง, 2548. 278 หน้า.
  23. คู่สมรส[ลิงก์เสีย]
  24. ชีวิตครอบครัว[ลิงก์เสีย]
  25. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารออกจากประจำการ
  26. หนังสืออนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ พลโท กาจ กาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) ปช.,ปม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๐
  27. "สิ้นอายุขัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-17. สืบค้นเมื่อ 2010-01-07.
  28. หอสมุดแห่งชาติ [ลิงก์เสีย]
  29. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๕ ตอนที่ ๗๑ ง หน้า ๓๙๗๗, ๗ ธันวาคม ๒๔๙๑
  30. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2012-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๔๓, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๔
  31. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ ส่งเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ ไปพระราชทาน เก็บถาวร 2018-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๓๙, ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๗
  32. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๐๘๙, ๓๐ กันยายน ๒๔๗๗
  33. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๔๘, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔
  34. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๓ ง หน้า ๒๕๘๙, ๑๗ สิงหาคม ๒๔๘๖
  35. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๓๙๘, ๑๙ ธันวาคม ๒๔๖๙
  36. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๐๘, ๒๓ มกราคม ๒๔๘๑
  37. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ (หน้า 3429)