อาคารขุนอำไพพาณิชย์
อาคารขุนอำไพพาณิชย์ | |
---|---|
ประเภท | โบราณสถานที่กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ |
ที่ตั้ง | ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ถนนอุบล ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 33000 |
พื้นที่ | 2 งาน 26 ตารางวา |
เปิดตัว | พ.ศ. 2468 |
ผู้ดำเนินการ | ตระกูลนาคสีหราช |
สถานะ | ทุกวัน |
อาคารขุนอำไพพาณิชย์ หรือที่ชาวเมืองศรีสะเกษเรียกกันทั่วไปว่า ตึกขุนอำไพ ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าเทศบาลเมืองศรีสะเกษ บนถนนอุบล (ฝั่งขาออกไปยังจังหวัดอุบลราชธานี) ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ห่างจากศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษไปทางตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร
เป็นบ้านที่พักอาศัยเก่าของขุนอำไพพาณิชย์ (ทองอินทร์ นาคสีหราช) คหบดีชาวศรีสะเกษ ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2468 ได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ไว้โดยทายาทขุนอำไพพาณิชย์ร่วมกับกรมศิลปากร จึงได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเขตเมือง ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2530 เนื่องจากมีความโดดเด่นทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ความเป็นมา [1] ต่อมา ใน พ.ศ. 2538 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 65ง [2] [3]
ประวัติศาสตร์
[แก้]อาคารขุนอำไพพาณิชย์ เดิมเป็นบ้านเก่าของขุนอำไพพาณิชย์ กับนางอำไพพาณิชย์ ภริยา ซึ่งเป็นคหบดีรุ่นเก่าชาวศรีสะเกษ ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2468 โดยช่างชาวเวียดนาม (ญวน) และจีน อาคารได้รับอิทธิพลของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบญวนผสมจีน
ขุนอำไพพาณิชย์เป็นคหบดีในพื้นที่ ประกอบธุรกิจค้าขายมีความมั่งคั่ง และสร้างอาคารขุนอำไพพาณิชย์ขึ้นบริเวณย่านตลาดใน (ย่านตลาดเก่า) ซึ่งเป็นย่านธุรกิจศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้ายุคแรก ๆ ของเมืองศรีสะเกษ
หลังการเสียชีวิตของขุนอำไพพาณิชย์และภริยา ผู้สืบทอดสกุลนาคสีหราชคือนายหงษ์ทอง นาคสีหราช อาคารหลังนี้ได้รับการตกทอดเป็นมรดกให้กับนางเฉลา ช.วรุณชัย บุตรบุญธรรม ซึ่งเดิมเป็นหลานแต่นำมาชุบเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเนื่องจากขุนอำไพพาณิชย์ไม่มีบุตร หลังจากนั้นอาคารขุนอำไพพาณิชย์ก็ได้ตกทอดมายังทายาทตระกูลนาคสีหราชอีกหลายรุ่น จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการอนุรักษ์อาคารมรดกที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นและส่งมอบมาให้ไว้เป็นอย่างดี จนกระทั่งองค์กรต่าง ๆ และหน่วยงานราชการได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์ตามลำดับ เนื่องจากเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญ ความโดดเด่นด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของอาคารดังกล่าว [4]
ลักษณะเด่น
[แก้]สถาปัตยกรรมและองค์ประกอบ
[แก้]อาคารขุนอำไพพาณิชย์ มีลักษณะเป็นอาคารแบบตึกแถว สร้างแบบปราศจากฐานรากด้วยการก่ออิฐ (แบบครึ่งแผ่น) ถือปูน 2 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็น 6 คูหา ชั้นล่างปูพื้นด้วยกระเบื้องอิฐแดง ทางเข้าทำเป็นประตูบานพับแบบประตูเฟี้ยม จำนวน 6 ช่อง โดยเปิดแยกข้างละ 3 บานสำหรับแต่ละช่องคูหา เหนือประตูเป็นกรอบวงโค้ง จากชั้นล่าง มีบันไดสำหรับการเดินขึ้น-ลง 2 ทาง
ชั้นบนปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็ง บางคูหาก่อเป็นผนังทึบมีช่องหน้าต่าง บางคูหาเป็นผนังทึบที่มีช่องประตู เปิดรับออกสู่ระเบียงพื้นไม้ชั้นบน ซึ่งยื่นออกมาจากตัวอาคาร 1 เมตร เหนือหน้าต่างและประตูเป็นกรอบวงโค้ง โครงสร้างส่วนหลังคาด้านกว้างมีลักษณะเป็นหน้าจั๋วก่ออิฐฉาบปูนเรียบ มุงหลังคาด้วยสังกะสี [4]
ศิลปะ ลวดลายการตกแต่งและองค์ประกอบ
[แก้]ตัวอาคารโดยรวมของอาคารขุนอำไพพาณิชย์ตกแต่งด้วยการทาสีครีมหรือสีเหลืองอ่อน ลายปูนปั้นประดับส่วนต่าง ๆ ทาด้วยสีเหลืองเข้มและสีขาว ผนังเหนือกรอบวงโค้งของประตู หน้าต่างแต่ละชั้นในแต่ละคูหา ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ที่ยอดปั้นลมและปลายทั้ง 2 ข้างของหน้าจั๋วแต่ละด้านตกแต่งด้วยลวดลายปูนบัวประดับยอดใน ส่วนที่อยู่ด้านบนสุดเป็นปูนปั้นลายพรรณพฤกษาและก้านขด
ลวดลายปูนปั้นทั้งผนังอาคารด้านหน้าและด้านหลัง ถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นของอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้[4] ลวดลายส่วนมากได้รับอิทธิพลทางศิลปะและคติความเชื่อแบบจีนโบราณ คือ มักเป็นลวดลายที่มีความหมายสื่อถึงความเป็นมงคล ได้แก่[4]
- ฮก ลก ซิ่ว อันหมายถึง ชาติวาสนา ความมั่งคั่งหรือทรัพย์สมบัติ และความยั่งยืน ตามลำดับ
- ฮก สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพดวงอาทิตย์ฉายรัศมี เป็นประกายเจิดจรัส และดอกพุดตาน
- ลก สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพดอกเบญจมาศ
- ซิ่ว สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพนกกระเรียน
- ลายภาพพรรณพฤกษา ประกอบด้วยลายดอกบ๊วย ร่วมกับลายก้วนขด
- ลายภาพสรรพสัตว์ ประกอบด้วยค้างคาวคายเหรียญเงินโบราณจำนวน 2 เหรียญ ซึ่งหมายถึงความพรั่งพร้อมด้วยโชคลาภและโภคทรัพย์ [4]
การใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน
[แก้]หลังจากขุนอำไพพาณิชย์ถึงแก่กรรมแล้ว อาคารหลังนี้ได้เปิดให้เช่าเป็นที่พักอาศัยและประกอบการค้าเป็นเวลานานร่วม 40 ปี จนในปี 2523 อาคารมีสภาพชำรุดมาก อาจเป็นอันตรายต่อผู้พักอาศัยได้ เทศบาลเมืองศรีสะเกษจึงประกาศเป็นเขตหวงห้ามตั้งแต่บัดนั้น
จนกระทั่งกรมศิลปากร โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา (ในขณะนั้น)[5] ได้เข้ามาดำเนินการบูรณะ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2538
ปัจจุบันบ้านหรืออาคารขุนอำไพพาณิชย์ เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าชมได้ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ที่บอกเล่าถึงความเป็นอยู่ของคหบดีชาวศรีสะเกษเมื่อเกือบร้อยปีก่อนได้เป็นอย่างดีโดย ชั้นบนได้จัดแสดงข้าวของเก่าแก่บางส่วนของขุนอำไพพาณิชย์ รวมถึงรูปภาพและประวัติของท่านเจ้าของบ้านเป็นข้อมูลให้ผู้สนใจได้อ่าน ส่วนชั้นล่างเปิดเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง [6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.asa.or.th/
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 65ง วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2538
- ↑ กรมศิลปากร.รายชื่อโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว จังหวัดศรีสะเกษ.กรุงเทพฯ : ฝ่ายทะเบียนโบราณสถาน สำนักโบราณคดี, 2550
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.>
- ↑ ปัจจุบันคือ สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา
- ↑ ศูนย์ประสานการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ.เอกสารแนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ.ศรีสะเกษ : สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 2 , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2548.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2006-04-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม