ข้ามไปเนื้อหา

อาคารขุนอำไพพาณิชย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อาคารขุนอำไพพาณิชย์
แผนที่
ประเภทโบราณสถานที่กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ
ที่ตั้งในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ถนนอุบล ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 33000
พื้นที่2 งาน 26 ตารางวา
เปิดตัวพ.ศ. 2468
ผู้ดำเนินการตระกูลนาคสีหราช
สถานะทุกวัน

อาคารขุนอำไพพาณิชย์ หรือที่ชาวเมืองศรีสะเกษเรียกกันทั่วไปว่า ตึกขุนอำไพ ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าเทศบาลเมืองศรีสะเกษ บนถนนอุบล (ฝั่งขาออกไปยังจังหวัดอุบลราชธานี) ตำบลเมืองใต้ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ห่างจากศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษไปทางตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร

เป็นบ้านที่พักอาศัยเก่าของขุนอำไพพาณิชย์ (ทองอินทร์ นาคสีหราช) คหบดีชาวศรีสะเกษ ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2468 ได้รับการบูรณะและอนุรักษ์ไว้โดยทายาทขุนอำไพพาณิชย์ร่วมกับกรมศิลปากร จึงได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเขตเมือง ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2530 เนื่องจากมีความโดดเด่นทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ความเป็นมา [1] ต่อมา ใน พ.ศ. 2538 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 65ง [2] [3]

ประวัติศาสตร์

[แก้]

อาคารขุนอำไพพาณิชย์ เดิมเป็นบ้านเก่าของขุนอำไพพาณิชย์ กับนางอำไพพาณิชย์ ภริยา ซึ่งเป็นคหบดีรุ่นเก่าชาวศรีสะเกษ ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2468 โดยช่างชาวเวียดนาม (ญวน) และจีน อาคารได้รับอิทธิพลของศิลปะและสถาปัตยกรรมแบบญวนผสมจีน

ขุนอำไพพาณิชย์เป็นคหบดีในพื้นที่ ประกอบธุรกิจค้าขายมีความมั่งคั่ง และสร้างอาคารขุนอำไพพาณิชย์ขึ้นบริเวณย่านตลาดใน (ย่านตลาดเก่า) ซึ่งเป็นย่านธุรกิจศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้ายุคแรก ๆ ของเมืองศรีสะเกษ

หลังการเสียชีวิตของขุนอำไพพาณิชย์และภริยา ผู้สืบทอดสกุลนาคสีหราชคือนายหงษ์ทอง นาคสีหราช อาคารหลังนี้ได้รับการตกทอดเป็นมรดกให้กับนางเฉลา ช.วรุณชัย บุตรบุญธรรม ซึ่งเดิมเป็นหลานแต่นำมาชุบเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเนื่องจากขุนอำไพพาณิชย์ไม่มีบุตร หลังจากนั้นอาคารขุนอำไพพาณิชย์ก็ได้ตกทอดมายังทายาทตระกูลนาคสีหราชอีกหลายรุ่น จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการอนุรักษ์อาคารมรดกที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นและส่งมอบมาให้ไว้เป็นอย่างดี จนกระทั่งองค์กรต่าง ๆ และหน่วยงานราชการได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์ตามลำดับ เนื่องจากเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญ ความโดดเด่นด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ของอาคารดังกล่าว [4]

ลักษณะเด่น

[แก้]

สถาปัตยกรรมและองค์ประกอบ

[แก้]

อาคารขุนอำไพพาณิชย์ มีลักษณะเป็นอาคารแบบตึกแถว สร้างแบบปราศจากฐานรากด้วยการก่ออิฐ (แบบครึ่งแผ่น) ถือปูน 2 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็น 6 คูหา ชั้นล่างปูพื้นด้วยกระเบื้องอิฐแดง ทางเข้าทำเป็นประตูบานพับแบบประตูเฟี้ยม จำนวน 6 ช่อง โดยเปิดแยกข้างละ 3 บานสำหรับแต่ละช่องคูหา เหนือประตูเป็นกรอบวงโค้ง จากชั้นล่าง มีบันไดสำหรับการเดินขึ้น-ลง 2 ทาง

ชั้นบนปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็ง บางคูหาก่อเป็นผนังทึบมีช่องหน้าต่าง บางคูหาเป็นผนังทึบที่มีช่องประตู เปิดรับออกสู่ระเบียงพื้นไม้ชั้นบน ซึ่งยื่นออกมาจากตัวอาคาร 1 เมตร เหนือหน้าต่างและประตูเป็นกรอบวงโค้ง โครงสร้างส่วนหลังคาด้านกว้างมีลักษณะเป็นหน้าจั๋วก่ออิฐฉาบปูนเรียบ มุงหลังคาด้วยสังกะสี [4]

ศิลปะ ลวดลายการตกแต่งและองค์ประกอบ

[แก้]

ตัวอาคารโดยรวมของอาคารขุนอำไพพาณิชย์ตกแต่งด้วยการทาสีครีมหรือสีเหลืองอ่อน ลายปูนปั้นประดับส่วนต่าง ๆ ทาด้วยสีเหลืองเข้มและสีขาว ผนังเหนือกรอบวงโค้งของประตู หน้าต่างแต่ละชั้นในแต่ละคูหา ประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ที่ยอดปั้นลมและปลายทั้ง 2 ข้างของหน้าจั๋วแต่ละด้านตกแต่งด้วยลวดลายปูนบัวประดับยอดใน ส่วนที่อยู่ด้านบนสุดเป็นปูนปั้นลายพรรณพฤกษาและก้านขด

ลวดลายปูนปั้นทั้งผนังอาคารด้านหน้าและด้านหลัง ถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นของอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้[4] ลวดลายส่วนมากได้รับอิทธิพลทางศิลปะและคติความเชื่อแบบจีนโบราณ คือ มักเป็นลวดลายที่มีความหมายสื่อถึงความเป็นมงคล ได้แก่[4]

  • ฮก ลก ซิ่ว อันหมายถึง ชาติวาสนา ความมั่งคั่งหรือทรัพย์สมบัติ และความยั่งยืน ตามลำดับ
    • ฮก สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพดวงอาทิตย์ฉายรัศมี เป็นประกายเจิดจรัส และดอกพุดตาน
    • ลก สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพดอกเบญจมาศ
    • ซิ่ว สื่อด้วยลายปูนปั้นภาพนกกระเรียน
  • ลายภาพพรรณพฤกษา ประกอบด้วยลายดอกบ๊วย ร่วมกับลายก้วนขด
  • ลายภาพสรรพสัตว์ ประกอบด้วยค้างคาวคายเหรียญเงินโบราณจำนวน 2 เหรียญ ซึ่งหมายถึงความพรั่งพร้อมด้วยโชคลาภและโภคทรัพย์ [4]

การใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน

[แก้]

หลังจากขุนอำไพพาณิชย์ถึงแก่กรรมแล้ว อาคารหลังนี้ได้เปิดให้เช่าเป็นที่พักอาศัยและประกอบการค้าเป็นเวลานานร่วม 40 ปี จนในปี 2523 อาคารมีสภาพชำรุดมาก อาจเป็นอันตรายต่อผู้พักอาศัยได้ เทศบาลเมืองศรีสะเกษจึงประกาศเป็นเขตหวงห้ามตั้งแต่บัดนั้น

จนกระทั่งกรมศิลปากร โดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา (ในขณะนั้น)[5] ได้เข้ามาดำเนินการบูรณะ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2538

ปัจจุบันบ้านหรืออาคารขุนอำไพพาณิชย์ เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจเข้าชมได้ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ที่บอกเล่าถึงความเป็นอยู่ของคหบดีชาวศรีสะเกษเมื่อเกือบร้อยปีก่อนได้เป็นอย่างดีโดย ชั้นบนได้จัดแสดงข้าวของเก่าแก่บางส่วนของขุนอำไพพาณิชย์ รวมถึงรูปภาพและประวัติของท่านเจ้าของบ้านเป็นข้อมูลให้ผู้สนใจได้อ่าน ส่วนชั้นล่างเปิดเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง [6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.asa.or.th/
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 65ง วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2538
  3. กรมศิลปากร.รายชื่อโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว จังหวัดศรีสะเกษ.กรุงเทพฯ : ฝ่ายทะเบียนโบราณสถาน สำนักโบราณคดี, 2550
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.>
  5. ปัจจุบันคือ สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา
  6. ศูนย์ประสานการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ.เอกสารแนะนำแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ.ศรีสะเกษ : สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 2 , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2548.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แม่แบบ:โบราณสถานในประเทศไทย