ข้ามไปเนื้อหา

สำนักพระราชวัง

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กระทรวงวัง)

ราชอาณาจักรไทย
สำนักพระราชวัง
เครื่องหมายราชการสำนักพระราชวังในรัชกาลที่ 10

อาคารศาลาว่าการพระราชวัง
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง5 พฤษภาคม พ.ศ. 2485
หน่วยงานก่อนหน้า
เขตอำนาจรองเลขาธิการพระราชวัง
สำนักงานใหญ่
งบประมาณต่อปี3,435.4143 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล [2], เลขาธิการพระราชวัง
  • พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม[3], รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายที่ประทับ ระดับ 11
  • พันโท สมชาย กาญจนมณี, รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายนโยบายและแผนปฏิบัติการ
  • พลอากาศตรี ธีระ เชียงทอง, รองเลขาธิการพระราชวัง
  • พลอากาศเอก อำนาจ จีระมณีมัย[4], รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายปฏิบัติการ ระดับ 11
  • พลอากาศตรี สุพิชัย สุนทรบุระ, รองเลขาธิการพระราชวัง
ต้นสังกัดหน่วยงานพระมหากษัตริย์ไทย
ลูกสังกัดหน่วยงาน
เว็บไซต์www.royaloffice.th/

สำนักพระราชวัง (อังกฤษ: Bureau of the Royal Household; BRH) เป็นหน่วยราชการในพระองค์ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบราชการในพระองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ในพระองค์พระมหากษัตริย์ และมีเลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชกิจราชการ

ประวัติ

สมัยกรุงศรีอยุธยา

สำนักพระราชวังเป็นส่วนราชการที่สืบเนื่องมาจากส่วนราชการสำคัญของบ้านเมืองมาแต่โบราณกาล มีหลักฐานที่อาจทบทวนย้อนไปได้ถึงพุทธศักราช 1893 ในปีนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองในราชธานีเป็นสี่กรม หรือที่เรียกว่าจตุสดมภ์ ได้แก่

  1. กรมเมือง (หรือเวียง) มีหน้าที่ปกครองท้องที่ดูแลสันติสุขของประชาราษฎร
  2. กรมวัง มีหน้าที่ดูแลฝ่ายพระราชสำนัก รวมทั้งพิพากษาถ้อยความของราษฎรเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของประมุขในหน้าที่พระราชทานความยุติธรรมไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
  3. กรมคลัง มีหน้าที่ดูแลรับจ่ายผลประโยชน์ของแผ่นดิน
  4. กรมนา มีหน้าที่ดูแลการทำไร่ทำนา รักษาเสบียงอาหารสำหรับพระนคร

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปการปกครองราชอาณาจักร แบ่งส่วนราชการระดับกระทรวงให้เป็นไปตามความจำเป็น และเหมาะสมแก่การปกครองประเทศยิ่งขึ้น กระทรวงเดิมในแบบจตุสดมภ์ทั้ง 6 ก็ให้คงอยู่ เพิ่มกระทรวงในหน้าที่ที่สมควรใหม่อีก 4 กระทรวง รวมเป็น 12 กระทรวงแต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการ

จากการปฏิรูปการปกครองในประเทศในครั้งนี้เอง โปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในพระราชสำนัก ซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่า กรมวัง หรือ จตุสดมภ์กรมวัง เป็นกระทรวงมีชื่อว่า กระทรวงวัง แต่โปรดเกล้าฯ ให้โอนงานที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรมที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ ดังนั้นส่วนราชการในจตุสดมภ์กรมวังที่มีชื่อว่า กรมพระตำรวจหลวงว่าความฎีกา อันเป็นกรมหนึ่ง ซึ่งสมัยก่อน ๆ ถือว่าเป็นส่วนราชการที่มีความสำคัญมากถึงกับในบางรัชกาลต้องโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยที่สุดไปทรงกำกับราชการอยู่ เช่น ในรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไปทรงกำกับราชการอยู่นั้น จึงสูญไปจากทำเนียบราชการแต่นั้นมา

เสนาบดีกระทรวงวังตามแผนปฏิรูปการปกครองใหม่ในครั้งนั้น ตัวเสนาบดีมิใช่สามัญชน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังอยู่ก่อนแล้ว เป็นเสนาบดีกระทรวงวังตามระบบการปกครองที่ปฏิรูปใหม่ จึงนับได้ว่าทรงเป็น "เสนาบดีกระทรวงวังพระองค์แรก"

การตั้งเสนาบดีกระทรวงในรัชกาลที่ 5 นั้น จะเห็นได้ว่าทรงพระราชดำริว่ากระทรวงวังนั้นสำคัญและปฏิบัติงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาก จึงทรงเลือกสรรพระราชวงศ์ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีสืบต่อกันมาหลายพระองค์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ เครื่องหมายราชการแห่งกระทรวงวังในอดีต

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงวัง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่ราชการในพระองค์หลายประการ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะกรมมหาดเล็กหลวง ในกระทรวงวังขึ้นเป็นกรมอิสระ ขึ้นตรงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก (เจ้าพระยารามราฆพ) เป็นผู้บังคับบัญชา มีกรมต่าง ๆ ที่หัวหน้ากรมเป็นข้าราชการขั้นอธิบดีขึ้นอยู่ 13 กรม ได้แก่

  1. กรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก
  2. กรมชาวที่
  3. กรมมหรสพ
  4. กรมเรือยนต์หลวง
  5. กรมรถยนต์หลวง
  6. กรมพระอัศวราช
  7. กรมแพทย์หลวง
  1. กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
  2. กรมตรวจมหาดเล็ก
  3. กรมมหาดเล็ก
  4. กรมช่างมหาดเล็ก
  5. กรมโขนหลวง
  6. กรมพิณพาทย์กลาง

ส่วนทางกระทรวงวังก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกรมขึ้น 20 กรม ได้แก่

  1. กรมบัญชาการ
  2. กรมสารวัตรในพระราชสำนัก
  3. กรมทะเบียน
  4. กรมปลัดบัญชี
  5. กรมคลังราชการ
  6. กรมพระราชพิธี
  7. กรมภูษามาลา
  8. กรมสนมพลเรือน
  9. กรมวัง
  10. กรมรองาน
  1. กรมช้างต้น
  2. กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์
  3. กรมทหารรักษาวัง
  4. กรมพระนิติศาสตร์
  5. กรมศิลปากร
  6. กรมธรรมการ
  7. กรมสังฆการี
  8. กรมกัลปนา
  9. กรมราชบัณฑิต
  10. กรมวังในพระราชสำนักพระพันปีหลวง

กรมในกระทรวงวังก็ดี กรมในมหาดเล็กก็ดี แม้หัวหน้ากรมจะมีฐานะเป็นอธิบดี แต่ก็มีหลายกรมเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น

  • กรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก (หัวหน้ากรมมีตำแหน่งเป็นปลัดบัญชาการ)
  • กรมอื่น ๆ ในสังกัดกรมมหาดเล็ก (หัวหน้ากรมมีตำแหน่งเป็นจางวาง ต่อท้ายตำแหน่งด้วยนามกรม) เช่น "กรมชาวที่" เรียกว่า จางวางกรมชาวที่ ยกเว้น "กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์" เรียกตำแหน่งหัวหน้ากรมว่า ผู้บัญชาการโรงเรียนในกรมพระบรมราชูปถัมภ์

กรมในสังกัดกระทรวงวัง

  • กรมบัญชาการ (หัวหน้ากรมมีตำแหน่งเป็นปลัดบัญชาการ)
  • กรมวัง กรมพระราชพิธี กรมตำรวจรักษาพระองค์ กรมพระนิติศาสตร์ (หัวหน้ากรมมีตำแหน่งเป็นสมุห) โดยเรียกกันดังนี้
    • สมุหพระราชมณเฑียร คือ อธิบดีกรมวัง
    • สมุหพระตำรวจหลวง รักษาพระองค์ คือ อธิบดีกรม พระตำรวจหลวงรักษาพระองค์
    • สมุหพระราชพิธี คือ อธิบดีกรมพระราชพิธี
    • สมุหพระนิติศาสตร์ คือ อธิบดีกรมพระนิติศาสตร์
    • สมุหบัญชีใหม่ คือ อธิบดีกรมปลัดบัญชี

กรมอื่นนอกจากนี้

  • กรมใหญ่เรียกหัวหน้ากรมว่า อธิบดี
  • กรมเล็กเรียกหัวหน้ากรมว่า เจ้ากรม

แต่ที่เรียกว่าผู้อำนวยการกรมก็มี นอกจากนั้นยังพระราชทานเกียรติยศแก่ กรมตำรวจหลวงรักษาพระองค์ กรมทหารรักษาพระองค์และกรมทหารรักษาวัง โดยทรงรับเข้าดำรงตำแหน่ง "สมเด็จพระตำรวจ" ในกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ และตำแหน่ง "ผู้บังคับการพิเศษ" ในกรมทหารรักษาวังด้วย

สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังนั้น ก็ยังคงใช้ราชทินนามบุคคลผู้เป็นเจ้ากระทรวงว่า "ธรรมธิกรณาธิบดี" อันเป็นราชทินนามที่สืบเนื่องมาแต่ "ธรรมาธิการ" ครั้งยังเป็นจตุสดมภ์อยู่ แม้ว่าจะได้แยกหน้าที่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี อันเป็นหน้าที่เดิมของจตุสดมภ์กรมวังไปเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมดังกล่าวมาแล้วก็ตาม

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้โอนกรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมราชบัณฑิต กรมกัลปนา และกรมศิลปากร ไปสังกัดกระทรวงธรรมการ และยุบฐานะกรมมหาดเล็กหลวงซึ่งแยกไปเป็นกรมพิเศษในรัชกาลที่ 6 ลงเป็นกรมสามัญสังกัดกระทรวงวังตามเดิม

ต่อมาเมื่อประเทศสยามได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประกาศพระบรมราชโองการ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ให้เปลี่ยนชื่อ "กระทรวงวัง" เป็น "ศาลาว่าการพระราชวัง" แต่ครั้งถึงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ก็กลับมามีฐานะเป็นกระทรวงขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช 2476 และมี "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง" เป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมฉบับดังกล่าวนี้ ได้ตัดทอนส่วนราชการในกระทรวงวังออกเหลือ 7 กรม ได้แก่

  1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
  2. สำนักงานปลัดกระทรวง
  3. กรมทหารรักษาวัง
  4. กรมพระคลังข้างที่
  5. กรมมหาดเล็กหลวง
  6. กรมราชเลขานุการในพระองค์
  7. กรมวัง

สำนักพระราชวัง

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้เอง ได้เปลี่ยนฐานะของกระทรวงวังลงเป็นทบวง มีฐานะเป็นกรม เทียบเท่าทบวง มีชื่อว่า "สำนักพระราชวัง" และให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีโดยตรง มีเลขาธิการพระราชวัง (ระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง) รับผิดชอบในการบริหารราชการ สำหรับกรมในสังกัดก็ยุบลงเป็นกองบ้าง แผนกบ้าง เว้นบางกรมไปสังกัดกระทรวงอื่น เช่น

นอกจากนี้ยังได้โอนราชการในหน้าที่ต่าง ๆ อีกหลายหน้าที่ไปสังกัดกรมอื่น เช่น โอนงานในหน้าที่การช่างที่เรียกว่า "กรมวังนอก" ตลอดจนงานที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ อันได้แก่กองพิณพาทย์หลวง กองดุริยางค์หลวง โขนหลวงและละครหลวง ไปสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ)

เมื่อได้ยุบกระทรวงวังเป็นสำนักพระราชวังแล้ว ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่ในต่างประเทศ ได้มีการพิจารณาเห็นว่าภารกิจของสำนักพระราชวังมีน้อย ก็ปรับปรุงหนักไปทางตัดทอน ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร บรรลุพระราชนิติภาวะ และเสด็จฯ นิวัติมาประทับในราชอาณาจักรเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2494 และได้บริหารราชการในฐานะพระประมุขแล้ว รัฐบาลก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพให้มากขึ้น เพื่อเพียงพอที่จะสนองรองรับพระราชกรณียกิจได้

ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขานุการในพระองค์ พุทธศักราช 2478 ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ได้กำหนดให้มีกองในสังกัด 4 กอง ได้แก่ 1. สำนักงานเลขานุการ (4 แผนก)

  • แผนกสารบรรณ
  • แผนกหมายและทะเบียน
  • แผนกคลัง
  • แผนกพัสดุ

2. กองมหาดเล็ก (3 แผนก)

  • แผนกกลาง
  • แผนกรับใช้
  • แผนกชาวที่

3. กองวังและพระราชพิธี (3 แผนก)

  • แผนกตำรวจวัง
  • แผนกพระราชพิธี
  • แผนกพระราชพาหนะ

4. สำนักงานพระคลังข้างที่ (ไม่มีการแบ่งหน่วยงานในสังกัด)

ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560[5] ให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และมีพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มี "สำนักพระราชวัง" มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์ทั่วไป การเลขานุการในพระองค์ การจัดการพระราชวังและงานพระราชพิธี การดูแลรักษาทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และการอื่นตามพระราชอัธยาศัย[6]

การจัดแบ่งหน่วยงานภายในและฝ่ายธุรกรรมต่าง ๆ

ก่อน พ.ศ. 2560

ก่อนปี พ.ศ. 2560 สำนักพระราชวัง แบ่งหน่วยงานออกเป็น 16 กอง ประกอบด้วย[7]

  • สำนักงานเลขานุการกรม รับผิดชอบงานบริหารทั่วไป งานสารบรรณ งานประชาสัมพันธ์ งานกฎหมาย งานห้องสมุด จัดทำและรักษาทะเบียนพระบรมวงศานุวงศ์ ทะเบียนผู้ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการต่าง ๆ และงานอื่น ๆ
  • กองการเจ้าหน้าที่ รับผิดชอบการบริหารงานบุคคล
  • กองคลัง รับผิดชอบการบริหารการคลัง
  • กองงานส่วนพระองค์ รับผิดชอบในการปฏิบัติงานเฉพาะกิจตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมาย และดำเนินการเกี่ยวกับการถวายความสะดวกในเขตพระราชฐานที่ประทับ บันทึกภาพนิ่ง ภาพยนตร์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และวีดิทัศน์ส่วนพระองค์ จัดทำรายการวิทยุของสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต แบ่งออกเป็น 5 ฝ่าย คือ
    • ฝ่ายธุรการ
    • ฝ่ายสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต
    • ฝ่ายช่างภาพส่วนพระองค์
    • ฝ่ายภาพยนตร์ส่วนพระองค์
    • ฝ่ายไฟฟ้าและน้ำประปา สวนจิตรลดา
  • กองกิจการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับผิดชอบงานส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งงานฝ่ายพระราชวัง และงานฝ่ายราชเลขานุการ
  • กองงานส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับผิดชอบงานเลขานุการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดทำหมายพิธีการ ดำเนินงานพระราชกุศลและพระราชานุเคราะห์ในกิจการต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่พระราชกรณียกิจ และปฏิบัติงานโครงการในพระองค์ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับราชสำนักและงานพระราชฐาน กำกับดูแลและบริหารสายวิทยาการเกี่ยวกับการบูรณะและอนุรักษ์ที่ประทับในเขตที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปฏิบัติงานกิจการพิเศษอื่น ๆ ในพระองค์ และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย[8]
  • กองมหาดเล็ก รับผิดชอบด้านการรับใช้ในกิจการส่วนพระองค์ต่าง ๆ ทุกประเภท ทั้งในพระราชฐานที่ประทับ และในสถานที่ที่เสด็จฯ ทุกแห่ง ดูแลรักษาสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ดำเนินการประกอบเครื่องเสวยจัดโต๊ะเสวย จัดอาหารและปฏิบัติในการพระราชทานเลี้ยง แบ่งออกเป็น 6 ฝ่าย คือ
    • งานธุรการ
    • ฝ่ายในพระองค์
    • ฝ่ายมหาดเล็ก
    • ฝ่ายวรภาชน์
    • ฝ่ายมหาดเล็กพิธี
    • ฝ่ายห้องเครื่อง
  • กองวัง รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถวายอารักขา แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ และรักษาความเรียบร้อย ความสงบ และความปลอดภัยสถานที่ทั้งในพระราชฐานและในส่วนของที่ประทับ รวมทั้งในการเสด็จฯ ณ สถานที่อื่น ๆ, ตระเตรียมการพร้อมรับเสด็จและรับรองพระบรมวงศานุวงศ์ ราชอาคันตุกะ แขกผู้มีเกียรติชาวต่างประเทศ และผู้ที่ได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสโปรดให้เข้าเฝ้าฯ, รองรับนำชมพระบรมมหาราชวัง, การประดิษฐ์ดอกไม้ เย็บปักถักร้อย และการประกอบอาหารสำหรับถวายทรงนมัสการ ทรงใช้ และใช้ราชการในงานพระราชพิธี พระราชกุศลและงานอื่น ๆ แบ่งออกเป็น 6 ฝ่าย คือ
    • งานธุรการ
    • ฝ่ายตำรวจวัง
    • ฝ่ายรับรองพระบรมมหาราชวัง
    • ฝ่ายพระราชฐานชั้นใน
    • ฝ่ายกรมวังประจำที่ประทับ
    • ฝ่ายตำรวจหลวงรักษาพระองค์
  • กองพระราชพิธี รับผิดชอบการจัดงานพระราชพิธี งานพระราชกุศล งานรัฐพิธีและงานพิธีต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามราชประเพณี ดูแลรักษาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และปูชนียวัตถุสำคัญต่าง ๆ
    • งานธุรการ
    • ฝ่ายราชูปโภค
    • ฝ่ายพิธีการ
    • ฝ่ายศุภรัต
    • ฝ่ายสนมพลเรือน
    • ฝ่ายบูรณะราชภัณฑ์
  • กองชาวที่ รับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาตกแต่ง ทำความสะอาดพระที่นั่ง พระตำหนัก ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในเขตพระราชฐาน และพระราชฐานที่ประทับ รวมถึงพระบรมมหาราชวัง
    • งานธุรการ
    • ฝ่ายพระราชฐานที่ประทับ
    • ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
    • ฝ่ายราชพัสดุชาวที่
    • ฝ่ายพระราชฐานต่างจังหวัด
  • กองธุรการที่ประทับ รับผิดชอบในงานธุรการของส่วนราชการทางฝ่ายที่ประทับ ควบคุมดูแลการเบิกจ่ายเงินใช้สอยประจำวัน และค่าใช้จ่ายในการพระราชกุศลส่วนพระองค์ งานวางผังออกแบบควบคุมการก่อสร้างและงานช่างบำรุงรักษาซ่อมแซมอาคารสถานที่ต่าง ๆ งานช่างบำรุงรักษาซ่อมและงานโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
  • กองบำรุงรักษาราชอุทยาน รับผิดชอบการตัดตกแต่งต้นไม้ภายในเขตพระราชฐานและสถานที่ที่อยู่ภายในการรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง ดูแลระบบสุขาภิบาล ระบบกำจัดน้ำเสีย ดูแลรักษาเครื่องจักรกลทางการเกษตร วิจัย พัฒนาและขยายพันธุ์พืช
  • กองพระราชพาหนะ รับผิดชอบรถยนต์หลวงและเรือยนต์หลวง ที่ใช้ในงานต่าง ๆ ดูแลรักษารับผิดชอบ รถยนต์พระที่นั่ง เรือยนต์พระที่นั่ง รถยนต์พระประเทียบ เรือยนต์พระประเทียบ ขบวนรถยนต์หลวง และพาหนะใช้สอยต่าง ๆ
  • กองแพทย์หลวง รับผิดชอบงานด้านการสาธารณสุข ควบคุม ดูแล จัดเตรียมเวชภัณฑ์ต่าง ตลอดจนพาหนะที่ใช้ในการสาธารณสุข วิเคราะห์และวิจัยโรคต่าง ๆ ดูแลรักษาผู้ที่มารับการตรวจ จัดเตรียมแพทย์และเวชภัณฑ์เพื่อตามเสด็จในพื้นที่ต่าง ๆ และจัดเตรียมยาพระราชทานตามที่มีบุคคลขอพระราชทานมา
  • กองศิลปกรรม[9] เป็นหน่วยงานภายในที่จัดตั้งขึ้นเพิ่มเติมเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๗ รับผิดชอบงานด้านการบูรณะซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ในพระราชพิธี เครื่องราชภัณฑ์ เครื่องราชภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค งานประณีตศิลป์ พระตำหนัก และองค์พระที่นั่งต่าง ๆ ตลอดจนปูชนียวัตถุต่าง ๆ อันเป็นของพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลของราชสำนัก

หลังปี พ.ศ. 2560

ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีส่วนราชการ ดังนี้[10]

  • ศาลาว่าการสำนักพระราชวัง ภายหลังเป็นกรมบังคับการสำนักพระราชวัง
  • กรมราชเลขานุการในพระองค์
  • กรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์
  • กรมมหาดเล็ก
  • กรมสนับสนุน
  • กรมกิจการพิเศษ
  • ส่วนราชการอื่นตามที่กำหนดโดยประกาศสำนักพระราชวัง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2565 ได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 2 โดยกำหนดส่วนราชการในสำนักพระราชวัง ดังนี้[11]

  • สำนักงานผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง
  • กรมบังคับการสำนักพระราชวัง
  • กรมมหาดเล็ก 904
  • กรมกิจการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
  • กรมสนับสนุน
  • กรมราชเลขานุการในพระองค์
  • กรมกิจการในพระบรมวงศานุวงศ์
  • กรมกิจการพิเศษ
  • ส่วนราชการอื่นตามที่กำหนดโดยประกาศสำนักพระราชวัง

ผู้บริหาร

เสนาบดีกระทรวงวัง

ลำดับ รูป รายพระนาม/รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม พ.ศ. 2438 25 สิงหาคม พ.ศ. 2439 -
2 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย 25 สิงหาคม พ.ศ. 2439[12] 31 สิงหาคม พ.ศ. 2439 ผู้แทนเสนาบดีกระทรวงวัง
1 กันยายน พ.ศ. 2439[13] 18 กันยายน พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงวัง
3 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา 19 กันยายน พ.ศ. 2541[14] 9 มิถุนายน พ.ศ. 2448[15] -
- พระยาเพ็ชรพิไชย (เจิม อมาตยกุล) 10 มิถุนายน พ.ศ. 2448 12 มิถุนายน พ.ศ. 2448 รักษาราชการแทนเสนาบดีกระทรวงวัง
4 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2448[16] กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452 -
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2452 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 รักษาราชการแทนเสนาบดีกระทรวงวัง
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล)
5 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2453[17] 14 เมษายน พ.ศ. 2456 -
6 เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) 15 เมษายน พ.ศ. 2456[18] 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 -
7 เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2469[19] 31 มีนาคม พ.ศ. 2470 ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง
1 เมษายน พ.ศ. 2470[20] พ.ศ. 2475 เสนาบดีกระทรวงวัง

ผู้สำเร็จราชการพระราชวัง

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 จึงเปลี่ยนชื่อ "กระทรวงวัง" เป็น "ศาลาว่าการพระราชวัง"

ลำดับ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) พ.ศ. 2475 พ.ศ. 2476

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 กลับมามีฐานะเป็นกระทรวงขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช 2476

ลำดับ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2477

เลขาธิการพระราชวัง

หลังจากการปรับปรุงฐานะเป็นสำนักพระราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2478 ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง[21] ได้แก่

ลำดับ รูป รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระยาชาติเดชอุดม (หม่อมราชวงศ์โป๊ะ มาลากุล) 1 เมษายน พ.ศ. 2478 31 มกราคม พ.ศ. 2490
2 พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 6 สิงหาคม พ.ศ. 2509
3 ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา 7 สิงหาคม พ.ศ. 2509 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
4 พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2530
5 แก้วขวัญ วัชโรทัย 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 15 กันยายน พ.ศ. 2559
6 รองศาสตราจารย์ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา 23 กันยายน พ.ศ. 2559 12 มีนาคม พ.ศ. 2561
7 พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล 12 มีนาคม พ.ศ. 2561 ปัจจุบัน

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. พระราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งเลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอน ๕๕ ง พิเศษ หน้า ๒ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๑
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งข้าราชการในพระองค์และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ
  5. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
  6. พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560
  7. พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2541
  8. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘
  9. "กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. ๒๕๔๗ [ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔]" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-12. สืบค้นเมื่อ 2015-05-16.
  10. พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. ๒๕๖๐
  11. พระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๕
  12. "พระบรมราชโองการ ประกาศเปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 13 (ตอน 21): หน้า 221. 26 สิงหาคม 2439. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "พระบรมราชโองการ ประกาศคงตำแหน่งผู้สืบเสนาบดี กระทรวงวัง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 13 (ตอน 23): หน้า 239. 6 กันยายน 2439. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. "พระบรมราชโองการ ประกาศเปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 15 (ตอน 26): หน้า 270. 25 กันยายน พ.ศ. 2541. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  15. "ประกาศตั้งเสนาบดีกระทรวงวัง และตั้งผู้แทนเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 22 (ตอน 11): หน้า 228. 18 มิถุนายน 2448. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "ประกาศเปลี่ยนตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 22 (ตอน 11): หน้า 200. 11 มิถุนายน 2448. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 27 (ตอน ก): หน้า 24. 29 พฤษภาคม 2453. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. "พระบรมราชโองการ ประกาศ เลื่อนและตั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 30 (ตอน ก): หน้า 23. 15 เมษายน 2456. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. "พระบรมราชโองการ ประกาศ เปลี่ยนเสนาบดีกระทรวงวังและรวมกรมมหาดเล็กเข้าในกระทรวงวัง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43 (ตอน 0 ก): หน้า 240. 25 กรกฎาคม 2469. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  20. "พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เสนาบดีกระทรวงวัง และเสนาบดีกระทรวงธรรมการ กับอธิบดีศาลฎีกา" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 43 (ตอน 0 ก): หน้า 722. 20 มีนาคม 2469. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-05. สืบค้นเมื่อ 2016-09-15.

แหล่งข้อมูลอื่น