กองทัพไทย
กองทัพไทย | |
---|---|
Royal Thai Armed Forces | |
เครื่องหมายราชการของกองบัญชาการกองทัพไทย | |
ธงราชการของกองบัญชาการกองทัพไทย | |
ก่อตั้ง | 18 มกราคม พ.ศ. 2395[1] |
เหล่า | กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ |
กองบัญชาการ | กรุงเทพมหานคร |
ผู้บังคับบัญชา | |
จอมทัพ | พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
นายกรัฐมนตรี | แพทองธาร ชินวัตร |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม | ภูมิธรรม เวชยชัย |
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด | พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี |
กำลังพล | |
อายุเริ่มบรรจุ | 21 |
ประชากร วัยบรรจุ | 14,903,855[ต้องการอ้างอิง] ชาย, อายุ 21–49 (ประเมิน 2548), 15,265,854[ต้องการอ้างอิง] หญิง, อายุ 21–49 (ประเมิน 2548) |
ประชากร ฉกรรจ์ | 10,396,032[ต้องการอ้างอิง] ชาย, อายุ 21–49 (ประเมิน 2548), 11,487,690[ต้องการอ้างอิง] หญิง, อายุ 21–49 (ประเมิน 2548) |
ประชากรวัยถึงขั้น ประจำการทุกปี | 526,276[ต้องการอ้างอิง] ชาย (ประเมิน 2548), 514,396[ต้องการอ้างอิง] หญิง (ประเมิน 2548) |
ยอดประจำการ | 305,860 |
ยอดสำรอง | 245,000 |
รายจ่าย | |
งบประมาณ | 189,175,442,800 บาท (พ.ศ. 2568)[2] |
ร้อยละต่อจีดีพี | 1.8% (ประเมิน 2548) |
อุตสาหกรรม | |
แหล่งผลิตในประเทศ | อุตสาหกรรมการบินไทย |
บทความที่เกี่ยวข้อง | |
ประวัติ | ประวัติศาสตร์การทหารของไทย |
ยศ | ยศทหารของกองทัพไทย |
กองทัพไทย (อังกฤษ: Royal Thai Armed Forces) เป็นกองทัพของราชอาณาจักรไทย แบ่งเป็นสามเหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ สังกัดกระทรวงกลาโหม มีพระมหากษัตริย์ไทยเป็นจอมทัพ[3] บังคับบัญชาภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมสั่งการอำนวยการรบเพื่อปกป้องและป้องกันประเทศ[4] ภายใต้การสั่งการของนายกรัฐมนตรีตามตำแหน่ง[5][6]
สำหรับวันกองทัพไทยตรงกับวันที่ 18 มกราคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงการทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และมหาอุปราชของพม่าที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2136[7]
ประวัติ
วิวัฒนาการจนเป็นกองทัพไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2395[8] ซึ่งทรงเล็งเห็นความจำเป็นและความสำคัญของกองทัพ จึงทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในด้านต่าง ๆ เน้นด้านการทหารเป็นสำคัญ เริ่มต้นจากการนำครูฝึกทหารต่างชาติมาเริ่มฝึกการรบ และนำกำลังเข้าตีตามรูปแบบสมัยใหม่ครั้งแรกในสงครามเชียงตุง[8] ทรงสนับสนุนกิจการทหารด้วยการส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ไปทรงศึกษาวิชาทหารในทวีปยุโรป ซึ่งทรงนำวิทยาการทหารสมัยใหม่มาปรับปรุงทางทหารของไทยจนเจริญทัดเทียมชาติตะวันตก นอกจากนี้ยังทรงตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ให้ชายอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ รับราชการทหาร 2 ปีแล้วปลดเป็นกองหนุน ทั้งนี้ การยกเลิกระบบไพร่ก่อนหน้านี้ ได้ทำให้เกิดระบบทหารอาชีพขึ้นในประเทศไทย
ในรัชสมัยนี้ เริ่มมีนายทหารประจำการเป็นครั้งแรก โดยได้จัดตั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ ซึ่งแยกการบริหารออกจากกันโดยเด็ดขาด จัดแบ่งกำลังรบออกเป็น 10 กองพล[ต้องการอ้างอิง] จัดกำลังไปประจำในท้องถิ่นหัวเมืองสำคัญ จัดโรงเรียนคะเด็ตทหารมหาดเล็ก (ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) และโรงเรียนนายเรือ เพื่อผลิตทหารประจำการในกองทัพ
ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 การจัดกองทัพได้ขยายเต็มรูปแบบ เริ่มกิจการการบินและก้าวหน้าจนสามารถสร้างเครื่องบินเองได้ จวบจนถึงสมัยปัจจุบัน (ร.8-9) กองทัพไทยได้พัฒนาเพิ่มขึ้นอีกมาก ประกอบด้วยกำลังครบทั้งสามเหล่า คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนมีศักยภาพสูง และมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก สามารถส่งกำลังทหารไปช่วยมิตรประเทศในการสงครามต่างๆ หลายครั้ง อาทิเช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรป สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม การรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก เป็นต้น
ใน พ.ศ. 2557 เว็บไซต์โกลบอลไฟเออร์พาวเวอร์ (GlobalFirepower) จัดอันดับความแข็งแกร่งของกองทัพไทยอยู่อันดับที่ 24 ของโลก (จาก 106 ประเทศ)[9]
ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก[10]
หน่วยงานของกองทัพไทย
- กระทรวงกลาโหม
- กองบัญชาการกองทัพไทย
- กองทัพบก
- กองทัพเรือ
- กองทัพอากาศ
- ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพไทย (ผู้บัญชาการทหารสูงสุดดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพไทย)
ความขัดแย้ง
กองทัพไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้มีความขัดแย้งมาตลอด ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค
- สงครามสยาม-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1893)
เกิดขึ้นเมื่อสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่สามยุคล่าอาณานิคมได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในอินโดจีนและต้องการครอบครองดินแดนลาวซึ่งในตอนนั้นเป็นของสยามจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่สามกับสยาม และสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่สามได้บุกเข้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้ไทยต้องยกดินแดนลาวให้ฝรั่งเศส
- สงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1917 – 1918)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระราชหฤทัยประกาศสงครามเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 กับอำนาจกลางและเข้าร่วม กับฝ่ายสัมพันธมิตร ในการต่อสู้ในแนวรบด้านตะวันตก ได้ส่งทหารของกองทัพสยามเดินทางมีทหารทั้งหมด 1,233 คน และยุทธโนปกรณ์ที่ทันสมัยและได้รับการฝึกอบรมได้รับคำสั่งจากจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และทางอากาศ สยามเป็นประเทศอิสระเพียงรายเดียวในเอเชียประเทศที่มีกองกำลังในยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่1 และได้สงผลให้มีการแก้ไขหรือการยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมกันกับ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษ และกองทัพสยามยังได้รับเกียรติเดินขบวนในขบวนแห่งชัยชนะในปารีส
- สงครามไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1940 – 1941)
สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน ตุลาคม ค.ศ. 1940 เมื่อประเทศที่อยู่ภายใต้ลัทธิฟาสซิสต์กฎของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตัดสินใจที่จะบุกฝรั่งเศสภายใต้ระบอบการปกครองของวิชี (หลังจากนาซีครอบครองกรุงปารีส) เพื่อนำดินแดนที่ถูกฝรั่งเศสเอาไปกลับคืนมา
- สงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1942 – 1945)
เกิดขึ้นเมื่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นต้องการผ่านดินแดนไทยเพื่อที่จะโจมตีบริติชอินเดีย และแหลมมลายู และต้องการใช้กำลังทหารของไทยได้เกิดการปะทะขึ้นระหว่างทหารของจักรวรรดิญี่ปุ่นกับไทยและสิ้นสุดเมื่อชั่วโมงแรกในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยไทยยอมให้กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านดินแดนไทยได้ ต่อมาหลังจากถูกเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพ รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1942 โดยไทยได้ส่งทหารบุกพม่า
- สงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950 – 1953)
เกิดขึ้นในช่วงที่ความขัดแย้งของสหประชาชาติในคาบสมุทรเกาหลี กองทัพไทยให้กรมทหารราบที่ 21 ประมาณ 1,294 คน
- สงครามเวียดนาม (ค.ศ. 1955 – 1975)
เกิดขึ้นเมื่อมีเวียดนามเหนือมีความคิดที่ว่าจะรวมเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว ไทยได้ส่งทหารไทยเข้ารบรบกับประเทศที่เป็นพันธมิตร เพื่อป้องกันภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยสงครามจบลงด้วยชัยชนะของเวียดนามเหนือ และทหารไทยเสียชีวิต 1,351 นาย
- การปราบปรามคอมมิวนิสต์ (ค.ศ. 1976–1980)
เกิดเมื่อกลุ่มนักศึกษาและประชาชนภายใน บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจรออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์นี้ ตำรวจตระเวนชายแดนนำโดยค่ายนเรศวรจากหัวหิน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ และกลุ่มคนที่ตั้งโดยงบ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) คือ กลุ่มนวพล และกลุ่มกระทิงแดง ได้ใช้กำลังอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก
- เหตุปะทะชายแดนไทย–เวียดนาม (ค.ศ. 1979 – 1988)
เกิดขึ้นเมื่อเวียดนามยึดเขมรได้สำเร็จ(สงครามกัมพูชา–เวียดนาม) เวียดนามจึงได้มีแผนที่บุกไทยโดยมีจุดประสงค์อยู่ 2 อย่าง คือ ปราบเขมรแดงที่หนีมาไทยและยึดภาคอีสานของไทย
- สงครามชายแดนไทย-ลาว (ค.ศ. 1987 – 1988)
เกิดขึ้นเมื่อลาวได้ยกกำลังเข้ายึดพื้นที่บ้านร่มเกล้า ในเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก และเกิดปะทะกับกองกำลังทหารพราน 3405 ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 และยึดเนิน 1428 เป็นที่มั่น และสิ้นสุดลงเมื่อ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หลังจากฝ่ายไทยได้ใช้กองทัพอากาศโจมตีเข้าไปในดินแดนลาว 30-40 กิโลเมตร และฝ่ายลาวโดยนายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรี ได้เจรจาขอหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 และเสนอให้ถอนกำลังของทั้งสองฝ่ายออกจากกันเป็นระยะ 3 กิโลเมตร
- ติมอร์ตะวันออก (ค.ศ. 1999 – 2002)
เกิดเมื่อมีวิกฤตในติมอร์ตะวันออก ไทยร่วมกับประเทศอื่นๆ 28 ประเทศ ให้มีกองทัพระหว่างประเทศในติมอร์ตะวันออกหรือ INTERFET เริ่มเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1999 ถึง 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2002
- สงครามอิรัก (ค.ศ. 2003 – 2004)
เกิดขึ้นเมื่อกองทัพสหรัฐบุกประเทศอิรัก และประเทศไทยได้ส่งกำลังสนับสนุนกองกำลัง 423 ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2003 ซึ่งหลังจากที่ประจำการณ์แล้ว กองกำลังของกองทัพบกไทยได้ถูกโจมตีในเหตุการณ์ระเบิดที่เมืองคาบาลาในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 2003 ซึ่งแรงระเบิดได้ฆ่า 2 ทหารไทย และบาดเจ็บ 5 คนอื่น ๆ ภารกิจของไทยในอิรักได้รับการพิจารณาที่ประสบความสำเร็จและถอนกองกำลังออกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2004 ภารกิจนี้ถือเป็นเหตุผลหลักที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสินใจที่จะกำหนดให้ประเทศไทยเป็นพันธมิตรนอกนาโตในปี ค.ศ. 2003
- ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ (ค.ศ. 2004 – ต่อเนื่อง)
เกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อสู้โดยเชื้อชาติมลายูและกลุ่มกบฏอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากยะลา ปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์เริ่มรุนแรงในปี ค.ศ. 2004 เมื่อการโจมตีของผู้ก่อการร้ายพลเรือนไทยเชื้อชาติก่อความไม่สงบเพิ่มขึ้น กองทัพไทยในการเปิดการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายโดยใช้อาวุธหนัก
- ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา (ค.ศ. 2008 – ต่อเนื่อง)
- ซูดาน (ค.ศ. 2010 – 2011)
- อัฟกานิสถาน (ค.ศ. 2012)
การเกณฑ์ทหาร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ว่าการป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคน[11] ชายไทยทุกคนมีหน้าที่รับราชการทหาร โดยชายสัญชาติไทยต้องไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินในปีที่อายุย่างเข้าสิบแปดปี และจักมีสภาพเป็นทหารกองเกิน[12] กองทัพจะเรียกเกณฑ์ทหารกองเกินชายซึ่งมีอายุย่างเข้า 21 ปี[13] โดยจะถูกเรียกมาตรวจเลือกหรือรับเข้ากองประจำการ (ส่วนทหารกองเกินที่เป็นนักศึกษาวิชาทหารจะได้รับการยกเว้นการเรียกเข้ามาตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ[14])
โดยระยะเวลาทำการฝึกอยู่ระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี ขึ้นอยู่กับระดับคุณวุฒิการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองคุณวุฒิ) การศึกษาวิชาทหาร และการสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ หากผู้รับการตรวจเลือกสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี จับได้สลากแดง (ใบแดง) ต้องรับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี หรือหากร้องขอสมัครใจโดยไม่จับสลากจะรับราชการทหารกองประจำการ 6 เดือน เป็นต้น ส่วนผู้ที่จับได้สลากดำ (ใบดำ) จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือถ้าทหารกองเกินสมัครเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารและสำเร็จการศึกษาวิชาทหารในชั้นปีที่ 1 มีสิทธิเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี 6 เดือน แต่ถ้าเป็นผู้ร้องขอเข้ารับราชในกองประจำการ ก็ให้รับราชการทหารกองประจำการเพียง 1 ปี ถ้าสำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2 มีสิทธิเข้ารับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี แต่ถ้าเป็นผู้ร้องขอเข้ารับราชในกองประจำการ ก็ให้รับราชการทหารกองประจำการเพียง 6 เดือน และถ้าสำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ขึ้นไปให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน โดยมิต้องเข้ารับราชการในกองประจำการ[15] และมีหน้าที่ถูกเรียกระดมพลเข้าฝึกวิชาทหารหรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม ในฐานะทหารกองหนุน[16]
ข้อวิพากษ์วิจารณ์
การแทรกแซงการเมืองไทยและความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 กลุ่มนิติราษฎร์จัดการเสวนาวิพากษ์บทบาทกองทัพต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย ผู้ร่วมเสวนาคนหนึ่ง ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร หัวหน้าคณะจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้าคณะ จะเห็นว่าเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 คณะใดที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้า คณะนั้นก็จะเป็นกบฏ[17]
กองทัพไทยรัฐประหารรัฐบาลรักษาการพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549[18] นอกจากนี้ ยังมีข้อสงสัยว่า ผู้บัญชาการกองทัพไทย อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551[19] และปรากฏเป็นข่าวว่า รัฐบาลและกองทัพไทยร่วมกันออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติสามครั้ง คือ เมื่อวันที่ 13-14 เมษายน พ.ศ. 2552[20], 10 เมษายน[21] และ 13-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[22] เป็นผลให้มีผู้ชุมนุมและประชาชน ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน[23] และยังมีผู้สูญหายอีกไม่ต่ำกว่า 50 คน[24] เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ผู้บัญชาการเหล่าทัพประกาศรัฐประหารรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะนิวซีแลนด์เฮรัลด์ วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558 ว่า "คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของประเทศไทยเพิ่มการฟ้องคดีอาญาความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องสงสัยว่า คณะทหารฯ จะอ้างว่าเป็นการสนองต่อชาวไทยส่วนใหญ่ซึ่งยังเคารพราชวงศ์ ทว่า ส่วนใหญ่มันชี้ไปยังพันธะซึ่งมาจากการสนับสนุนของพระมหากษัตริย์"[25]
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
การทุจริต
เอเชียเซนตินัล เขียนว่า กองทัพไทยทุจริตลึกที่สุดกองทัพหนึ่งในทวีปเอเชีย ในคริสต์ทศวรรษ 1980 กองทัพซื้อพาหะบุคคลหุ้มเกราะหลายร้อยคันจากจีนโดยแสงส่องผ่านรอยเชื่อมที่ยึดแผ่นเกราะไว้จนเห็นทหารที่อยู่ภายใน ภรรยาของนายพลระดับสูงคนหนึ่งขณะนั้นเป็นนายหน้าของผู้ค้าอาวุธจีน และกองทัพอากาศไทยเคยซื้อเครื่องบินเจ็ตจีนซึ่งเครื่องยนต์ต่ำกว่ามาตรฐานจนต้องลากไปยังแนวบินเพื่อทะยานขึ้นและลากกลับเมื่อลงจอด เพราะเครื่องยนต์มีอายุเป็นชั่วโมง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วย ลงนามซื้อเรือเหาะมูลค่า 350 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นสถานีตรวจการบนท้องฟ้าจากบริษัทอเมริกัน ชื่อ บริษัทแอเรียลอินเตอร์เนชันแนล ซึ่งดูเหมือนว่าลมรั่วออกจากรอยตะเข็บ ทีแรกใช้เงิน 2.8 พันล้านบาทเพื่อสูบลม และ 280,000 บาทต่อเดือนเพื่อรักษาลมไว้ ปัจจุบัน เรือเหาะเหล่านี้ยังอยู่ในอู่ เมื่อ พ.ศ. 2553 กองทัพซื้อเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิดมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเจ้าของบริษัทผู้ขายถูกจำคุกในประเทศอังกฤษ แม้สถานทูตสหรัฐเตือนว่าเป็น "ของเด็กเล่น" ไม่มีการปลดหรือฟ้องคดีอาญาต่อนายทหารที่เกี่ยวข้อง[26]
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ เจสัน เซป และแอนดรูว์ มาร์แชล ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับชุดเรื่องผู้ลี้ภัยโรฮีนจา ซึ่งกล่าวถึงกำลังพลกองทัพเรือไทยลักลอบนำเข้าผู้ลี้ภัยเพื่อกำไร[26] ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 กองทัพได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ จำนวนมาก โดยมีการตอบแทนในรูปแบบเบี้ยประชุม ค่าตอบแทนกรรมการต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานทหารชั้นผู้น้อยเพื่อทำงานบ้านในบ้านผู้บังคับบัญชา
กองทัพไทยมีนายพลกว่า 1,400 นาย ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกา 400 นาย แต่กองทัพสหรัฐอเมริกาใหญ่เป็น 3 เท่า[26]
การใช้เส้นสาย
วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2559 มีข่าวบรรจุบุตรของพลเอก ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นนายทหารยศว่าที่ร้อยตรี โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ลงนาม พลเอกปรีชาให้สัมภาษณ์ว่า หลายคนในกองทัพก็ทำแบบนี้[27]
การละเมิดสิทธิมนุษยชน
รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลในปี 2562 อ้างอดีตทหารเกณฑ์ชาวไทย ระบุว่า ในกองทัพไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทหารเกณฑ์หลายกรณีเป็นเรื่องปกติ เช่น การธำรงวินัยด้วยการทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธ การล่วงละเมิดทางเพศ การลงโทษที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรี รวมทั้งการข่มขืนกระทำชำเราทหารที่เป็นเกย์[28]
ในปี 2565 เกิดกรณีนักศึกษาวิชาทหารที่เข้ารับการฝึกหนักจนต้องเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลกว่า 20 คน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องฟอกไต 8 คน[29]
การคว่ำบาตรธุรกิจเอกชน
ในเดือนพฤษภาคม 2565 เกิดกระแส #แบนลาซาด้า โดยทั้งสามเหล่าทัพต่างสั่งห้ามกำลังพลใช้บริการจากลาซาด้าหลังมีโฆษณาที่เข้าข่ายก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์[30] อย่างไรก็ตาม มีคำสั่งยกเลิกการคว่ำบาตรในเดือนต่อมา[31]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, “การปฏิรูปทางการทหาร: การสร้างทหารอาชีพและสถาบันทหารและบทบาทของทหารที่มีต่อความมั่นคงของชาติ”, Crma. J., ปี 8, ฉบับที่ 1, น. 1–16, พ.ค. 2010. (tci-thaijo.org)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๙, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ "ตอนที่ 10 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวสายพระโลหิตบูรพกษัตริย์นักรบ องค์จอมทัพไทย: สวพส". www.hrdi.or.th.
- ↑ "อำนาจหน้าที่". กองบัญชาการกองทัพไทย. 2018-01-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-11. สืบค้นเมื่อ 2022-04-29.
- ↑ matichon (2022-03-01). "นายกฯสั่งกองทัพขยาย รพ.สนามทั่ว ปท. จัดกำลังพล 300 นาย หมุนเวียนช่วยสายด่วน 1330". มติชนออนไลน์.
- ↑ หยู (2022-04-22). "คำสั่ง 'กองทัพไทย' แต่งตั้ง '3 บิ๊กทหาร' คุม 2 สนามบิน".
- ↑ "18 มกราคม วันกองทัพไทย". mcot.net. 2019-06-24.
- ↑ 8.0 8.1 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, “การปฏิรูปทางการทหาร: การสร้างทหารอาชีพและสถาบันทหารและบทบาทของทหารที่มีต่อความมั่นคงของชาติ”, Crma. J., ปี 8, ฉบับที่ 1, น. 1–16, พ.ค. 2010. (tci-thaijo.org)
- ↑ Countries Ranked by Military Strength (2014). สืบค้น 3-9-2557.
- ↑ Countries Ranked by Military Strength (2016)
- ↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก ราชกิจจานุเบกษา 24 สิงหาคม 2550 หน้า 20.
- ↑ มาตรา 4 (2), มาตรา 16 และ 18 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
- ↑ มาตรา 22 ถึง 27 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
- ↑ มาตรา 14 (3) แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
- ↑ ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการ พ.ศ. 2497
- ↑ มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
- ↑ "รายงานเสวนา: กองทัพ การเมือง ประชาธิปไตย". ประชาไท. 6 ก.พ. 2554. สืบค้นเมื่อ 9 ต.ค. 2557.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ Thai PM deposed in military coup จากเว็บไซต์ บีบีซีนิวส์, 20 กันยายน พ.ศ. 2549
- ↑ Thai army to 'help voters love' the government จากเว็บไซต์ เดอะเทเลกราฟ, 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551
- ↑ Army pressure ends Thai protest จากเว็บไซต์ บีบีซีนิวส์, 14 เมษายน พ.ศ. 2552
- ↑ killed-thai-red-shirt-protesters/story-e6frg6so-1225852976016 Bullets killed Thai Red-Shirt protesters จากเว็บไซต์ ดิออสเตรเลียน, 13 เมษายน พ.ศ. 2553
- ↑ Deadly clashes as police besiege Bangkok protesters จากเว็บไซต์ บีบีซีนิวส์, 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
- ↑ รายงานเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เก็บถาวร 2010-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
- ↑ ญาติแจ้งเสื้อแดงหายช่วงการชุมนุม25ราย จากเว็บไซต์ เดลินิวส์ออนไลน์, 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
- ↑ Editorial: Thai refugee right to push for democracy
- ↑ 26.0 26.1 26.2 Thailand’s Crooked Army
- ↑ "พล.อ.ปรีชา" รับตั้งลูกตัวเองเป็นทหาร อ้างเรียนจบต้องมีงานทำ ไม่ผิดปกติ
- ↑ ""เราก็แค่ของเล่นของพวกเขา" เปิดรายงานการล่วงละเมิดทหารเกณฑ์ในไทย". BBC ไทย. 23 March 2020. สืบค้นเมื่อ 27 March 2021.
- ↑ "เชื่อต้นเหตุทำ 8 'รด.' หวิด 'ไตวาย' เพราะถูกสั่งลุกนั่ง 200 ครั้ง ประจำ". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 6 December 2022.
- ↑ "ใครตอบโต้ลาซาด้าแล้วบ้าง หลังการตลาด "ก้าวล่วงสถาบันฯ"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 11 July 2022.
- ↑ "กองทัพบก ยกเลิกแบน "ลาซาด้า" ส่งในค่ายได้ตามเดิม". pptvhd36.com. สืบค้นเมื่อ 11 July 2022.