ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ
กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2355[1]
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
สิ้นพระชนม์18 พฤษภาคม พ.ศ. 2382 (26 ปี)
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
หม่อม7 คน
พระบุตร
ราชสกุลศิริวงศ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ในรัชกาลที่ 3
ศาสนาเถรวาท
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์[2] (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2355 – 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2382) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ ในรัชกาลที่ 3 เป็นพระราชชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เป็นพระราชอัยกาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชปัยยกาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นต้นราชสกุลศิริวงศ์

พระประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าศิริวงศ์ เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 6 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ 1 ในเจ้าจอมมารดาทรัพย์ ในรัชกาลที่ 3 พระสนมเอก ธิดาพระอักษรสมบัติ (ทับ) กับผ่อง ณ พัทลุง ประสูติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2355 มีพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาหนึ่งพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร (เดิม หม่อมเจ้าละม่อม)

พระโอรสและพระธิดา

[แก้]

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีพระโอรสพระธิดารวม 9 พระองค์ คือ[3][4][5][6]

  1. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามงคลเลิศ (เดิม หม่อมเจ้ามงคลเลิศ; 24 มิถุนายน พ.ศ. 2377 – 11 สิงหาคม พ.ศ. 2404) ประสูติแต่หม่อมแพ
  2. สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (เดิม หม่อมเจ้ารำเพย; 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 – 9 กันยายน พ.ศ. 2404) ประสูติแต่หม่อมน้อย ศิริวงศ์ ณ อยุธยา
  3. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมชื่น (เดิม หม่อมเจ้าชมชื่น; พ.ศ. 2377 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2436) ประสูติแต่หม่อมงิ้ว
  4. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพื้นพงศ์ประยุรวงศ์สนิท (เดิม หม่อมเจ้าพื้นพงศ์; พ.ศ. 2378 – 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2435) ประสูติแต่หม่อมจาด
  5. หม่อมเจ้าประสงค์สรร (พ.ศ. 2380 – 30 สิงหาคม พ.ศ. 2456) ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์แสง
  6. หม่อมเจ้าสารพัดเพ็ชร์ (สิ้นพระชนม์ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2443) ประสูติแต่หม่อมน้อย ชุมสาย ณ อยุธยา
  7. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย (เดิม หม่อมเจ้าแฉ่; 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2381 – 22 มิถุนายน พ.ศ. 2457) ประสูติแต่หม่อมกิม
  8. พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ (เดิม หม่อมเจ้าขาว และหม่อมเจ้าฉายฉันเฉิด; สิ้นพระชนม์ 25 เมษายน พ.ศ. 2439) ประสูติแต่หม่อมเชย
  9. พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประเสริฐศักดิ์ (เดิม หม่อมเจ้าชายดำ; สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2424) ประสูติแต่หม่อมน้อย ชุมสาย ณ อยุธยา

สิ้นพระชนม์

[แก้]

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันเสาร์เดือน 7 ขึ้น 5 ค่ำ ปีกุน[7] ตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2382 สิริพระชันษา 26 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาลัยเป็นอันมาก ด้วยเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในขณะนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการปลูกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวงเป็นการใหญ่ แล้วให้อัญเชิญพระอัฐิบรรจุในพระโกศทองคำ มาประดิษฐานไว้ ณ ตำหนักกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำพระโกศทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดีเปลี่ยนถวายใหม่[8] และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ[9] เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระราชอัยกา

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เป็นต้นราชสกุลศิริวงศ์

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • หม่อมเจ้าศิริวงศ์ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2355 - สมัยรัชกาลที่ 3)
  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ (สมัยรัชกาลที่ 3 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2381)
  • พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (1 สิงหาคม พ.ศ. 2381 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2382)
  • พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (ในสมัยรัชกาลที่ 4)
  • สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (สถาปนาในสมัยรัชกาลที่ 5)

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-222-648-2
  2. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ 21, รัตนชัยการพิมพ์, 2552. 296 หน้า. หน้า 26. ISBN 978-974-417-594-6
  3. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  4. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, 'พระสัมพันธวงศ์เธอ' เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2421, ปีที่ 47, ประจำวันอังคารที่ 13 มีนาคม 2544
  5. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, สถาปนาคำนำพระนาม เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2448, ปีที่ 47, ประจำวันอังคารที่ 18 กันยายน 2544
  6. จุลลดา ภักดีภูมินทร์, เล่าเรื่องมอญ เก็บถาวร 2011-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สกุลไทย, ฉบับที่ 2486, ปีที่ 48, ประจำวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2545
  7. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ "วังหลวง". กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2549. 304 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-941-205-2
  8. เทศนากัณฑ์ที่ 1 เรื่องพระราชสันตติวงศ์
  9. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 38. ISBN 978-974-417-594-6