สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย)
สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | ท่านเจ้าประคุณ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 6 สิงหาคม พ.ศ. 2380 (86 ปี 7 วัน ปี) |
มรณภาพ | 14 สิงหาคม พ.ศ. 2466 |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 4 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร |
พรรษา | ย่าง 66 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ |
สมเด็จพระวันรัต นามเดิม ฑิต ฉายา อุทโย เป็นสมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และอดีตเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้
ประวัติ
[แก้]ชาติดำเนิด
[แก้]สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่าก๋ง เป็นชาวบ้านรั้วใหญ่ บางปอิน แขวงกรุงเก่า (อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน) เกิดสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2380 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา โยมมารดาชื่อสิงห์ โยมมารดาชื่ออิ่ม[1]
อุปสมบท
[แก้]เมื่ออายุย่าง 14 ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดกำแพง แขวงปางปอิน แล้วย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสามพระยา อายุย่าง 21 ปี จึงอุปสมบท ณ วัดสามพระยา เมื่อปีมะเส็ง ปี พ.ศ. 2400 (บางตำราว่า พ.ศ. 2401) โดยพระนิโรธรังสี (เรือง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดแฟงและพระสมุห์พูนเป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์[1] ได้ฉายาว่า "อุทโย"
การศึกษา
[แก้]เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในหลายสำนัก ได้แก่ สำนักอาจารย์ทอง ป.ธ. 7 ที่วัดบวรนิเวศวิหาร สำนักพระมหาแดง สีลวฑฺฒโน ป.ธ. 8 ที่วัดสุทัศนเทพวาราม สำนักพระโหราธิบดี (ชุม) ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระโหราธิบดีได้ตั้งชื่อใหม่ให้ท่านว่าฑิต[2]
ในปี พ.ศ. 2409 การสอบบาลีสนามหลวงจัดขึ้น ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านเข้าสอบแปลได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ในปีต่อ ๆ มาสอบตก จนกระทั่ง พ.ศ. 2419 ได้เข้าสอบอีกซึ่งจัดขึ้น ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีกประโยคหนึ่ง รวมเป็นเปรียญธรรม 4 ประโยค[2]
เจ้าอาวาส
[แก้]วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2425 (นับตามแบบเดิมตรงกับ พ.ศ. 2424 ) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีสมโพธิ ได้ทรงโปรดให้อาราธนาไปครองวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร จนกระทั่งวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2431 จึงโปรดให้อาราธนามาครองวัดมหาธาตุ และอยู่วัดนี้จนถึงแก่มรณภาพ
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2424 เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสมโพธิ[2]
- พ.ศ. 2430 เป็นพระราชาคณะที่ พระเทพโมฬี ตรีปิฎกธรา มหาธรรมกถึกคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
- พ.ศ. 2435 เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมเจดีย์ กระวีวงษ์นายก ตรีปิฎกบัณฑิตย มหาคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- พ.ศ. 2438 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายเหนือที่ พระพิมลธรรม์ มหันตคุณ วิบุลปรีชาญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูษิต อุดรทิศคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
- พ.ศ. 2443 เป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ที่ สมเด็จพระวันรัต ปริยัติพิพัฒพงษ์ วิสุทธิสงฆ์ปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีร์ญาณสุนทร มหาทักษิณคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[6]
ศาสนกิจ
[แก้]เมื่อแรกมาปกครองวัดมหาธาตุฯ วัดอยู่ในช่วงทรุดโทรมอย่างหนัก ท่านได้พัฒนาวัดหลายประการจนกลับมาเป็นพระอารามที่รุ่งเรืองสง่างาม และได้เป็นแม่กองตรวจชำระพระสุตตันตปิฎกในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112[7]
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ได้ทูลให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จัดพระธรรมยุตไปอยู่ แต่กรมพระยาวชิรญาณโรรสแสดงความขัดข้องต่าง ๆ นานา สมเด็จพระวันรัตจึงรับจัดแบ่งพระมหานิกายจากวัดมหาธาตุฯ ไปอยู่แทน ทำให้กรมพระยาวชิรญาณวโรรสกริ้วสมเด็จพระวันรัตตั้งแต่นั้นมา เมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระยาวชิรญาณวโรรสจึงไม่เลือกสมเด็จพระวันรัตให้ร่วมถวายน้ำในพิธีโดยอ้างว่า "สมเด็จพระวันรัตเป็นผู้ปฏิบัติไม่งาม ไม่เป็นที่น่าเคารพ"[8]
เมื่อเข้าวัยชรา ท่านได้มอบหมายให้พระเทพเมธี (เฮง เขมจารี) ปกครองวัดแทน ส่วนท่านยังคงรักษาศีลาจารัตรและมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เพราะเวลาว่างท่านจะท่องจำปาติโมกข์ มูลกัจจายน์ และมหาสติปัฏฐานสูตร อยู่เสมอ[9]
มรณภาพ
[แก้]สมเด็จพระวันรัตมรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 13 (บางตำราว่าวันอังคารที่ 14[1]) สิงหาคม พ.ศ. 2466 เวลา 07:45 น. สิริอายุได้ 86 ปี 7 วัน
เวลา 17.00 น. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จมาสรงน้ำศพ ได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสอง ตั้งบนชั้น 2 ชั้น มีฉัตรแวดล้อม 7 คัน และโปรดให้มีพระสวดพระอภิธรรมและประโคมประจำศพมีกำหนด 15 วัน[10] ได้รับพระราชทานเพลิงศพในปี พ.ศ. 2469 ณ เมรุปูน วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ธนิต อยู่โพธิ์, ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และสมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์สมเด็จพระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์, กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516, หน้า 39-53
- ↑ 2.0 2.1 2.2 สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 129-132. ISBN 974-417-530-3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ, เล่ม 4 ตอน 41, 28 มกราคม 2430, หน้า 326
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 9 ตอน 52, 26 มีนาคม 2435, หน้า 462
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 11 ตอน 39, 23 ธันวาคม 2437, หน้า 311
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 17, 10 มีนาคม 2443, หน้า 727-8
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การสาศนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, หน้า 410
- ↑ ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 400 หน้า. หน้า 96. ISBN 978-974-02-1005-4
- ↑ พระไพศาล วิสาโล. ลำธาร ริมลานธรรม 2. กรุงเทพฯ : ชมรมกัลยาณธรรม, 2555. 176 หน้า. หน้า 85-89.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวมรณภาพ, เล่ม 40, ตอน ง, 19 สิงหาคม 2466, หน้า 1587-8
- ↑ บัณฑิตานุสรณ์, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเดจพระวันรัต (ฑิต) ณ เมรุปูน วัดสระเกศ, 2469, โรงพิมพ์ศรีหงส์
ก่อนหน้า | สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) | เจ้าคณะใหญ่หนใต้ (ที่ สมเด็จพระวันรัต) (พ.ศ. 2443 — พ.ศ. 2466) |
สมเด็จพระวันรัต (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) | ||
หม่อมเจ้าพระพิมลธรรม์ (ทัด) | เจ้าคณะรองฝ่ายเหนือ (ที่ พระพิมลธรรม) (พ.ศ. 2438 — พ.ศ. 2443) |
พระพิมลธรรม (ยัง เขมาภิรโต) |